[UPDATE] สรุปวิธีแก้ปัญหา สภาพคล่องของ AirAsia

[UPDATE] สรุปวิธีแก้ปัญหา สภาพคล่องของ AirAsia

27 เม.ย. 2021
[UPDATE] สรุปวิธีแก้ปัญหา สภาพคล่องของ AirAsia
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)
ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างกิจการ
ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่การได้รับสินเชื่อจากนักลงทุนใหม่
ไปจนถึงการแปลงสภาพบริษัทและนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนรอบใหม่
แล้วรายละเอียดทั้งหมดมีอะไรบ้าง ? มาดูกัน
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจโครงสร้างของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV
จริง ๆ แล้ว AAV ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย แต่เป็นบริษัทโฮลดิงที่ถือหุ้น 55% ในบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
โดยบริษัท ไทยแอร์เอเชีย มีธุรกิจหลักก็คือสายการบินราคาประหยัด
ทั้งนี้ AAV ได้แจ้งว่าวิกฤติโรคระบาดในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ AAV ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
จึงทำให้บริษัทจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้
ทีนี้ เรามาดูวิธีแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ AAV กัน
นั่นก็คือการออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 3,150 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย
ให้กับนักลงทุนรายใหม่ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท
ซึ่งหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 3,150 ล้านบาทนี้จะมีระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเงินกู้
และจะสามารถเปลี่ยนหุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ ก็ต่อเมื่อ AAV สามารถนำบริษัท ไทยแอร์เอเชีย IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
ซึ่งผู้ให้กู้จะสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย ได้ที่ราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น
แต่หากการแปลงสภาพไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม
นักลงทุนจะได้รับเงินคืนไถ่ถอนเป็นเงินต้น และได้รับดอกเบี้ย 3% ต่อปีนับตั้งแต่วันได้รับเงินต้นแทน
แล้วบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ วิธีไหน ?
กระบวนการ จะแบ่งออกเป็น

1. นำ AAV ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเลิกกิจการ AAV
2. หลังจากนั้นจะให้บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แทน
ทั้งนี้ AAV จะจัดสรรหุ้นไทยแอร์เอเชียที่บริษัทถืออยู่
ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV ตามสัดส่วน 1 : 0.098785
หรือ 1 หุ้น AAV จะแลกหุ้นไทยแอร์เอเชียได้ 0.098785 หุ้น
ซึ่งการจัดสรรหุ้นในลักษณะนี้ เสมือนเป็นการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นของ AAV
และเป็นหนึ่งในขั้นตอนการชำระบัญชี เพื่อเลิกกิจการของ AAV
ซึ่งถ้าหาก ไทยแอร์เอเชีย สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้
จะมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 0.5 บาท
โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้นกับประชาชนทั่วไปไม่เกิน 135,202,950 หุ้น
ที่ราคาหุ้นออกใหม่ 20.3925 บาทต่อหุ้น (เป็นราคาเดียวกับราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของผู้ให้กู้ 3,150 ล้านบาท)
แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการเลิกกิจการ และการชำระบัญชีของ AAV
ยังต้องรอการอนุมัติ จากการประชุมของคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นก่อน
โดยกระบวนการ IPO นี้คาดการณ์ว่า จะใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ถึงจะแล้วเสร็จ
ซึ่งก็น่าจับตาต่อไปว่า วิธีของ AAV
จะช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับบริษัทได้หรือไม่
สรุปแล้ว
ในอนาคต AAV ที่ถือ 55% ในไทยแอร์เอเชีย ในตลาดหลักทรัพย์ จะถูกเพิกถอนและเลิกกิจการ
และตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีบริษัทน้องใหม่ที่กำลังจะ IPO ชื่อ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย นั่นเอง
ลงทุนแมนคิดชื่อย่อให้ AA หรือ TAA ก็เท่ดีนะ..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.