ศักดิ์สยาม จากอาจารย์ราชภัฏฯ สู่เจ้าของ ธุรกิจหมื่นล้าน

ศักดิ์สยาม จากอาจารย์ราชภัฏฯ สู่เจ้าของ ธุรกิจหมื่นล้าน

27 ธ.ค. 2020
ศักดิ์สยาม จากอาจารย์ราชภัฏฯ สู่เจ้าของ ธุรกิจหมื่นล้าน /โดย ลงทุนแมน
คนไทยหลายคนอาจมีความเชื่อที่ว่า
หากเราอยากปั้นธุรกิจให้สำเร็จ
ทำเลที่น่าจะมีโอกาสให้เรามากที่สุด ก็คือ กรุงเทพมหานคร
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ศักดิ์สยาม เป็นอีกบริษัท
ที่บอกกับเราว่า มันไม่ได้แบบนั้นเสมอไป
ศักดิ์สยาม ทำธุรกิจลีสซิ่ง ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดเล็กๆในภาคเหนือ
ก่อนที่จะขยายธุรกิจจนมีมากกว่า 500 สาขา ทั่วประเทศไทย
แม้ว่าหลายคน อาจจะยังไม่คุ้นชื่อของบริษัทแห่งนี้
แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน ศักดิ์สยาม มีมูลค่าบริษัท 1.7 หมื่นล้านบาท
ใหญ่กว่าธุรกิจทีวีของช่อง 3 เสียอีก
แล้วศักดิ์สยาม เริ่มต้นมาอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ก่อตั้งขึ้นโดย ผศ.ดร. พูนศักดิ์ และ อ.จินตนา บุญสาลี ซึ่งทั้งสองท่านเป็นคนอุตรดิตถ์ ที่มีอาชีพเดิม คือเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์มาก่อน
โดยก่อนจะมาเป็นธุรกิจลีสซิ่ง เส้นทางธุรกิจของอาจารย์ทั้งสองเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2529 หรือ 34 ปีก่อน
สมัยนั้น บริษัทโกลด์เวลล์ ซึ่งทำธุรกิจขายตรง ได้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในจังหวัดอุตรดิตถ์ และก็ได้มองหาตัวแทนในการติดตามรับชำระเงินค่างวดจากลูกค้า
บริษัทโกลด์เวลล์ได้เข้ามาพูดคุย และทำความรู้จักกับ ผศ.ดร. พูนศักดิ์ และ อ.จินตนา
จนในที่สุด อาจารย์ทั้งสองท่าน ก็ได้ตอบรับงานติดตามลูกหนี้ให้กับบริษัทโกลด์เวลล์
ในช่วงแรก กิจการติดตามหนี้มีอัตราการเติบโตที่ดี จนอาจารย์ทั้งสองได้ตัดสินใจขยายธุรกิจ และสร้างตึกเป็นของตัวเองชื่อว่า “สำนักงานอุตรดิตถ์”
แต่ต่อมา ธุรกิจขายตรงได้เริ่มซบเซาลง และตอนนั้นที่บริษัทมีพนักงานอยู่ราว 50 คน
อาจารย์ทั้งสองท่านจึงต้องมองหาธุรกิจใหม่ และได้ตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโทในด้านการตลาด และการบริหารจัดการ เพื่อหวังจะมาพลิกผันธุรกิจให้มีรายได้ เพื่อหล่อเลี้ยงพนักงานในบริษัทให้ไม่ต้องตกงาน
จนในที่สุด อาจารย์ทั้งสอง ก็ได้ผันธุรกิจจากการติดตามหนี้มาเป็นธุรกิจลีสซิ่ง หรือธุรกิจให้สินเชื่อกับบุคคลรายย่อย
และเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น บริษัท ศักดิ์สยามพาณิชลิสซิ่ง และนำพาให้บริษัทเติบโตเรื่อยมา
จนในปีนี้ ผศ.ดร. พูนศักดิ์ และ อ.จินตนา บุญสาลี ก็ได้นำบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้ชื่อบริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK
ปัจจุบัน ธุรกิจของศักดิ์สยามได้ถูกส่งต่อจากอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน
มาสู่ลูกชายคนโต คือ คุณศิวพงศ์ บุญสาลี ซึ่งขึ้นแท่นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
โดยภาพรวมธุรกิจลีสซิ่ง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน
2. สินเชื่อส่วนบุคคล
3. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ
4. สินเชื่อเช่าซื้อ หรือสินเชื่อรถแลกเงิน
แล้วที่ผ่านมา ผลประกอบการของศักดิ์สยาม เป็นอย่างไร?
ปี 2560 รายได้ 929 ล้านบาท กำไร 290 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,257 ล้านบาท กำไร 398 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,605 ล้านบาท กำไร 346 ล้านบาท
โดยในปี 2562 ศักดิ์สยามมีการบันทึกผลขาดทุนจากการปิดสัญญา เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการตั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
หากไม่รวมรายการดังกล่าว ศักดิ์สยาม จะมีกำไร 476 ล้านบาท
จากตรงนี้ เราสามารถคิดเป็นรายได้เติบโตเฉลี่ย 31%
กำไรเติบโตเฉลี่ย 28%
โดย เราสามารถแบ่งอาชีพของลูกค้าศักดิ์สยาม ออกเป็น
เกษตรกร 55.3%
ค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว 20.8%
ลูกจ้างรายวัน 9.9%
ลูกจ้างประจำ และข้าราชการ 13.8%
และอื่นๆ อีก 0.2%
ปัจจุบัน ศักดิ์สยาม ทำธุรกิจอยู่ใน 38 จังหวัด
มี 519 สาขา และมีมูลค่าบริษัท 1.7 หมื่นล้านบาท
และในปีนี้ ศักดิ์สยาม ก็มีความท้าทายจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยการให้สินเชื่อ
ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทมีแนวโน้มลดลงจาก 26.5% ในปี 2560 เหลือ 21.9% ในไตรมาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท ก็ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือการออกตราสารทางการเงินได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น
ถึงตรงนี้ ก็น่าติดตามว่า
บริษัทที่มีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดอุตรดิตถ์แห่งนี้
จะเติบโตได้ดีแค่ไหนในอนาคต
แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้ทันทีก็คือ
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราก็สามารถค้นพบช่องทางการทำธุรกิจให้เราเติบโตได้เสมอ
อย่างศักดิ์สยาม ที่ได้เริ่มธุรกิจลีสซิ่งจากจังหวัดอุตรดิตถ์
เพราะต้องการจุนเจือพนักงาน 50 ชีวิต ให้มีงานทำต่อไปได้
จนวันนี้ แนวคิดการผันธุรกิจเพื่อเลี้ยงพนักงานในบริษัท ได้กลายมาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่า 1.7 หมื่นล้าน ไปแล้ว นั่นเอง..
หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาให้ซื้อหุ้นนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.saksiam.com/th/about
-หนังสือชี้ชวนเสนอขายหลักทรัพย์ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
-งบการเงินประจำปี 2562 บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบาย และวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการงวดเก้าเดือน ปี 2563 บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
-Settrade
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.