รู้จัก Wang Xing จากนักก๊อบปี้ สู่เจ้าของ E-commerce 9 ล้านล้าน

รู้จัก Wang Xing จากนักก๊อบปี้ สู่เจ้าของ E-commerce 9 ล้านล้าน

24 ก.พ. 2021
รู้จัก Wang Xing จากนักก๊อบปี้ สู่เจ้าของธุรกิจ E-commerce 9 ล้านล้าน /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงธุรกิจ Food Delivery เราน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด
แต่ละแบรนด์ต่างแข่งกัน “เผาผลาญเงิน” ออกโปรโมชันส่วนลดค่าอาหาร หรือบริการส่งฟรี
เพื่อที่จะดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้แอปพลิเคชันของตน
เพราะสุดท้ายแล้ว แอปพลิเคชันไหนก็ตามที่เป็นผู้รอดชีวิตและมีผู้ใช้งานมากที่สุด
ก็จะสามารถเป็นผู้ชนะ และครองตลาดในแต่ละประเทศ หรือแต่ละพื้นที่ไป
อย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศไทยจะมีผู้เล่นหลักๆ อยู่ไม่กี่ราย
นั่นก็คือ Grab, Gojek, LINEMAN และ Foodpanda
หรืออย่างในสหรัฐอเมริกา ก็จะมีผู้หลักๆ คือ DoorDash, Uber Eats, Grubhub และ Postmates
แต่สำหรับตลาด Food Delivery ในจีนนั้น ไม่เหมือนกับตลาดในประเทศอื่น
เพราะมีผู้ให้บริการ Food Delivery เจ้าหนึ่ง ที่เป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัด
แบรนด์นั้นก็คือ “Meituan Dianping”
เรื่องราวนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Meituan Dianping ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนกว่า 60%
ซึ่งถือว่าเยอะมาก เมื่อเทียบกับ อันดับ 2 ชื่อว่า Ele.me ในเครือ Alibaba
ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 30%
จึงทำให้ตลาด Food Delivery ในจีนนั้นมีเจ้าตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า Meituan Dianping ไม่ได้ทำธุรกิจ Food Delivery มาก่อนตั้งแต่แรก
และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือ
คุณ Wang Xing ที่เป็นหัวเรือของ Meituan Dianping
ถูกผู้คนในโลกตะวันตกให้ฉายาว่า เขาคือ “นักก๊อบปี้ตัวพ่อ” เลยทีเดียว..
แล้วกว่า Meituan Dianping จะมาเป็นเจ้าตลาด Food Delivery ในจีนอย่างวันนี้
คุณ Wang Xing เคยทำอะไรมาบ้าง ?
คุณ Wang Xing เป็นหนุ่มชาวจีน ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยชิงหวา และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ในสหรัฐอเมริกา
ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาได้ลองเข้าไปใช้งานเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย ชื่อว่า “Friendster”
ซึ่งถือเป็นโซเชียลมีเดียในยุคบุกเบิก ที่มาก่อน Hi5, Myspace และ Facebook เสียอีก
เขาเห็นธุรกิจโซเชียลมีเดียในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว
บวกกับความสนใจส่วนตัว ต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
เขาจึงตัดสินใจดรอปเรียนกลางคันจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์
และกลับมาที่จีนเพื่อที่จะทำโซเชียลมีเดียของเขาเอง
โดยโซเชียลมีเดียแรกที่เขาสร้างขึ้นมาก็คือ “Duoduoyou”
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เอา Friendster มาเป็นต้นแบบ
แต่ Duoduoyou ก็ไม่เป็นที่รู้จัก และไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก
ต่อมาในปี 2004 ก็มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอีกรายที่เป็นกระแสขึ้นมาในสหรัฐฯ
นั่นก็คือ “Facebook” ที่เริ่มให้บริการจากในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
จนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ
หลังจากนั้น 1 ปี คุณ Wang Xing ก็ได้นำโมเดลธุรกิจของ Facebook มาทำตาม
โดยเขาได้สร้างโซเชียลมีเดียชื่อว่า “Xiaonei”
ที่เน้นให้บริการกับนักศึกษามหาวิทยาลัย
และได้ทำ Xiaonei ให้มีหน้าตาคล้ายๆ กับ Facebook
Xiaonei ได้รับความสนใจและเติบโตอย่างมากในจีน
แต่การที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเยอะมาก ก็ทำให้ค่าบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์ของแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน
สุดท้ายแล้ว คุณ Wang Xing ก็ต้องขาย Xiaonei ออกไป
เนื่องจากเขาไม่สามารถหาเงินได้มากพอสำหรับค่าเซิร์ฟเวอร์ได้
และ Xiaonei ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Renren ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นในปี 2007 เขาก็ได้ก่อตั้ง Fanfou
ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียแบบ Microblog ที่มีความเหมือนกับ Twitter
แต่ก็ต้องปิดให้บริการไป เนื่องจากเนื้อหาของข่าวในแพลตฟอร์ม
ไปขัดกับนโยบายด้านข่าวสารของรัฐบาลจีน
หลังการสร้างมาแล้ว 3 แพลตฟอร์ม แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ก็ถึงคราว กำเนิด “Meituan” แล้ว..
