ทำไม แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น ได้รับความนิยม ลดลง

ทำไม แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น ได้รับความนิยม ลดลง

13 มิ.ย. 2021
ทำไม แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น ได้รับความนิยม ลดลง /โดย ลงทุนแมน
ย้อนกลับไปในช่วง 10 ถึง 20 ปีก่อน
ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเจ้าแห่งการสร้างสรรค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ที่ได้สร้างความฮือฮาให้กับทั่วโลกไว้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น
เครื่องเล่นเทปคาสเซตต์แบบพกพา หรือ Walkman
เครื่องเล่นแผ่นซีดีและดีวีดี
เครื่องเล่นเกมอย่าง Game Boy และ PlayStation
เครื่องคิดเลขทางวิทยาศาสตร์อย่าง Casio
แต่ปัจจุบัน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะที่เป็นนวัตกรรมระดับโลก
อย่างเช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติมคำว่าสมาร์ตเข้าไป
กลับถูกคิดค้นและพัฒนาโดยสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน เป็นส่วนใหญ่
แล้วทำไมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นผู้นำเท่าเมื่อก่อน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ช่วงทศวรรษ 1970s ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมาเป็นผู้นำด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่โดดเด่นของโลก
โดยเริ่มมาจากการรับเทคโนโลยีจากชาติตะวันตกในช่วงสงคราม และพัฒนาต่อยอด
จนกลายมาเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีได้เอง อย่างเช่นตัวอย่างเหล่านี้
Sony ขายเครื่องเล่นเทปคาสเซตต์แบบพกพา หรือ Walkman เป็นเจ้าแรกของโลก
Toshiba และ Epson ขายแล็ปท็อปในตลาด Mass เป็นเจ้าแรกของโลก
Kyocera ขายโทรศัพท์มือถือที่มีกล้อง เป็นเจ้าแรกของโลก
หรือถ้าลองสังเกตจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รอบตัวเรา ก็มีเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่นอยู่มากมาย
ยิ่งถ้าเป็นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ไอเทมนำสมัยที่ได้รับความนิยมสูงส่วนใหญ่ ก็เป็นแบรนด์จากญี่ปุ่นทั้งนั้น
แล้วอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
ถ้าแบ่งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสองกลุ่มใหญ่
จะแบ่งได้เป็น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
และวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตอย่างเซมิคอนดักเตอร์

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันในตลาดโลก ตัวอย่างเช่น
สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต เจ้าตลาดคือ Samsung และ Apple
แล็ปท็อป เจ้าตลาดคือ Lenovo และ HP
เครื่องซักผ้า เจ้าตลาดคือ Haier และ Whirlpool
ตู้เย็น เจ้าตลาดคือ Haier และ LG
โทรทัศน์ เจ้าตลาดคือ Samsung และ LG
ซึ่งแบรนด์ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน
หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก ก็มีส่วนแบ่งตลาดหลัก ๆ มาจาก
TSMC ของไต้หวัน และ Samsung ของเกาหลีใต้
จะสังเกตได้ว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
เริ่มไม่เห็นชื่อแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
จากมุมมองของอดีตผู้บริหารและพนักงานระดับสูงของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น
รวมไปถึงมุมมองจากนักวิเคราะห์ สามารถรวบรวมเป็นปัจจัย
ที่ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มหายไปจากตำแหน่งผู้นำในตลาดอิเล็กทรอนิกส์ได้ 4 ปัจจัยหลัก
