ทำไม ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้

ทำไม ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้

27 เม.ย. 2021
ทำไม ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้ /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบมูลค่าสูงกว่า 530,560 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 8% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
แต่เรื่องที่หลายคนคงสงสัยกันมานาน
คือทำไมประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมัน
ทั้งที่สามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้เป็นมูลค่าหลักแสนล้านบาท
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ขั้นแรกเราต้องเข้าใจกันก่อนว่า ราคาน้ำมันดิบจะมีตลาดกลางซื้อขายหลายแห่งในโลก
แต่ตลาดน้ำมันดิบที่สำคัญ และมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันดิบของโลกนั้นมีอยู่ 3 แห่งคือ
1. ตลาดน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ที่ใช้เป็นราคาน้ำมันดิบอ้างอิงในทวีปอเมริกา
2. ตลาดน้ำมันดิบ Brent ที่ใช้เป็นราคาน้ำมันดิบอ้างอิงในทวีปยุโรป
3. ตลาดน้ำมันดิบ Dubai ที่ใช้เป็นราคาน้ำมันดิบอ้างอิงในทวีปเอเชีย
โดยราคาน้ำมันดิบแต่ละแห่งจะมีราคาที่แตกต่างกัน เนื่องจากคุณภาพของน้ำมันดิบที่แตกต่างกัน รวมทั้งต้นทุนในการผลิตและการจัดส่งของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
ในอดีตนั้นราคาน้ำมันดิบ WTI จะมีราคาแพงที่สุดในบรรดาน้ำมันดิบจากทั้ง 3 แหล่ง เนื่องจากน้ำมันดิบ WTI มีคุณภาพดีกว่า เพราะมีความหนาแน่นต่ำ (Light) และกำมะถันต่ำ (Sweet) กว่าน้ำมันจาก 2 แหล่งที่เหลือ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบ WTI กลับมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ซึ่งก็มีหลายฝ่ายได้วิเคราะห์สาเหตุหลักกันว่า มาจากเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์ ที่มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบได้สูงกว่าสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมันดิบ Brent จึงมีส่วนเพิ่มหรือ Premium ที่สูงกว่า
สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ในปี 2563 ประเทศไทยมีการจัดหาน้ำมันดิบเฉลี่ย 929,112 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นการจัดหาจาก
- แหล่งตะวันออกกลาง 48% (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, คูเวต และบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง)
- แหล่งตะวันออกไกล 12% (มาเลเซีย, เวียดนาม และอินโดนีเซีย)
- อื่น ๆ 30% (สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย และแองโกลา)
- ผลิตในประเทศ 10%
หมายความว่า การจัดหาน้ำมันดิบของประเทศไทยนั้น เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 90% และผลิตเอง 10%
และอย่างที่เห็นคือ สัดส่วนเกือบครึ่งของปริมาณการจัดหาน้ำมันดิบทั้งหมดนั้น เป็นการนำเข้าจากแหล่งตะวันออกกลางที่ใช้น้ำมันดิบ Dubai เป็นราคาอ้างอิง
นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมราคาน้ำมันดิบของ Dubai จึงมักถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการคาดการณ์เงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงบทวิเคราะห์ของสำนักวิจัยหลายแห่ง
แล้วรู้ไหมว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปปีละเท่าไร ?
- ปี 2561 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 874,236 ล้านบาท
- ปี 2562 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 667,022 ล้านบาท
- ปี 2563 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 530,560 ล้านบาท
โดยน้ำมันดิบส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันของไทย เพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปออกมา
ที่ใช้คำว่าส่วนใหญ่ก็เพราะว่า น้ำมันดิบ “บางส่วน” จะไม่ได้ถูกนำไปใช้ในโรงกลั่น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากบางแหล่งในประเทศ เนื่องจากมีสารปนเปื้อนสูง
ส่งผลให้โรงกลั่นภายในประเทศไม่สามารถกลั่นน้ำมันดิบเหล่านั้นได้ จึงต้องถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่รับซื้อต่ออีกทอดหนึ่ง
นี่จึงเป็นคำตอบแรก ที่ว่าทำไมประเทศไทยที่นำเข้าน้ำมันดิบแล้ว จึงสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้อีก
ต่อจากน้ำมันดิบก็มาเรื่องน้ำมันสำเร็จรูป..
ในปี 2563 น้ำมันสำเร็จรูปที่ประเทศไทยผลิตได้เท่ากับ 1,037,818 บาร์เรลต่อวัน
นอกจากนั้นยังมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปบางส่วนจากต่างประเทศเข้ามาใช้ด้วย เนื่องจากบางช่วงนั้น การผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้
โดยปัจจุบัน ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 800,000-900,000 บาร์เรลต่อวัน
เมื่อปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศ บวกกับการนำเข้ามาแล้ว มากกว่าการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือก็ต้องขายต่อโดยการส่งออกไปต่างประเทศ
จึงเป็นที่มาว่า ประเทศไทย ทั้งนำเข้าและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้ ในเวลาเดียวกันเช่นกัน
ลองมาดูปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปีที่ผ่าน ๆ มา
- ปี 2561 มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป 298,921 ล้านบาท
- ปี 2562 มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป 226,962 ล้านบาท
- ปี 2563 มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป 165,466 ล้านบาท
โดยการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่นั้นเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา, เวียดนาม, ลาว, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ถึงตรงนี้บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมโรงกลั่น จึงไม่กลั่นน้ำมันให้พอดีกับความต้องการภายในประเทศ ?
ที่เป็นแบบนี้ก็เนื่องจาก โดยปกติแล้ว โรงกลั่นน้ำมันนั้นจะพยายามใช้กำลังการกลั่นให้เต็มที่เพื่อให้เกิดรายได้มาชดเชยกับต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ทำให้ต้องกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปออกมาให้ได้ปริมาณมาก ๆ และคุ้มทุน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้มีน้ำมันสำเร็จรูปบางชนิดผลิตออกมาเกินความต้องการในประเทศ จนทำให้โรงกลั่นต้องส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายยังต่างประเทศนั่นเอง
สรุปในภาพรวมแล้ว ประเทศไทย จึงถูกจัดอยู่ในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ
เนื่องจากมูลค่าการนำเข้านั้นสูงกว่ามูลค่าการส่งออก
แต่ที่เราต้องนำเข้าและส่งออกในเวลาเดียวกัน เพราะมันมีเหตุผลในเรื่องของคุณภาพน้ำมันดิบ และต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูป ที่ทำให้ต้องกลั่นครั้งละจำนวนมาก แล้วที่เหลือจากการใช้งานในประเทศ ก็ต้องส่งออกไปขายต่อต่างประเทศ
เรื่องของการนำเข้าส่งออกน้ำมันจะมีการถกเถียงกันอยู่เสมอ อาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความสับสนไปด้วย
ดังนั้น การทำความเข้าใจ รวมทั้งรับรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์ และเข้าใจประเด็นในเรื่องเหล่านี้ได้ดีขึ้น..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://fbs.co.th/analytics/tips/brent-and-wti-where-differences-lie-9580
-https://dmf.go.th/public/list/data/index/menu/657/mainmenu/657/
-ภาพรวมพลังงาน มกราคม ปี 2564, สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน
-http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomRecode&ImExType=0&Lang=Th
-http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=ExportStructure&Lang=Th
-https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2021/Pages/n2264.aspx
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/static-energy/summery-energy
-https://en.wikipedia.org/wiki/West_Texas_Intermediate
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.