กรณีศึกษา การลดค่า GP 5% ของ Food Delivery

กรณีศึกษา การลดค่า GP 5% ของ Food Delivery

29 พ.ค. 2021
กรณีศึกษา การลดค่า GP 5% ของ Food Delivery /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาบรรดา Food Delivery รายใหญ่ ต่างประกาศลดค่า GP 5% เป็นเวลานาน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. 64 โดยแต่ละรายก็จะมีเงื่อนไขในการลดค่า GP 5% ที่แตกต่างกันออกไป
เบื้องหลังของเรื่องนี้ ก็น่าจะมาจากการที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ขอความร่วมมือ
ให้บรรดา Food Delivery ช่วยเหลือร้านอาหารในช่วงวิกฤติโควิด 19
แม้ตอนนี้จะมีการผ่อนปรนให้ลูกค้านั่งทานในร้านได้ถึง 21.00 น.
แต่ภาพความจริงก็คือ ลูกค้ายังเข้าร้านน้อยกว่าช่วงเวลาก่อนการระบาดรอบนี้อยู่ดี
ในขณะเดียวกันลูกค้าก็เลือกใช้บริการ Food Delivery กันมากขึ้น
เรื่องนี้หลายคนอาจคิดว่าการลดค่า GP 5% ให้แก่ร้านอาหารนาน 30 วัน ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย
แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้อาจกำลังสร้างผลกระทบต่อธุรกิจนี้ไม่น้อย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินตลาด Food Delivery เมืองไทย ปี 2563
มีจำนวนการส่งอาหาร 66-68 ล้านครั้งต่อปี มีมูลค่าตลาด 68,000 ล้านบาทต่อปี
หรือเฉลี่ยเดือนละ 5,667 ล้านบาท
และหากสมมติเราใช้ตัวเลข 5,667 ล้านบาทคือมูลค่าตลาด Food Delivery ต่อเดือน
การลดค่า GP 5% ของบรรดา Food Delivery จะทำให้มูลค่าตลาดหายไป 283 ล้านบาทต่อเดือน
ซึ่งหากคิดคร่าว ๆ ณ วันนี้ Food Delivery ในเมืองไทยมีเจ้าใหญ่ ๆ อยู่ประมาณ 4 ราย
คือ Grab, Foodpanda, LINE MAN, Gojek
โดยสมมติให้ทุกรายแบกรับในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
นั่นก็หมายความว่า แต่ละรายจะสูญเสียรายได้เกือบ ๆ 71 ล้านบาทใน 1 เดือน

เรื่องนี้จะดูไม่รุนแรงอะไรเลย
หากบรรดา Food Delivery รายใหญ่ ๆ ในเมืองไทยรู้จักคำว่า “กำไร”
เพราะการสูญเสียรายได้แค่นี้ ย่อมไม่สร้างผลกระทบอะไรมากนัก
แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะทุกรายต่างแบกรับต้นทุน ทั้งส่วนแบ่งคนขับ, ค่าพนักงาน, ค่าโฆษณา และรายจ่ายอื่น ๆ
ก็เลยไม่แปลกใจ ที่แม้แต่ละเดือนบรรดา Food Delivery จะมีจำนวนออร์เดอร์มหาศาล
แต่ก็ยังมีผลประกอบการขาดทุนเป็นหลักพันล้านบาทแทบทุกราย
Grab ขาดทุน 1,650 ล้านบาท (รวมธุรกิจเรียกรถและส่งอาหาร)
Foodpanda ขาดทุน 1,265 ล้านบาท
Gojek ขาดทุน 1,137 ล้านบาท
LINE MAN ขาดทุน 157 ล้านบาท
(ข้อมูลผลประกอบการในปี 2562)
นั่นหมายความว่าการลดค่า GP ให้แก่ร้านอาหาร ก็เหมือนถูกบังคับให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
ที่น่าสนใจ หากการลดค่า GP 5% กินเวลาแค่ 1 เดือน บรรดา Food Delivery อาจยังพอทำใจได้
แต่สมมติหากการระบาดของโควิด 19 จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง
ซึ่งหากภาครัฐเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมคือ ขอความร่วมมือกับบรรดา Food Delivery ให้ลดค่า GP แก่ร้านอาหารต่อไป
หากเป็นเช่นนั้นจริง นั่นก็อาจเป็น “ฝันร้าย” ที่ยังไม่จบของธุรกิจ Food Delivery
ถ้าถามว่า Food Delivery จะยอมทำตามข้อเรียกร้องนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หรือไม่ ?
แต่ละรายก็น่าจะมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป
ที่น่าสนใจ หากเป็นเช่นนั้นจริงอาจทำให้ Food Delivery
บางรายทนพิษบาดแผลจากการขาดทุนต่อไปไม่ไหว จนต้องถอดใจออกจากการแข่งขัน
คนที่น่าจะได้รับผลกระทบเรื่องนี้ก็คือ ผู้บริโภค นั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ วันนี้ค่าบริการส่งอาหารในบ้านเราเป็นราคาที่เข้าถึงง่าย
เมื่อทุกรายยอมขาดทุน “แข่งขันราคา” เพื่อให้ตัวเองดูคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ก็คือ ผู้บริโภค ที่ได้ใช้บริการในราคาประหยัด

