กรณีศึกษา กนอ. รัฐวิสาหกิจที่สร้างเม็ดเงิน 4 ล้านล้านให้กับประเทศไทย

กรณีศึกษา กนอ. รัฐวิสาหกิจที่สร้างเม็ดเงิน 4 ล้านล้านให้กับประเทศไทย

22 มี.ค. 2021
กนอ. X ลงทุนแมน
กรณีศึกษา กนอ. รัฐวิสาหกิจที่สร้างเม็ดเงิน 4 ล้านล้านให้กับประเทศไทย
หากสมมติให้ประเทศไทยมีมูลค่า GDP อยู่ที่ 100 บาทต่อปี
ภาคอุตสาหกรรมจะคิดเป็นสัดส่วน 39 บาท
ส่วนที่เหลือคือธุรกิจบริการ 52 บาท และภาคการเกษตร 9 บาท
จะเห็นว่าแม้ภาคอุตสาหกรรมจะไม่ได้มีสัดส่วนใหญ่สุด
จะเป็นรองแค่ภาคธุรกิจบริการ แต่สัดส่วน 39% ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน
พอเป็นแบบนี้ก็เลยทำให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างให้ความสำคัญกับนิคมอุตสาหกรรม
เพราะนี่คือแหล่งผลิตสินค้าเทคโนโลยี, อาหาร และอื่น ๆ อีกมากมายที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
ก็เลยทำให้เมื่อ 48 ปีที่แล้ว ทางภาครัฐตัดสินใจตั้งองค์กรที่ชื่อว่า
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.
ซึ่งเรื่องนี้หลายคนอาจยังไม่รู้อะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับองค์กรนี้
กนอ. มีหน้าที่ทำอะไรกับธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรม เมืองไทย
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ กนอ.มีส่วนช่วยเหลือเศรษฐกิจประเทศได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นต้องรู้กันก่อนว่าโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองไทย จะตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม ถูกแบ่งเป็น 2 แบบ
1. นิคมอุตสาหกรรม ที่ กนอ.กำกับและบริหารจัดการ
2. สวนอุตสาหกรรม และ เขตอุตสาหกรรม จะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมโรงงาน
และหากเราโฟกัสแค่ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ก็จะถูกแบ่งย่อยลงไปอีก 2 ประเภท
1. นิคมอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดย กนอ.โดยตรง
ตรงส่วนนี้ กนอ.จะเป็นผู้ดำเนินการและลงทุนเองทั้งหมดในการสร้าง Facilities, Infrastructure
เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ มาลงทุนเช่าหรือสร้างโรงงานเอง
2. นิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมกับเอกชน หรือที่เรียกกันว่านิคมร่วมดำเนินงาน
ซึ่งบริษัทเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนและสร้าง นิคมอุตสาหกรรม ขึ้นมา
โดยบริษัทที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ AMATA WHA ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย
ซึ่งการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งสำคัญของ กนอ. เลยทีเดียว
เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาให้นิคมอุตสาหกรรม มีสังคมที่ดีจนถึงกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมจนถึงชุมชนรอบ ๆ ก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดี
ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือจะทำให้ กนอ. และ โรงงานต่าง ๆ ร่วมกันศึกษาคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ
มาพัฒนาปรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรมนั่นเอง
ทีนี้ลองคิดดูว่า เมื่อผู้ประกอบการพัฒนากระบวนการผลิตได้เต็มที่มีประสิทธิภาพ
ก็ทำให้ประชาชนในประเทศได้ใช้สินค้าที่ดี ๆ อีกทั้งประเทศไทยก็สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนด้วยอุตสาหกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
จากรูปแบบธุรกิจที่มีทั้งลงทุนเองจนถึงการร่วมดำเนินงานและพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
ก็เลยทำให้ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแล 64 แห่ง กระจายไปใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ
และมีเงินลงทุนสะสมในนิคมอุตสาหกรรมรวม ๆ กันแล้วประมาณ 4.1 ล้านล้านบาท เป็นการสร้างเม็ดเงินโดยมีเป้าหมายการสร้างการเจริญเติบโตภาคอุตสาหกรรมพร้อมสร้างอาชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
และหากเรามองโมเดลธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมก็เปรียบเหมือนบริษัทบ้านจัดสรร
ที่คอยดูแลผู้อยู่อาศัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสารพัดบริการ “ครบจบทุกอย่าง”
ก็เลยทำให้ ภายในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในการดูแลของ กนอ.
