รู้จัก "ทฤษฎีคนโง่กว่า" ในการลงทุน ที่เราควรระวัง

รู้จัก "ทฤษฎีคนโง่กว่า" ในการลงทุน ที่เราควรระวัง

1 ก.พ. 2021
รู้จัก "ทฤษฎีคนโง่กว่า" ในการลงทุน ที่เราควรระวัง /โดย ลงทุนแมน
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นกันในโลกของการลงทุน
คือราคา หรือมูลค่าของสินทรัพย์นั้นๆ
เพิ่มสูงขึ้น จนมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงของตัวมันเองไปมาก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ว่าราคาสินทรัพย์นั้นจะปรับตัวสูงขึ้นมากแค่ไหน
ก็มักจะมีคนอยากเข้ามาซื้อสินทรัพย์นั้นต่อในราคาที่สูงขึ้นไปอีก
เพราะหวังผลว่า ในอนาคต ราคาสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นอีก แล้วตัวเองก็จะขายทำกำไร
ทฤษฎีที่ว่านี้ มีชื่อว่า Greater fool theory
หรือที่แปลตรงๆ ว่า "ทฤษฎีคนโง่กว่า”
แล้วทฤษฎีนี้ ถูกอธิบายไว้ว่าอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าให้ยึดตามหลัก Value Investing การจะทำกำไรจากการลงทุน คือต้องซื้อสินทรัพย์นั้นๆ ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมัน
เพราะสุดท้ายแล้วในระยะยาว มูลค่าของสินทรัพย์นั้นจะปรับเข้าสู่มูลค่าที่แท้จริงของมันเอง
แล้วเราก็จะทำกำไรได้ในที่สุด
ส่วนคนที่ยอมซื้อในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง
ถ้าว่ากันด้วย Greater fool theory แล้วนั้น จะถูกเรียกว่า Fool หรือ “คนโง่”
และคนที่ยอมซื้อสินทรัพย์นั้นต่อในราคาที่สูงกว่า ราคาที่คนโง่ซื้อมาอีกที ก็จะถูกเรียกว่า Greater fool หรือ “คนโง่กว่า”
นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า Greater fool theory หรือ "ทฤษฎีคนโง่กว่า” นั่นเอง
ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์สุดคลาสสิกที่อธิบายปรากฏการณ์ของทฤษฎีนี้ได้ดี
ก็คือ เหตุการณ์ “ฟองสบู่ดอกทิวลิป”
ความคลั่งทิวลิป เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในเนเธอร์แลนด์ หลังจากพ่อค้าชาวดัตช์ นำเข้าดอกทิวลิปมาจากจักรวรรดิออตโตมัน
ด้วยสีสันที่สดใส และสวยงามแปลกตา
ทำให้ดอกทิวลิปสร้างความหลงใหลให้กับใครก็ตามที่ได้พบเห็น
ผู้คนจำนวนมากทั้งคนรวยและคนทั่วไปต้องการดอกทิวลิปมาครอบครอง
จนพูดได้ว่า ไม่ว่าใครจะเอาทิวลิปมาขายต่อราคาแพงแค่ไหน ก็จะมีคนยอมซื้อต่อเสมอ
ถึงขนาดที่ มีนักลงทุนบางคนเอาที่ดินเกือบ 49,000 ตารางเมตร มาแลกกับหัวทิวลิป เพียง 1-2 หัว ทั้งๆ ที่มูลค่าที่แท้จริงของทิวลิป อาจจะไม่ได้มากมายอะไรขนาดนั้นเลย..
สุดท้ายแล้วฟองสบู่ก้อนโต ก็แตกออก..
