กรณีศึกษา การปรับตัวของ สิงห์ เอสเตท ที่ไม่ได้ยึดติดแค่ธุรกิจอสังหาฯ

กรณีศึกษา การปรับตัวของ สิงห์ เอสเตท ที่ไม่ได้ยึดติดแค่ธุรกิจอสังหาฯ

2 มี.ค. 2021
กรณีศึกษา การปรับตัวของ สิงห์ เอสเตท ที่ไม่ได้ยึดติดแค่ธุรกิจอสังหาฯ
สิงห์ เอสเตท X ลงทุนแมน
เมื่อ 25 ปีที่แล้ว บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เริ่มต้นธุรกิจอสังหาฯ
ภายใต้ชื่อ บริษัท พาณิชย์ภูมิพัฒนา จำกัด ซึ่งตอนนั้นเป็นธุรกิจครอบครัวเล็กๆ
ดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ของตระกูล ภิรมย์ภักดี
จากนั้นบริษัทก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเลยทีเดียว ทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัท
ควบรวมกิจการบริษัทในเครือต่างๆ เป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เพราะธุรกิจอสังหาฯ ก็ไม่หยุดนิ่ง มีการแข่งขันดุเดือดขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปี
จนมาถึงปี พ.ศ. 2557 บริษัทก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)
อย่างที่เรารู้จักกันดีในวันนี้
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือ สิงห์ เอสเตท กำลังมีธุรกิจใหม่
ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจอสังหาฯ ที่เราคุ้นเคยเหมือนอย่างในอดีต
ความน่าสนใจเลยอยู่ที่ว่าธุรกิจใหม่ของ สิงห์ เอสเตท คืออะไร
แล้วการ ปรับโมเดลธุรกิจครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วหรือไม่?
ลงทุนแมน จะวิเคราะห์ ให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท มีอะไรบ้าง
1. อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์
2. โครงการที่พักอาศัย
3. รีสอร์ต และโรงแรม
โดยทั้ง 3 ธุรกิจนั้นมีรายได้รวมกันคิดเป็น 96% จากรายได้ทั้งหมดของบริษัท
โดยวิธีทำธุรกิจอสังหาฯ ของบริษัทจะกระจายอยู่ในหลายๆ ภูมิภาคทั้งในและต่างประเทศ
ถือเป็นการสร้างรายได้ในหลายๆ ทำเล ขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว
แต่ ณ วันนี้ เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การระบาดของโควิด 19 ทั่วโลก
ได้ส่งผลกระทบให้หลายๆ ธุรกิจต้องปรับตัว และธุรกิจอสังหาฯ ก็ได้ผลกระทบเช่นกัน
แล้ว สิงห์ เอสเตท กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจตัวเองอย่างไร?
หากสังเกตที่ผ่านมาบริษัทแห่งนี้ มักมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโต
เช่น โครงการ SINGHA COMPLEX ซึ่งเป็นทั้งคอนโด, อาคารสำนักงาน, พื้นที่ค้าปลีก
ซึ่ง ณ เวลานั้นยังไม่ค่อยมีโมเดลโครงการลักษณะนี้เท่าไรนัก
หรือ The Marina at CROSSROADS Maldives แหล่งท่องเที่ยวครบวงจรบนเกาะมัลดีฟส์ ก็เป็นโครงการที่มีโมเดลรวมหลากหลายประเภทอสังหาริมทรัพย์เข้าไว้ด้วยกัน
แล้วครั้งนี้ สิงห์ เอสเตท มองเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆ ? ที่จะมาเสริมความแข็งแรงให้บริษัท
คำตอบก็คือธุรกิจ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างๆ, ผลิตกระแสไฟฟ้า และบริการด้านวิศวกรรม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยเน้นธุรกิจที่จะมาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจหลักและธุรกิจในเครือ
ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ 4 ของบริษัท
คำถามก็คือแล้วธุรกิจเหล่านี้มีอนาคตการเติบโตแค่ไหน?
มีการคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกคลี่คลายลง
บริษัทต่างๆ ในเมืองไทยและต่างประเทศ จะมีความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น
เหตุผล นอกจากเจ้าของธุรกิจและบริษัทต่างๆ จะมองเห็นความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ
โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC แล้วนั้น เหตุผลอีกข้อก็น่าจะมาจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะค่อยๆ ฟื้นตัว
ขณะที่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ก็น่าจะมีความต้องการในอนาคตเพิ่มขึ้นมหาศาล
ทั้งการเติบโตของ EV car และในภาคประชาชน จนถึงกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
ก็จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนธุรกิจใหม่เหล่านี้ จะเป็นในรูปแบบการร่วมทุน หรือ ซื้อกิจการ หรือ ลงทุนเอง
ณ ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างชัดเจน
แต่ความน่าจะเป็น ก็คือขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์
การลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่อสังหาฯ นอกจากเป็นการหารายได้ใหม่ๆ แล้วนั้น
ยังถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจไปในตัว
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้
ถึงจะมีวงจรการทำธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจอสังหาฯ แต่การลงทุนก็อยู่ในโจทย์ที่ว่าธุรกิจใหม่ที่ลงทุนต้องสามารถต่อยอดกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ของ สิงห์ เอสเตท
แล้วหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้
ทั้งสินทรัพย์ และรายได้ของบริษัทก็ถูกตั้งเป้าหมายให้เติบโตสูง
พ.ศ.2563 บริษัทมีสินทรัพย์มูลค่า 65,000 ล้านบาท
พ.ศ.2566 บริษัทมีสินทรัพย์มูลค่า 80,000 ล้านบาท
สรุปก็คือภายใน 3 ปี สิงห์ เอสเตท ต้องการมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 23%
ขณะที่ในส่วนของรายได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 6,563 ล้านบาท
พ.ศ.2566 บริษัทต้องการมีรายได้ 20,000 ล้านบาท
หมายความว่าภายใน 3 ปี บริษัทต้องการรายได้เติบโต 205%
แน่นอนสิ่งที่ตามมาสำหรับธุรกิจใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล
โดย ณ วันนี้สถานะการเงินของทาง สิงห์ เอสเตท ก็ต้องบอกว่า แข็งแกร่งพอสมควร เลยทีเดียว
เมื่อมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 0.96 เท่า
อีกทั้งด้านผู้บริหารก็เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีเครดิตกับสถาบันการเงินที่ดี
พร้อมประเมินว่า บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกอย่างน้อยๆ 25,000 ล้านบาท
การปรับโมเดลธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท ครั้งนี้ เป็นอะไรที่น่าสนใจเลยทีเดียว
เพราะวิกฤติโควิด 19 ที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญนอกจากเราต้องแก้ปัญหาตรงหน้าให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ก็คือ คอยมองหาโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจเพื่อให้บริษัทเติบโตในอนาคต
ที่น่าสนใจก็คือโอกาสใหม่ๆ ที่ สิงห์ เอสเตท มองเห็นไม่ได้ยึดติดอยู่แค่ในกรอบธุรกิจ อสังหาฯ
ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตัวเอง
แต่ยังมองว่าบริษัทก็สามารถข้ามมาทำธุรกิจอื่นๆ ที่คิดว่าเป็นโอกาสและเหมาะสมกับตัวเอง
ที่สำคัญที่สุด เมื่อเห็นโอกาสนั้นแล้ว สิงห์ เอสเตท ก็จะไม่รอช้า และลงมือทำทันที..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.