กรณีศึกษา คนอุรุกวัย รวยสุดในอเมริกาใต้

กรณีศึกษา คนอุรุกวัย รวยสุดในอเมริกาใต้

5 มิ.ย. 2021
กรณีศึกษา คนอุรุกวัย รวยสุดในอเมริกาใต้ /โดย ลงทุนแมน
หากเอ่ยถึง “ทวีปอเมริกาใต้”..
เราคงเคยได้รับรู้ถึงเรื่องราวความถดถอยทางเศรษฐกิจตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
ของหลายประเทศในทวีปแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา บราซิล
เอกวาดอร์ หรือเปรู
แต่ในทวีปแห่งนี้ ก็ยังมีอยู่ประเทศหนึ่ง ที่เศรษฐกิจเติบโตสวนทางกับประเทศอื่น
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นั่นคือ “อุรุกวัย”
ในปี 2019 ชาวอุรุกวัยมี GDP ต่อหัวสูงที่สุดในอเมริกาใต้
ถึงแม้จะเจอวิกฤติโควิดในปี 2020 แต่เศรษฐกิจของอุรุกวัยก็หดตัวเกือบจะน้อยที่สุด
อะไรที่ทำให้อุรุกวัยมีเส้นทางเดินที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเดียวกัน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17
อุรุกวัย มีจุดเริ่มต้นจากการเป็น “พื้นที่กันชน” ของมหาอำนาจยุโรปที่เข้ามาล่าอาณานิคม
ในทวีปอเมริกาใต้ คือ สเปนกับโปรตุเกส
สเปนซึ่งครอบครองดินแดนอาร์เจนตินา ได้ขยายพื้นที่มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ
รีโอเดลาปลาตา และสร้างเมือง “มอนเตวิเดโอ” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ให้เป็นเมืองท่าคู่กับเมืองบัวโนสไอเรส ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน
เช่นเดียวกับโปรตุเกส ที่ได้ขยายดินแดนลงมาจากบราซิล และได้สร้างเมือง
“โคโลเนีย เดล ซาคราเมนโต” ให้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเดียวกัน ไม่ไกลจากมอนเตวิเดโอ
เมื่อต่างฝ่ายต่างขยายดินแดนมาเรื่อย ๆ ทั้ง 2 มหาอำนาจก็ปะทะกันในที่สุด
จนสุดท้าย ดินแดนอุรุกวัยก็ตกเป็นของสเปน และถูกนำไปปกครองรวมกับอาร์เจนตินา
โดยใช้ชื่อว่า “เขตอุปราชแห่งรีโอเดลาปลาตา”
สเปนครอบครองดินแดนแห่งนี้ เพราะหวังจะพบแร่เงิน
แต่เมื่อไม่พบ ทำให้ไม่ค่อยได้รับความใส่ใจ
จนเมื่ออำนาจของสเปนอ่อนแอลง อาร์เจนตินาจึงประกาศเอกราชจากสเปน
แต่ท้ายที่สุดก็เสียดินแดนอุรุกวัยไปให้กับโปรตุเกส
หลังจากถูกรวมกับอาร์เจนตินา
คราวนี้อุรุกวัยถูกนำไปรวมกับบราซิลของโปรตุเกส..
