รู้จัก RBF ธุรกิจผลิตกลิ่นสี หมื่นล้าน

รู้จัก RBF ธุรกิจผลิตกลิ่นสี หมื่นล้าน

22 ก.พ. 2021
รู้จัก RBF ธุรกิจผลิตกลิ่นสี หมื่นล้าน /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า เจ้าของแบรนด์อาหาร และเครื่องดื่มหลายบริษัท
ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นกลิ่น และสีผสมอาหารเอง
แต่จ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญคิดค้นให้

หากเราพูดถึงบริษัทผู้ผลิตวัตถุแต่งกลิ่น และสีผสมอาหาร
หนึ่งในนั้นก็จะมีชื่อของบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF
ที่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน RBF ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่นักลงทุนหลายคนกำลังให้ความสนใจ
ที่บอกแบบนี้ก็เพราะว่า RBF มีมูลค่าบริษัท 2.7 หมื่นล้านบาท
เพิ่มขึ้นมาราว 50% ตั้งแต่ต้นปี
หรือเพิ่มขึ้นมามากถึง 318% เมื่อเทียบกับมูลค่าตอน IPO
แล้วเจ้าของธุรกิจผลิตกลิ่น และสีมีลูกค้าเป็นใคร
แล้วยังทำธุรกิจอะไรอีกบ้าง?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
RBF ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2534 หรือราว 30 ปีก่อน
เริ่มต้นทำธุรกิจรับจ้างผลิต หรือ OEM โดยมีผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่
วัตถุแต่งกลิ่น, สีผสมอาหาร, เกล็ดขนมปัง, ซอส และน้ำจิ้ม
ซึ่งทางบริษัทก็มีกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
และเมื่อเป็นผู้รับจ้างผลิต แน่นอนว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะไม่ใช่คนทั่วไป
แต่จะเป็นผู้ที่ทำธุรกิจอยู่ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ทีนี้ เรามาดูกันว่ากลุ่มลูกค้าของ RBF มีใครบ้าง?
- ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจวัตถุแต่งกลิ่น และสีผสมอาหาร
เช่น สยามไวเนอรี่ ธุรกิจไวน์ของตระกูลอยู่วิทยา, ซีพีเมจิ, ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เจ้าของมาม่า, โทฟุซัง และไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ ผู้รับจ้างผลิตถุงยางอนามัย
- ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจแป้งและซอส
เช่น เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ดส์ กรุ๊ป, โลตัส และซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ
- ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อบแห้ง
เช่น วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร เจ้าของยำยำ
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของ RBF จะเป็นผู้ที่ทำธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม
แต่จริงๆ แล้ว RBF ก็ยังมีลูกค้าในหมวดอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก เช่น
บริษัทผู้ผลิตน้ำหอม และเครื่องสำอาง
บริษัทผู้ผลิตสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำยาซักผ้า, สบู่, แชมพู, น้ำยาบ้วนปาก
รวมไปถึงบริษัทค้าปลีก ที่ทำผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง
นอกจากธุรกิจที่ว่ามานี้
RBF ก็ยังได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรม 2 แห่ง คือ
โรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่ และโรงแรมโนโวเทล ชุมพร รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟ
ทีนี้เรามาดูกันว่าที่ผ่านมา
ผลประกอบการของ RBF เป็นอย่างไร?
ปี 2560 รายได้ 2,919 ล้านบาท กำไร 314 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 2,750 ล้านบาท กำไร 324 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,882 ล้านบาท กำไร 353 ล้านบาท
จากผลประกอบการที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า RBF สามารถทำรายได้ และกำไรได้สม่ำเสมอ
แต่ก็ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา ซึ่งตรงนี้ ถ้าเรามาดูสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะแบ่งออกเป็น
- ธุรกิจวัตถุแต่งกลิ่นรส และสีผสมอาหาร 36.05%
- ธุรกิจแป้ง และซอส 35.59%
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์ซื้อมาขายไป 13.86%
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์อบแห้ง 5.98%
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง 3.43%
- ธุรกิจโรงแรม 3.06%
- ธุรกิจกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก 1.43%
- อื่นๆ 0.60%
จะเห็นได้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ของ RBF มาจากธุรกิจรับจ้างผลิตวัตถุแต่งกลิ่น, สีผสมอาหาร, แป้งเกล็ดขนมปัง และซอส ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 70% ของรายได้ทั้งหมดที่บริษัททำได้
ซึ่งธุรกิจรับจ้างผลิตกลิ่นและสี ก็ถือว่ามีความมั่นคงในระดับหนึ่ง
นั่นก็เพราะว่ากลิ่นและสี ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ทันทีหากมีการเปลี่ยนแปลง
ยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราต้องกิน และต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
มันก็จะยิ่งทำให้ ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
เรื่องดังกล่าว จึงทำให้ผู้จ้างผลิต กับบริษัทที่ผลิตกลิ่น และสีผสมอาหาร เช่น RBF
มีแนวโน้มที่จะทำธุรกิจกันยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับการจ้างผลิตในหมวดอุตสาหกรรมอื่น
ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมของ RBF ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด 19
จนรายได้ในช่วง 9 เดือนของกลุ่มธุรกิจนี้ ลดลงไปมากถึง -44%
อย่างไรก็ตามบริษัทเจ้าของแบรนด์อาหาร และเครื่องดื่มที่เป็นคู่ค้าของ RBF กลับมีความต้องการในการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งบางส่วนก็มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง
ทำให้โดยรวมแล้ว รายได้ของ RBF ก็ยังสามารถเติบโตได้มากถึง 12% ในช่วงเวลาเดียวกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า RBF เป็นเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้รับประโยชน์จากโควิด 19 และก็เริ่มมีนักลงทุนให้ความสนใจ
ทั้งในมุมที่ได้รับผลกระทบน้อยในปีที่ผ่านมา รวมถึงสตอรีในการเติบโตในอนาคตจากการเติบโตหลังเริ่มเดินเครื่องจักรโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนามมากขึ้น
รวมถึง RBF เป็นธุรกิจต้นน้ำในการนำกัญชงไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง
ทั้งหมดนี้ก็ได้ดันมูลค่าบริษัท RBF
ให้ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.7 หมื่นล้านบาท
เพิ่มขึ้นมาราว 50% ตั้งแต่ต้นปี
และกำลังซื้อขายกันที่อัตราส่วน P/E สูงถึง 55 เท่า เลยทีเดียว
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า RBF จะแสดงผลงานในอนาคตได้เท่ากับที่นักลงทุนคาดหวังไว้สูงมากหรือไม่..
คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อ หรือขายหุ้นนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-Settrade
-คำอธิบายและการวิเคราะห์งบการเงิน ไตรมาส 3 และงวด 9 เดือน ปี 2563 บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)
-รายงานประจำปี 2562 บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)
-แบบรายงาน 56-1 บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)
-https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/920562
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.