ปัจจัยแรก สินค้าคุณภาพสูง จนเกินความต้องการของผู้ซื้อ
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่น ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ
สะท้อนได้จากปรัชญาในการผลิตที่เรียกว่า “Monozukuri” หรือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์
ที่มีคุณภาพสูงโดยใช้ทักษะและเทคโนโลยี
แต่คุณภาพของสินค้า ก็ต้องตามมาด้วยราคาขายที่สูงขึ้นตาม
ซึ่งคุณภาพบางอย่าง ก็สูงเกินความต้องการของผู้ใช้งานจริง
โดยที่หลายคนไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องจ่ายแพง เพื่อให้ได้ฟังก์ชันการใช้งานเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น
Sony เป็นบริษัทแรก ๆ ของโลกที่ขายโทรทัศน์จอ LCD
ก่อนที่หนึ่งปีให้หลัง Samsung จะวางขายและใช้ชื่อว่าจอ LED แทน
ขณะที่ Sony ใช้กลยุทธ์สินค้าคุณภาพสูงมาก เทคโนโลยีหน้าจอสุดล้ำ
หน้าจอบางที่สุด ส่งผลให้ราคาขายก็สูงขึ้นตามไปด้วย
Samsung กลับเน้นการตั้งราคาแบบเข้าถึงคนส่วนใหญ่ มากกว่ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
จึงคุมต้นทุนการผลิต โดยเลือกเฉพาะฟังก์ชันการใช้งานที่จำเป็นแทน และเน้นที่ดีไซน์
ซึ่งกลยุทธ์แบบ Samsung ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดไปได้มากที่สุด
หรือในการแข่งขันของสมาร์ตโฟน ที่มี iPhone ของ Apple เป็นผู้บุกเบิก
Sony และ Samsung ต่างเข้ามาแข่งขันด้วย ซึ่งทั้งคู่ยังคงใช้กลยุทธ์แบบเดิม
Sony Xperia มีฟังก์ชันการใช้งานครบครัน ในขณะที่ Samsung Galaxy มีหลายรุ่นให้เลือก โดยยอมลดทอนฟังก์ชันการใช้งานลงมา เพื่อให้ตั้งราคาขายแบบเข้าถึงง่าย จึงยืนระยะได้นานและยังคงเป็นแบรนด์สมาร์ตโฟนอันดับต้น ๆ ของโลก
ปัจจัยที่สอง ให้ความสำคัญเรื่องการตลาดน้อยเกินไป
บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น เน้นการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี เช่น การคิดค้นสินค้ารุ่นใหม่ที่บางสุด มีขนาดเล็กที่สุด แต่ยังขาดปัจจัยที่มีผลโดยตรงกับลูกค้า นั่นคือดีไซน์ ความง่ายในการใช้งาน และวิธีการสื่อสารกับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น
ปี 2004 Sony ขายอุปกรณ์อ่านอีบุ๊กที่ชื่อว่า Librie เป็นเจ้าแรกของโลก
ก่อนหน้าที่ Amazon จะขาย Kindle นานถึง 3 ปี
แต่เหตุผลที่ Kindle กลายมาเป็นเจ้าตลาดอุปกรณ์อ่านอีบุ๊ก
นอกเหนือจากการที่ใช้งานง่ายกว่าแล้ว
Amazon โฟกัสที่การขายอีบุ๊กมากกว่าตัวอุปกรณ์อ่าน
ในขณะที่ Sony โฟกัสที่การขายตัวอุปกรณ์อย่างเดียว
Kindle จึงเชื่อมโยงถึงผู้ซื้อได้มากกว่า
ในด้านของเหตุผลที่ว่าซื้ออุปกรณ์นี้ไปเพื่ออะไร
และกลายมาเป็นเจ้าตลาดในที่สุด
ปัจจัยที่สาม โดดเด่นในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ แต่ไม่ถนัดพัฒนาซอฟต์แวร์
สินค้าที่แบรนด์จากญี่ปุ่นคิดค้นแล้วประสบความสำเร็จ มักเป็นการพัฒนาที่ตัวอุปกรณ์และเครื่องกล
อย่างเช่นเครื่องเล่น Walkman, เครื่องเล่นซีดี และเครื่องเล่นเกม ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากในช่วงที่เริ่มวางขาย แต่สินค้าเหล่านี้ไม่ได้มีระบบปฏิบัติการ หรือระบบนิเวศที่ดึงให้ผู้ใช้งานยังคงใช้ฮาร์ดแวร์เหล่านั้นไปเรื่อย ๆ
ในขณะที่การคิดค้นระบบปฏิบัติการของ Apple เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำฮาร์ดแวร์ให้เป็นมากกว่าฮาร์ดแวร์
iOS และ macOS ได้เข้ามามีบทบาททำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์เติบโตแบบก้าวกระโดด
โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งยังไม่ถนัดในเรื่องนี้ จึงไล่ตามประเทศที่เป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์อย่างสหรัฐอเมริกาไม่ทัน