จนเมื่อโปรตุเกสอ่อนแอลง และบราซิลประกาศเอกราช
อุรุกวัยจึงประกาศแยกตัวจากบราซิล และก่อตั้งประเทศในปี 1828
โดยมีกรุงมอนเตวิเดโอ เมืองท่าสำคัญเป็นเมืองหลวงของประเทศ
ถึงแม้ว่าอุรุกวัยจะไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุต่าง ๆ เหมือนกับที่อื่นในอเมริกาใต้
แต่ดินแดนแห่งนี้ ก็ตั้งอยู่บนที่ราบปัมปัส ซึ่งเป็นที่ราบที่มีความอุดมสมบูรณ์
มีทุ่งหญ้าเหมาะแก่การเลี้ยงวัวและแกะ เนื้อวัวและขนแกะจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ราว 176,000 ตารางกิโลเมตร
แต่กลับมีประชากรเริ่มต้นไม่กี่แสนคน
ชาวอุรุกวัยจึงมีฐานะดี เพราะตลาดยุโรปต้องการผลผลิตจากวัวและแกะเป็นจำนวนมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงราว 70 ปีหลังการได้รับเอกราช อุรุกวัยกลับเต็มไปด้วยปัญหา
ทั้งปัญหาคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม
เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเสรีนิยมกับพรรคอนุรักษนิยม
จนก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองอยู่หลายครั้ง
ผลจากสงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลาหลายปี เศรษฐกิจของอุรุกวัยจึงเข้าสู่ภาวะถดถอย
จนกระทั่งเวลาผ่านมาถึงปี 1903 เมื่อ José Batlle y Ordóñez ได้เป็นประธานาธิบดีของอุรุกวัย
บุคคลผู้นี้คือรัฐบุรุษของอุรุกวัย ที่ปฏิรูปสังคมและการเมือง ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยเน้นถึงการมีเสรีภาพของคนภายในชาติ และความเท่าเทียมของคนในสังคม โดยไม่สนว่าคนนั้นจะเป็นเพศอะไร หรือจะเป็นชนกลุ่มน้อยหรือไม่
และเป็นคนแรกที่ได้นำรัฐสวัสดิการมาใช้ในภูมิภาคแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาและสาธารณสุข ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงมีการนำกฎหมายแรงงานมาใช้ เพื่อไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ ทั้งระบบประกันสังคมและบำนาญ จึงทำให้ชาวอุรุกวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อรวมกับการส่งออกเนื้อวัวที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ชาวอุรุกวัยจึงมีฐานะมั่งคั่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี จนได้รับฉายาว่าเป็น
“สวิตเซอร์แลนด์แห่งอเมริกาใต้”
ดึงดูดผู้อพยพชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวอิตาลีให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายแสนคน
โดยเฉพาะเมืองหลวงกรุงมอนเตวิเดโอ ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครบครัน
ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟ โรงพยาบาล โรงเรียน และสนามกีฬา
เมื่อมีการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก ในปี 1930 ในเวลานั้น หลายชาติในยุโรปกำลังวุ่นวายอยู่กับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ด้วยความพร้อมที่มี กรุงมอนเตวิเดโอของอุรุกวัย จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งในปีนั้นฟุตบอลทีมชาติอุรุกวัย ก็สามารถคว้าชัยชนะได้อีกด้วย
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อุรุกวัยเป็นชาติแรกของโลก ที่เป็นทั้งเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก
แต่สวัสดิการที่ดีเยี่ยมของอุรุกวัยก็นำปัญหามาสู่ประเทศ เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ “Great Depression” ในช่วงทศวรรษ 1930s..
ความต้องการเนื้อสัตว์และขนสัตว์ของยุโรปลดลงอย่างมาก ทำให้อุรุกวัยขาดแคลนรายได้ รัฐบาลที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายเป็นค่าสวัสดิการต่าง ๆ
เกิดการกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ และแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรที่นำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อ
ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วง สังคมอุรุกวัยเข้าสู่ความตกต่ำ ความขัดแย้งในสังคมทำให้มีขบวนการก่อการร้ายเกิดขึ้นในเมืองหลวง ทั้งฆ่าและลักพาตัวชาวอุรุกวัยและชาวต่างชาติ เมื่อรัฐบาลพลเรือนประสบความล้มเหลวในการควบคุม
ทหารก็ทำการยึดอำนาจหลายต่อหลายครั้ง
ปี 1973 อุรุกวัยเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารที่ยาวนานถึง 12 ปี..
