กรณีศึกษา SINGER จากจักรเย็บผ้า สู่ธุรกิจใหม่หมื่นล้าน

กรณีศึกษา SINGER จากจักรเย็บผ้า สู่ธุรกิจใหม่หมื่นล้าน

26 เม.ย. 2021
กรณีศึกษา SINGER จากจักรเย็บผ้า สู่ธุรกิจใหม่หมื่นล้าน /โดย ลงทุนแมน
ในอดีต ถ้าเราพูดถึง SINGER หลายคนน่าจะนึกถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า
หรืออีกอย่างคือ “จักรเย็บผ้า” ที่ถือว่าเป็นหนึ่งสินค้าชื่อดังของ SINGER เลยทีเดียว
แต่รู้ไหมว่าวันนี้ รายได้จากการขายจักรเย็บผ้าของ SINGER
ลดลงมาเหลือเพียง 1% ของรายได้รวม..
แล้ววันนี้ SINGER เปลี่ยนไปจากเดิมมากแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของ SINGER ต้องย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ. 1851 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2394 หรือเมื่อ 170 ปีมาแล้ว
2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน ชื่อว่า Isaac Singer และ Edward Clark ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทผลิตจักรเย็บผ้าที่มีชื่อว่า Singer Corporation ขึ้นในนิวยอร์กซิตี สหรัฐอเมริกา
SINGER เป็นที่รู้จักของคนไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2432 เมื่อ Singer Corporation ได้แต่งตั้งให้บริษัท เคียมฮั่วเฮง จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายจักรเย็บผ้า SINGER ในประเทศไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 Singer Corporation ได้จัดตั้งสาขาขึ้นในประเทศไทย
โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ซิงเกอร์ โซอิ้ง แมชีน จำกัด
เพื่อขายจักรเย็บผ้าและสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจักรเย็บผ้า โดยสินค้าที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 บริษัทได้ริเริ่มให้บริการเช่าซื้อจักรเย็บผ้า
คือลูกค้าสามารถมาซื้อจักรเย็บผ้าแบบผ่อนชำระเป็นงวดได้
ทำให้จักรเย็บผ้าแบรนด์ SINGER ยิ่งเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น
หลังจากขายจักรเย็บผ้า ภายหลัง SINGER ก็เริ่มขยายไปสู่การขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน พร้อมทั้งมีการจัดตั้ง บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด ก่อนที่ต่อมาจะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน แล้วเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2527
จากจักรเย็บผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า SINGER เริ่มขยายธุรกิจไปขายสินค้าเชิงพาณิชย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตู้แช่แข็ง, ตู้แช่เครื่องดื่ม, ตู้เติมเงินหยอดเหรียญอัตโนมัติ, ตู้น้ำมันหยอดเหรียญอัตโนมัติ
นอกจากนั้นยังเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบรนด์ต่าง ๆ รวมไปถึงธุรกิจบริการที่มาจากการบริการติดตั้ง ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด
เมื่อแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักและมีฐานลูกค้ามากขึ้น
SINGER ก็เริ่มเข้าสู่ธุรกิจ การให้บริการสินเชื่อ
รวมถึงเป็นนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2558
เมื่อกลุ่ม JMART ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินเชื่อและบริหารหนี้ ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER และได้ปรับโครงสร้างการทำธุรกิจของ SINGER ให้เข้าสู่ธุรกิจให้บริการสินเชื่อมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใน SINGER ทั้งสิ้น 148.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 32.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)

โดยสินเชื่อกลุ่มหลักที่ SINGER ให้บริการคือ สินเชื่อเช่าซื้อสินค้า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร โดยที่ SINGER ก็จะทำรายได้จากดอกเบี้ยรับ ที่ลูกหนี้มาผ่อนชำระค่าเงินสินเชื่อ

หลังการเข้ามาของกลุ่ม JMART พอร์ตธุรกิจสินเชื่อของ SINGER ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
จาก 3,600 ล้านบาท ในปี 2562 มาอยู่ที่ 6,600 ล้านบาท ในปี 2563 โดยบริษัทยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มพอร์ตสินเชื่อไปถึง 10,000 ล้านบาท ในปีนี้

แม้บางคนอาจกังวลว่า การเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ อาจทำให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น แต่นักลงทุนหลายคนก็มองว่า ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการติดตามหนี้ที่กลุ่ม JMART มีอยู่ จะช่วยทำให้ธุรกิจนี้ของ SINGER ยังเติบโตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่เป็นแบบนี้เพราะ กลุ่ม JMART นั้น มีอีกบริษัทในเครือ คือ JMT ซึ่งทำธุรกิจรับซื้อหนี้เสียและติดตามทวงหนี้โดยเฉพาะนั่นเอง

ลองมาดูกันว่า ในปีที่ผ่านมา รายได้ของ SINGER มาจากอะไรบ้าง ?
- รายได้จากการขายสินค้า 67%
- รายได้จากดอกเบี้ยรับ 27%
- รายได้จากธุรกิจบริการ ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย และรายได้อื่น ๆ 6%
โดยข้อมูลที่น่าสนใจ จากแบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563 ของบริษัท
คือรายได้จากการขายจักรเย็บผ้า ที่เป็นสินค้าแรกเริ่มของ SINGER นั้น
ในปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนคิดเป็นเพียง 1% ของรายได้รวมของบริษัทเท่านั้น
ผลประกอบการของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 รายได้ 2,888 ล้านบาท ขาดทุน 81 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,610 ล้านบาท กำไร 166 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 3,658 ล้านบาท กำไร 443 ล้านบาท
เรียกได้ว่า SINGER ทำผลประกอบการเติบโตได้อย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะปีล่าสุดที่แม้จะเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19
แต่บริษัทก็ยังทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แต่ต้องยอมรับว่า ธุรกิจของบริษัทก็เป็นลักษณะธุรกิจที่แข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ในประเทศไทยนั้นมีผู้ประกอบการหลายรายที่ทำธุรกิจนี้
นอกจากนั้นในส่วนของธุรกิจให้สินเชื่อ
ก็ยังต้องคอยติดตามกฎเกณฑ์ การกำกับดูแลการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเพดานดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อได้ในอนาคต
ทั้งยังต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการสินเชื่ออีกหลายราย
โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ในตลาดที่มีจำนวนไม่น้อยเลย
ก็น่าติดตามว่าการรุกธุรกิจสินเชื่อของ SINGER ที่อาศัย Synergy กับกลุ่ม JMART จะทำให้บริษัทเติบโตได้อีกแค่ไหน
แต่สิ่งที่น่าสนใจในตอนนี้ก็คือ
ปี 2561 มูลค่าบริษัท SINGER อยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท
ขณะที่ในวันนี้ บริษัท SINGER มีมูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท
หรือปรับเพิ่มขึ้นมามากกว่า 12 เท่า ในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
-https://www.singerthai.co.th/th/about-us/corporate-info
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2563, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
-https://www.prachachat.net/finance/news-618775
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.