จะมีสาธารณูปโภคสารพัดครบครัน จนถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในนิคมอุตสาหกรรม
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่โรงงานต่าง ๆ
จนสามารถสร้างรายได้ให้ กนอ. คิดเป็น 38% จากรายได้ทั้งหมด
อีกทั้งยังมีบริการออกใบอนุญาตการใช้ที่ดิน, ก่อสร้างโรงงาน, เครื่องมือเครื่องจักร
จนถึงการประกอบกิจการ ให้กับนักลงทุน แถมยังมีบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่าง e-PP ทำให้ทุกขั้นตอนที่ยุ่งยากในการจัดตั้งโรงงานมีความสะดวกสบายมากขึ้น
สรุปง่าย ๆ ก็คือ กนอ. นอกจากจะวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม
ก็ยังมีสารพัดบริการอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่โรงงานต่าง ๆ นั่นเอง
แล้วก็ดูเหมือนแนวคิดนี้จะประสบความสำเร็จ
เมื่อมีบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี
ปี 2562 มีบริษัทได้รับใบอนุญาตใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. 161 ราย
ปี 2563 มีบริษัทได้รับใบอนุญาตใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. 213 ราย
ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะทำให้รายได้และกำไร ของ กนอ. เติบโตตามไปด้วย
ปี 2561 มีรายได้ 6,080 ล้านบาท กำไร 2,336 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 7,071 ล้านบาท กำไร 3124 ล้านบาท
ส่วนปี 2563 แม้จะมีรายได้และกำไรลดน้อยลง จากผลกระทบโควิด 19
แต่มูลค่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมกลับสูงถึง 239,038 ล้านบาท
เหตุผลหลัก ๆ ก็คือบริษัทในวงการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือแพทย์
จนถึงบริษัท WD ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต Hard Disk ก็ประกาศย้ายฐานการผลิตทั้งหมดทั่วโลก
มาผลิตในประเทศไทย
ส่วนเรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้ ก็คือในแต่ละปี กนอ.มีการนำเงินส่งรัฐปีละประมาณกว่าพันล้านบาท
เพื่อให้รัฐบาลนำไปพัฒนาประเทศ
ที่น่าสนใจก็คือการเติบโตของ กนอ. ก็มีผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง
อย่างแรกที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการจ้างงาน
รู้หรือไม่ ในปี 2563 มีแรงงานกว่า 5.2 แสนรายที่ทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.
โดยคิดเป็นอัตราเติบโตเกือบ 7%
ขณะเดียวกันโลกของอุตสาหกรรม ก็กำลังแข่งขันด้านการผลิตสินค้าอย่างเข้มข้น
โดยอยู่บนโจทย์ที่ว่าต้นทุนการผลิตต้องต่ำลง แต่คุณภาพสินค้าต้องดีขึ้น
นั่นหมายความบริษัทที่จะได้เปรียบที่สุดก็คือ โรงงานผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง
เข้ามาช่วยในภาคการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในมุมกลับกันหากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันในตลาดโลก
ก็หมายความว่าประเทศไทยจะสูญเสียรายได้มหาศาล แถมยังสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่
ทั้งการจ้างงานน้อยลง, การใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยลง
จนถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้านั้น ๆ ก็จะได้ผลกระทบตามไปด้วย
เป็นเรื่องที่ กนอ. เตรียมพร้อมรับมือหลายรูปแบบ อย่างเช่น การนำเทคโนโลยี 5G
มาช่วยส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้กับทุกนิคมอุตสาหกรรม
ซึ่งเราก็อาจได้เห็นระบบ AI ที่มาช่วยประมวลผลได้แม่นยำ
การใช้หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยกระบวนการผลิตสินค้าให้ดียิ่งขึ้น
จนถึงการใช้เทคโนโลยีบำบัดของเสียที่ล้ำสมัย
ทั้งหมดที่กล่าวมา มันคือเทรนด์ของโลกอนาคตที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
ขณะเดียวกันทางฝ่ายรัฐบาล ก็มีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เติบโต
โดยมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็น S-Curve และ New S-Curve
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็เลยทำให้ กนอ.สร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park
ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่
โดยอยู่บนแนวคิดที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
แต่เรื่องนี้มันก็ยังดูเหมือนจะไม่เพียงพออยู่ดี
เพราะหากอยากให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
ก็จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจเลยทำให้ 3 หน่วยงานอย่าง กนอ. EEC และ BOI
มีข้อเสนอสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้แก่ นักลงทุนต่างชาติ
เพื่อให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น
และหากทำสำเร็จก็จะส่งผลไปยังโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง
ทั้งการจ้างงาน, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต จนถึงรายได้ที่จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น
ซึ่งมันก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้ค่าเฉลี่ยรายได้ของคนไทยเพิ่มมากขึ้น
และในอนาคตอันใกล้อาจอยู่ในระดับมากกว่า 382,000 บาทต่อปี
ซึ่งเป็นเกณฑ์ของ World Bank ที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงนั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.