รัฐบาลเผด็จการได้กวาดล้างปราบปรามขบวนการก่อการร้าย และศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรง จนทำให้คุกของอุรุกวัยเต็มไปด้วยนักโทษการเมืองมากมาย
จากฉายา “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอเมริกาใต้”
ต้องถูกเปลี่ยนเป็น “ห้องโถงแห่งการทรมานของลาตินอเมริกา”
หลังจากทหารปกครองประเทศอยู่ 12 ปี ในที่สุดชาวอุรุกวัยก็ได้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง
จนประเทศได้กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และได้พัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มตัว
แต่สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการได้ทิ้งไว้ให้ คือปัญหาคอร์รัปชันที่หนักกว่าเดิม..
จนกระทั่งในปี 2004 กลุ่มพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีอุดมการณ์สังคมนิยม
สามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาไว้ได้ และได้เสนอให้ Tabaré Vázquez เป็นประธานาธิบดี
รัฐบาลของ Tabaré Vázquez ได้เล็งเห็นแล้วว่า สิ่งที่กัดกร่อนความก้าวหน้าของอุรุกวัย
มาตลอดหลายร้อยปี ก็คือ “การคอร์รัปชัน”
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังของอุรุกวัย
ในปี 2008 รัฐบาลได้ออกกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐ หรือ Freedom Open Information Act (FOIA) ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน
ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชัน ซึ่งรวมไปถึงการฟอกเงิน
ใครก็ตามที่ทำผิดกฎหมายนี้จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา
กฎหมายทั้งสอง คือจุดเปลี่ยนสำคัญของการบริหารประเทศ
เมื่อการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐสู่สาธารณชน ทำให้เกิดการตรวจสอบได้
เมื่อพบความผิดปกติ ผู้กระทำผิดก็ต้องรับผิดชอบด้วยการรับโทษตามกฎหมาย
ความโปร่งใสของอุรุกวัยจึงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด..
ในปี 1999 อุรุกวัยมีดัชนีความโปร่งใสอยู่ที่ 44 ไม่แตกต่างกับประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้
ระยะเวลาเพียง 10 ปี
ในปี 2009 อุรุกวัยมีดัชนีความโปร่งใสอยู่ที่ 69 ซึ่งทำให้อุรุกวัยเป็นประเทศที่มีดัชนีนี้สูงที่สุดในภูมิภาค
เมื่อความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลก็ทุ่มเทไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง ลอยตัวค่าเงิน ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และแก้ปัญหาการว่างงาน
เวลาผ่านมาจนกระทั่ง José Mujica ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2010
เขาก็ได้สานต่อเจตนาของพรรค ที่เน้นความโปร่งใสทางการเมือง คุณภาพชีวิตของคนในชาติ ความปลอดภัย และแก้ปัญหาความยากจน
ซึ่งในขณะที่ José Mujica ดำรงตำแหน่ง ได้รับฉายาว่าเป็นประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก
เพราะเขาบริจาคเงินมากกว่า 90% ให้กับองค์กรการกุศลต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้เป็นประจำ
แล้วเศรษฐกิจของประเทศนี้ เป็นอย่างไรบ้าง ?
สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของอุรุกวัย จะมีความคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาร์เจนตินา
คือ เนื้อวัว อุรุกวัยเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวได้เป็นอันดับ 10 ของโลก
นอกจากเนื้อวัว ยังมีผลิตภัณฑ์นม ถั่วเหลือง ขนแกะ และธัญพืช ซึ่งสินค้าจากภาคเกษตรกรรมเหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมดของอุรุกวัย
นอกเหนือจากภาคการเกษตรแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างเม็ดเงินให้กับอุรุกวัย โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 อุรุกวัยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากถึง 3.5 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนประชากรอุรุกวัยที่ 3.5 ล้านคน
สร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้ราว 65,000 ล้านบาท
แต่อุรุกวัย เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน
ทำให้ต้องนำเข้าพลังงานมาจากอาร์เจนตินาเป็นจำนวนมาก
อุรุกวัยจึงขาดดุลกับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานาน
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ทางรัฐบาลอุรุกวัย ได้วางแผนที่จะหาทางออกในการลดค่าใช้จ่าย
ในการนำเข้าพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ซึ่งทางออกที่ว่านั่นก็คือ การลงทุนใน “พลังงานหมุนเวียน”
ถึงแม้อุรุกวัยจะมีแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ประมาณ 50% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
แต่ก็ต้องหาทางกระจายไปสู่แหล่งพลังงานอื่น เพื่อจะได้กักเก็บน้ำไว้สำหรับภาคการเกษตร
ในช่วงหน้าแล้ง โดยไม่ต้องนำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ภาครัฐและภาคเอกชนจึงเน้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ โดยเฉพาะพลังงานลม
ซึ่งค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วน จนเป็นเกือบ 40% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ปัจจุบัน อุรุกวัยสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดได้เกือบ 100%
ซึ่งนอกจากจะใช้เพียงพอภายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังอาร์เจนตินาได้อีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลอุรุกวัย ยังมีการสนับสนุนการลงทุน เพื่อก่อตั้งศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีและการเงิน ที่มีชื่อว่า “Zonamerica” ในกรุงมอนเตวิเดโอ
ซึ่งเป็นเขตปลอดภาษี เพื่อที่จะดึงดูดบริษัทจากต่างประเทศ ให้มาตั้งสำนักงานที่อุรุกวัย
ปัจจุบัน Zonamerica เป็นที่ตั้งของบริษัทมากถึง 350 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น CITI, Deloitte, KPMG, PwC, Airbus และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10,000 ตำแหน่ง
ปี 2019 อุรุกวัย มีมูลค่า GDP ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท
เมื่อหารด้วยจำนวนประชากร จะทำให้อุรุกวัยมี GDP ต่อหัวเท่ากับ 490,000 บาทต่อปี
ซึ่งถือเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงที่สุดในทวีปอเมริกาใต้
ปัจจุบัน อุรุกวัยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มีดัชนีความโปร่งใสในปี 2020 อยู่ที่ 71 ซึ่งเป็นอันดับที่ 21 ของโลก
ซึ่งเป็นอันดับที่ดีกว่าฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ เสียอีก
ส่วนเมืองหลวงอย่างกรุงมอนเตวิเดโอ ก็ได้รับการจัดอันดับจาก Mercer
ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในอเมริกาใต้
ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ ล้วนเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า
และสร้างรายได้อย่างมหาศาล แต่เศรษฐกิจกลับประสบความถดถอยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า “คอร์รัปชัน”
แต่อุรุกวัยกลับเลือกเส้นทางที่แตกต่าง
การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และเปลี่ยนการบริหารประเทศไปสู่ความโปร่งใส
ทำให้ประเทศที่เคยเต็มไปด้วยการทุจริตและความขัดแย้งทางการเมืองไม่จบสิ้น
เป็นประเทศที่ประชาชนตรวจสอบการบริหารได้ งบประมาณจากภาษีก็ถูกนำไปแก้ไขปัญหา
และพัฒนาอย่างจริงจัง
เพราะเลือกเส้นทางที่ไม่เหมือนใคร
อนาคตของอุรุกวัยจึงสดใสที่สุด ภายใต้ความมืดมนของอีกหลายประเทศ ในทวีปเดียวกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.cepal.org/sites/default/files/pr/files/table_press_gdp_preliminaryoverview2020-eng.pdf
-https://www.archdaily.com/914434/these-are-the-20-most-livable-cities-in-latin-america-in-2019
-https://www.britannica.com/place/Uruguay/Sports-and-recreation#ref407712
-https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Uruguay
-http://motherearthtravel.com/uruguay/history.htm
-https://www.vox.com/identities/2018/8/20/17938416/marijuana-legalization-world-uruguay-canada-netherlands
-https://www.zeweed.com/jose-mujica-the-first-president-to-legalise-weed/?c=13ac35fba0ac
-https://tradingeconomics.com/uruguay/corruption-index
-https://thaipublica.org/2014/10/latin-america-corruption-perception-2/
-https://www.trade.gov/knowledge-product/uruguay
-https://ourworldindata.org/co2-emissions
-https://www.worlddata.info/america/uruguay/tourism.php
-https://www.fdiintelligence.com/article/76412
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.