กรณีศึกษา สิงห์ เอสเตท กับโอกาสในธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรม

กรณีศึกษา สิงห์ เอสเตท กับโอกาสในธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรม

14 พ.ค. 2021
สิงห์ เอสเตท X ลงทุนแมน
กรณีศึกษา สิงห์ เอสเตท กับโอกาสในธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรม
“การลงทุนอะไรสักอย่าง เราต้องมองเห็นอนาคตของธุรกิจนั้น”
ประโยคนี้ น่าจะสะท้อนถึงวิธีคิดการทำธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท ได้เป็นอย่างดี
หากยังจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้ สิงห์ เอสเตท ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก
ก็ทำในสิ่งที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง ด้วยการลงทุนสูงถึง 1,392 ล้านบาท
ซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 แห่ง
เหตุผลน่าจะเป็นเพราะทางบริษัทเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเมืองไทยจะเพิ่มขึ้นมหาศาลจากการมาของ EV Car และปัจจัยอื่น ๆ
ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุด ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
เพราะรู้หรือไม่ สิงห์ เอสเตท กำลังมีอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ นั่นคือ
การเป็น “เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์” บนเนื้อที่ 1,790 ไร่ ในจังหวัดอ่างทอง
คำถามก็คือทาง สิงห์ เอสเตท มองเห็นอะไรใน นิคมอุตสาหกรรม แห่งนี้
ที่สำคัญการลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทแข็งแกร่งกว่าเดิมมากแค่ไหน
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาย้อนดูเบื้องหลังดีลนี้กันก่อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
รู้หรือไม่ว่า แต่เดิมนั้น เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์
คือ บริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด โดยเป็นบริษัทในเครือของทางบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
ซึ่งโดยปกติแล้วในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะมีโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมาก
ซึ่งในแต่ละปีจะมีอัตราการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง เพื่อผลิตสินค้า และใช้ในชีวิตประจำวัน
ทีนี้ทาง สิงห์ เอสเตท ก็มองว่าในเมื่อตัวเองมีโรงงานไฟฟ้าถึง 3 แห่ง
ก็สามารถขายพลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้
แล้วหากดูข้อมูลเชิงลึกจะพบว่าโรงงานต่าง ๆ ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ก็คือโรงงานผลิตอาหาร ในขณะเดียวกันทางภาครัฐ ก็กำลังส่งเสริมธุรกิจอาหารแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
สรุปก็คือ สิงห์ เอสเตท มองว่า นิคมอุตสาหกรรมจะมาช่วยส่งเสริมธุรกิจโรงงานไฟฟ้าของตัวเอง
อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้สูง
ก็เลยเป็นที่มาของการตัดสินใจซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด
ซึ่งเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ โดยเป็นการซื้อกับทาง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในราคาพาร์ ด้วยจำนวนเงิน 510 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือนอกจากการซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมแล้วนั้น
ทาง สิงห์ เอสเตท ยังใช้เงินลงทุนอีก 1,726 ล้านบาท เพื่อจะใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้
(เงินอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ)
แล้วทำไมถึงต้องลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เหตุผลนอกจากในเรื่องของทางภาครัฐที่กำลังส่งเสริมธุรกิจอาหารแล้วนั้น
รู้หรือไม่ว่า อัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางของประเทศไทย มีระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%
โดยเฉพาะทำเลที่ตั้งของ นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ในจังหวัดอ่างทอง
ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหาร และวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก อีกทั้งยังใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา
แล้วรู้หรือไม่ว่า ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ โรงงานส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมอาหาร
นั่นแปลว่าโรงงานต่าง ๆ จะสามารถเข้าถึงวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารได้อย่างมีศักยภาพสูงหากเทียบกับทำเลอื่น ๆ
อีกทั้งยังมีการคาดว่าหากมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งมันก็คือโอกาสทางธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท นั่นเอง
จะเห็นว่าการลงทุนในธุรกิจโรงงานไฟฟ้า 3 แห่ง จนถึงความเคลื่อนไหวล่าสุด
คือการเป็นเจ้าของธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์
เป้าหมายก็เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดในเวลา 3 ปี
ทั้งในแง่รายได้และสินทรัพย์ของทางบริษัท
โดยในปี พ.ศ. 2563 สิงห์ เอสเตท มีรายได้ 6,563 ล้านบาท
เป้าหมายอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะต้องมีรายได้อยู่ที่ 20,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนในแง่สินทรัพย์ อีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องมีมูลค่า 80,000 ล้านบาท
โดยปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 65,000 ล้านบาท
ถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไม สิงห์ เอสเตท
ถึงต้องตั้งเป้าหมายการเติบโตของบริษัทแบบก้าวกระโดด
เรื่องนี้มันก็ไม่ต่างจากตัวเราเอง เพราะหากเราจะตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่างในชีวิต
ก็ต้องมองไปที่จุดสูงสุด
ผลที่ตามมาก็คือ ตัวเราจะมี Passion ในการขับเคลื่อนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้
ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากวิธีคิดของ สิงห์ เอสเตท
เพื่อให้องค์กรตัวเองเติบโตอย่างยั่งยืน นั่นเอง
Reference
-ข่าวประชาสัมพันธ์บริษัท สิงห์ เอสเตท จํากัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.