และหากในอนาคตเกิดมีผู้เล่นในตลาด Food Delivery น้อยลง
การแข่งขันในเรื่องอัตราค่าบริการก็ย่อมน้อยลง
ผลที่ตามมาก็คือค่าบริการอาจต้องแพงขึ้น
เพราะต้องยอมรับว่าลึก ๆ ในใจ Food Delivery ทุกรายต้องการรู้จักคำว่ากำไรให้เร็วที่สุด

นอกจากนั้น ธุรกิจนี้ได้สร้างอาชีพคนขับส่งอาหารจำนวนมาก
ยกตัวอย่างเช่น Grab ที่มีคนขับนับแสนราย (รวมธุรกิจเรียกรถและส่งอาหาร)
แน่นอนหาก Food Delivery รายใดรายหนึ่งต้องหายไป ก็ย่อมส่งผลกระทบในตลาดแรงงาน

เมื่อ Food Delivery ทุกรายก็ไม่อยากที่จะลดค่า GP ในวันที่ยังขาดทุนหนักหน่วง
ฝั่งร้านอาหารก็อยากเสียค่า GP ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด 19
ส่วนตัวลูกค้าเองก็คงไม่มีใครอยากเสียค่าบริการ Food Delivery แพงขึ้นกว่าเดิม
ไม่ว่าจะช่วงโควิด 19 หรือช่วงเวลาปกติ ส่วนฝั่งคนขับก็ยังต้องการรายได้ที่เหมาะสม

แต่เมื่อทุกอย่างไม่ลงตัว มันก็อาจจะมีคนที่ทนไม่ไหว และต้องยอมออกจากเกมนี้ ก็เป็นได้..

ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ

การระบาดของโควิด 19 เมื่อปีที่แล้วทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ออกคำสั่งห้ามลูกค้านั่งทานในร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพาบริการ Food Delivery เป็นหลัก คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

แต่ที่ต่างกันคือ
สิงคโปร์ มีหน่วยงานที่ชื่อ Enterprise Singapore หรือ ESG ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เลือกที่จะชดเชยค่า GP 5% ให้แก่บรรดาร้านอาหารเป็นเวลา 1 เดือน
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman๘๙๙๙๙
References
-https://mgronline.com/business/detail/9640000050473
-https://www.enterprisesg.gov.sg/-/media/esg/files/media-centre/media-releases/2020/apr-2020/mr01620fooddeliveryboosterpackagetosupportfbbusinesseswithdeliveryorders20200404.pdf?la=en
-https://makrohorecaacademy.com/compare-5-online-food-delivery-apps-which-camping-is-suitable-for-our-shop/
-https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/z3128-Food-Delivery.aspx
-ข่าวประชาสัมพันธ์ Grab Food และ Gojek ประเทศไทย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.