และมูลค่าของทิวลิป ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนกลับสู่มูลค่าที่แท้จริงของมันในที่สุด
นอกจากเรื่องของความคลั่งทิวลิปแล้ว
ตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นไปตามทฤษฎีนี้ ก็มีให้เห็นกันบ่อยครั้งในตลาดหุ้นทั่วโลก
บ่อยครั้งที่ราคาหุ้นบางตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทั้งๆ ที่พื้นฐานหรือมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทไม่น่าจะสูงถึงขนาดนั้น
แต่เมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ก็มักจะมีคนเข้ามาซื้อเพื่อเก็งกำไร แล้วขายต่อในราคาที่สูงขึ้น
แล้วก็มักจะมีคนที่มาซื้อหุ้นต่อในราคาที่แพงกว่า เพื่อเก็งกำไรต่อไปเรื่อยๆ
ราคาที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่สัมพันธ์กับมูลค่าที่แท้จริงนั้น
ตามทฤษฎีนี้ จะถูกเรียกว่า “Greater fool price”
หรือที่แปลแบบสุภาพว่า “ราคาที่ไม่สมเหตุสมผลมากขึ้น”
และมันก็มักจะมีคนที่ยอมจ่ายราคาที่ไม่สมเหตุสมผลแบบนี้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ซึ่งถ้าว่ากันตามทฤษฎีนี้ คนที่ยอมจ่ายราคาสูงขึ้นเหล่านั้น ก็คือ “Greater fool” หรือ คนที่โง่กว่า
สุดท้ายแล้ว คนที่มีโอกาสจะต้องเจ็บตัว หรือ ขาดทุนจากเรื่องนี้
ก็คือคนที่ยอมจ่ายในราคาแพงขึ้น
เพื่อหวังเก็งกำไรจากการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของราคาหุ้นตัวนั้น
อีกเรื่องที่สะท้อน ทฤษฎีคนโง่กว่า ได้อย่างชัดเจน
ก็คือกรณีของ การฉ้อฉลแบบพอนซี หรือ Ponzi scheme
หรือที่เราเรียกกันว่า “แชร์ลูกโซ่” ในทุกวันนี้..
เรื่องนี้ย้อนกลับไปในปี 1920
นายชาร์ลส์ พอนซี ชายชาวอิตาลี ได้ทำการก่อตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจ Arbitrage
ซึ่ง Arbitrage อธิบายง่ายๆ คือ การซื้อของราคาถูกมา
แล้วขายในราคาแพงอีกที่หนึ่ง โดยปราศจากต้นทุนและความเสี่ยง
ของที่ พอนซี ขาย ก็คือ คูปอง
ที่สามารถนำไปแลกเป็นแสตมป์ไปรษณีย์ได้
ซึ่งกลยุทธ์คือ เขาจะรับประกันผลตอบแทนให้คนที่มาซื้อคูปอง ถึง 50% ภายใน 45 วัน และ 100% ภายใน 3 เดือน
ผลตอบแทนที่หอมหวานขนาดนี้
จึงทำให้นักลงทุนจำนวนมากพากันมาลงทุนกับนาย พอนซี
คนที่เข้ามาลงทุนในช่วงแรกก็ได้ผลตอบแทนตามที่นายพอนซีพูดถึงจริง
ทำให้มีการพูดกันปากต่อปากจนมีสมาชิกใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ภายใน 1 เดือนแรก มีเงินมาลงทุนกับเขากว่า 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนก็เริ่มตั้งข้อสังเกตกันว่า
นายพอนซี สามารถหาเงินมาจ่ายผลตอบแทนสูงๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ได้อย่างไร ?
ทำให้บางคนที่เริ่มไม่มั่นใจ และรู้สึกว่าเงินทุนของพวกเขาจะไม่ปลอดภัย ก็เริ่มถอนเงินลงทุนคืน และเริ่มมีการตรวจสอบข้อมูลของ บริษัท ชาร์ลส์ พอนซี กันมากขึ้น
สุดท้ายก็พบว่า เงินที่เขาเอามาจ่ายนั้นไม่ได้เกิดจากการลงทุนที่แท้จริง
แต่กลับเกิดจากการนำเงินของนักลงทุนหน้าใหม่ มาจ่ายให้กับผู้ที่เข้ามาลงทุนก่อนหน้า
จุดจบของเรื่องคือ แชร์ลูกโซ่วงนี้ล้มลงในเวลาไม่ถึงปี
ขณะที่นักลงทุนที่ได้ความเสียหาย ได้รับเงินคืนเพียง 30% ของเงินต้น
แม้ว่าเรื่องราวการฉ้อโกงของนายชาร์ลส์ พอนซี จะเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 100 ปี
แต่ทุกวันนี้ เราก็ยังคงเห็นเรื่องราวแบบนี้อยู่
ซึ่งในกรณีของประเทศไทย หลายคนก็น่าจะรู้จักแชร์ลูกโซ่
ที่สร้างความเสียหายให้กับคนที่เข้าไปเล่นมาหลายครั้ง
ดังนั้น วันนี้ถ้าเราเลือกที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม
ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า เรามีความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งนั้นเพียงพอไหม
เพื่อที่จะไม่ทำให้เราได้รับความเสียหายเหมือนกับคนจำนวนมากในเหตุการณ์ ทิวลิป และพอนซี ที่ในบทความนี้ ได้พูดถึง
เพราะถ้าเรามัวแต่คิดว่าจะมีคนโง่กว่า มาซื้อสินทรัพย์ต่อจากเรา
เราอาจจะเป็นคนโง่คนสุดท้ายในวงจรนั้น ก็เป็นได้..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.