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ธุรกิจ Group buying หรือการซื้อแบบกลุ่มกำลังได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา
โดยที่ผู้ขายจะขายสินค้าราคาถูกให้กับผู้ซื้อถ้าจำนวนซื้อมากพอ
ซึ่งในขณะนั้น Groupon คือบริษัทสตาร์ตอัปที่ให้บริการการซื้อแบบกลุ่มที่มาแรงมาก
คุณ Wang Xing จึงนำโมเดลของ Groupon มาสร้างบริษัทของเขาชื่อว่า “Meituan”
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตลาดผู้ให้บริการ Group buying ก็มีคู่แข่งมากมาย
แต่แทนที่เขาจะขยายธุรกิจแบบเร่งด่วน หรือเสนอโปรโมชันมากมาย เหมือนที่บริษัทอื่นทำ
สิ่งที่เขาตั้งใจทำก็คือเน้นการสร้างแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย
และเอาข้อมูลที่ได้จากผู้ใช้มาวิเคราะห์เพื่อที่จะขยายตลาดได้อย่างถูกต้อง
เขาใช้ข้อมูลของลูกค้า และคู่ค้าบนแพลตฟอร์ม
มาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งาน
ทำให้เขาสามารถขยายธุรกิจได้อย่างตรงจุดกว่าแพลตฟอร์มลักษณะเดียวกันของเจ้าอื่นๆ
นอกจากนั้น เขายังพยายามออกแบบแพลตฟอร์มให้มีบริการอื่น
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Food Delivery, ซื้อขายสินค้าออนไลน์, รีวิวร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ และอื่นๆ อีกมากมาย
จริงๆ แล้วในตอนนั้น มีบริษัทที่เข้ามาในตลาดรีวิวร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ก่อนแล้ว
บริษัทนั้นก็คือ “Dianping” ซึ่งในตอนนั้น Dianping ก็เพิ่งได้เข้ามาเล่นในอุตสาหกรรม Group buying เช่นเดียวกัน
ต่อมา ในปี 2015 บริษัท Meituan ก็ได้ควบรวมกิจการกับ Dianping
โดยที่คุณ Wang Xing ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัทใหม่แห่งนี้ ที่มีชื่อว่า “Meituan Dianping”
โดยสิ่งที่ทำให้ Meituan Dianping สามารถครองส่วนแบ่งตลาด Food Delivery ได้มากในจีนแผ่นดินใหญ่ก็เพราะว่า
Meituan Dianping มีความเป็น “Super App”
หรือก็คือ แอปที่ทำได้เกือบทุกเรื่องในที่เดียว
เพราะนอกเหนือจากการทำธุรกิจส่งอาหารออนไลน์แล้ว
ยังมีการให้บริการการเดินทาง, ค้าปลีก, รีวิวร้านอาหาร, แชร์ประสบการณ์ ไลฟ์สไตล์ และบริการอื่นๆ อีกมากมาย
ที่สำคัญก็คือผู้ใช้งานสามารถชำระเงินค่าบริการต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันได้
ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนจีนที่กำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
นอกจากนั้นยังมีการเจาะกลุ่มลูกค้าตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ
จากการเป็น Super App ที่มีบริการมากมาย จึงทำให้ Meituan สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าได้ตามสถานที่ต่างๆ อย่างเช่น ร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้าในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญยังมีรีวิวร้านอาหารต่างๆ อีกด้วย ซึ่งสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าได้
โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา Meituan Dianping มีรายได้ 453,000 ล้านบาท และกำไร 10,388 ล้านบาท
โดยรายได้โตจากปีก่อนหน้า +50% และในปี 2019 ยังเป็นปีแรกที่บริษัทสามารถทำกำไรได้
และปัจจุบัน Meituan Dianping มีมูลค่าประมาณ 9 ล้านล้านบาท
หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายหน มาถึงครั้งนี้
ต้องบอกว่า อาณาจักร​ Meituan Dianping ดูจะไปได้สวย
และทำให้ คุณ Wang Xing สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า
แม้ธุรกิจของเขาจะถูกมองว่าก๊อบปี้มา
แต่เขาก็สามารถทำให้อาณาจักรอีคอมเมิร์ซของเขาประสบความสำเร็จได้อย่างในตอนนี้
เพราะที่ผ่านมา มีผู้คนมากมายต่างบอกว่าเขาคือนักก๊อบปี้
แต่เขาไม่สนใจและได้ตอบกลับมาว่า
“การก๊อบปี้คือโจทย์ข้อหนึ่ง และยังมีโจทย์ข้ออื่นๆ ให้แก้อีก เช่น จะก๊อบปี้แล้วนำมาให้บริการในจีนอย่างไร”
ความสำเร็จของเขาทำให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นว่า
การจะเป็นผู้ชนะในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าแรกในตลาด
แต่การเป็นผู้ตาม หรือผู้ทำตาม ก็สามารถนำไอเดียของผู้เล่นเจ้าแรกมาปรับใช้ให้ตรงกับตลาดที่ตัวเองมีความชำนาญได้เหมือนกัน
อย่างที่คุณ Kai-Fu Lee ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI
ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ AI Superpowers ว่า
“การก๊อบปี้บริษัทจากสหรัฐอเมริกา และนำมาปรับให้เข้ากับผู้ใช้ชาวจีน ทำให้ คุณ Wang Xing คือผู้ประกอบการตัวจริง” ..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.