ปัจจัยสุดท้าย มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี ด้วยตัวเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำในญี่ปุ่น
ในทศวรรษ 1990s รู้หรือไม่ว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง NEC ครองส่วนแบ่งตลาดเซมิคอนดักเตอร์
มากที่สุดในโลก และยังมี Toshiba กับ Hitachi ที่มีส่วนแบ่งตลาดรองลงมา
แต่ในทศวรรษ 2000s ผู้นำในตลาดเซมิคอนดักเตอร์กลายเป็น Intel จากสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ Samsung จากเกาหลีใต้เริ่มไล่ตามมาติด ๆ
ปี 2002 Hitachi จึงจับมือกับ Mitsubishi ร่วมกันตั้งบริษัทผลิตชิปที่ชื่อว่า Renesas
เพื่อช่วยพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ไปด้วยกัน และปกป้องตำแหน่งผู้นำในตลาด
ก่อนที่ NEC จะเข้ามาควบรวมในอีก 7 ปีถัดมา
แต่การร่วมมือกันคิดค้นเทคโนโลยีผลิตชิปด้วยตัวเอง มีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ช้า
ขณะที่ช่วงนั้น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ใช้กลยุทธ์แบบที่ญี่ปุ่นเคยทำในอดีต
นั่นคือเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศอื่น
แล้วนำมาต่อยอด ซึ่งกลยุทธ์แบบนี้มีจุดแข็งที่สำคัญคือ ความเร็ว
นั่นจึงทำให้ปัจจุบัน TSMC จากไต้หวัน และ Samsung จากเกาหลีใต้
กลายเป็นผู้นำในการผลิตชิปได้ในที่สุด
และทั้งหมดนี้ คือปัจจัยหลัก ที่ทำให้แบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น
เริ่มหายไปจากตำแหน่งผู้นำในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ยิ่งในช่วงหลังปี 2010 ที่สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตกลายมาเป็นสินค้าจำเป็น
และแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดในสินค้าเหล่านั้น ก็พัฒนาสินค้าประเภทอื่น
จนเป็นผู้นำในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปได้เกือบทุกประเภท
ขณะที่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น กลับต้องผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน
บางบริษัทต้องเผชิญการขาดทุนอย่างหนัก จนต้องหาทางอยู่รอดกันต่อไป ยกตัวอย่างเช่น
Sharp ขายกิจการให้ Foxconn ของไต้หวันไปแล้ว
Panasonic ควบรวมกับ Sanyo
ขณะที่บริษัทที่ได้ไปต่อ ก็ยังคงมีผลประกอบการที่ตามหลังคู่แข่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลให้งบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา มีน้อยลงไปด้วย การเร่งความเร็วในการไล่ตามคู่แข่ง จึงทำได้ไม่ง่ายนัก
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น
จะแก้เกมจนกลับสู่การเป็นผู้นำในตลาดโลกได้อีกครั้งหรือไม่
หรือจะเสียตำแหน่งไป แบบไม่มีวันทวงคืน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.wsj.com/articles/SB10000872396390444840104577551972061864692
-https://www.bbc.com/news/world-asia-21992700
-https://money.cnn.com/2017/05/04/technology/japanese-companies-fall-toshiba-olympus-sanyo-sharp/index.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Electronics_industry
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Japanese_inventions_and_discoveries#Audio_technology
-https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/appliances-market
-https://www.icinsights.com/news/bulletins/Lone-Japanese-Semiconductor-Supplier-Ranked-Among-Top-10-In-1H13/
-https://technology.inquirer.net/89835/from-sony-to-samsung-how-tech-leadership-migrated-from-japan-to-korea
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.