ทำไม “เก่งฟัง” ถึงสำคัญไม่แพ้ เก่งพูด

ทำไม “เก่งฟัง” ถึงสำคัญไม่แพ้ เก่งพูด

2 ก.ค. 2021
ทำไม “เก่งฟัง” ถึงสำคัญไม่แพ้ เก่งพูด | THE BRIEFCASE
ทุกวันนี้ในโลกการทำงาน ความสามารถในการพูดและการพรีเซนต์ ถือเป็นหนึ่งความสามารถที่สำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นตามหนังสือ บทความ หรือแม้แต่พอดแคสต์ ที่เราฟังกัน
ก็มักจะมีเทคนิคการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้เราได้เห็นกันบ่อย ๆ
แต่ในขณะเดียวกันนั้น เมื่อมีผู้พูดย่อมต้องมีผู้ฟัง..
แม้แต่การพูดที่ดีที่สุด ก็อาจจะไม่ใช่การสื่อสารที่ดีที่สุดหากขาดการฟังที่ดี
“การฟัง” จึงเป็นอีกหนึ่งความสามารถที่สำคัญไม่แพ้ความสามารถด้านอื่น ๆ
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจว่าการฟังที่ดีนั้นเป็นอย่างไร
และอะไรคือปัญหาในการฟังของเรา ที่อาจทำให้เราไม่ใช่ ผู้ฟังที่ดีเท่าที่ควร
การฟังที่ดีคืออะไร ?
Jon Kabat-Zinn (จอน คาบัท ซินน์) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์
ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งการเจริญสติทางการแพทย์ ได้บอกว่า
การฟังที่ดี คือ การที่เรามุ่งความสนใจและสมาธิของเราไปที่ผู้พูดว่า เขาต้องการจะสื่อสารอะไร
โดยที่เราต้องไม่มีอคติกับทั้งตัวผู้พูด และเนื้อหาที่เรากำลังฟัง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้การฟัง และการได้ยินนั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หรือพูดง่าย ๆ คือ การได้ยิน คือการที่ร่างกายของเรารับรู้ถึงเสียงที่ผ่านเข้ามาในหู
แต่ความสนใจและสมาธิของเราไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ทำให้ไม่สามารถจับใจความได้
ในขณะเดียวกัน การฟัง คือการที่เราได้ยิน แต่ความสนใจและสมาธิของเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ได้ยิน
ทำให้เราเข้าใจ และสามารถตีความ รวมถึงวิเคราะห์เนื้อหาที่เราได้ยินได้
แล้วเราควรทำอย่างไรให้การฟังของเรานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และทำให้เรากลายเป็น “ผู้ฟังที่ดี”
1. สบตาและคอยสังเกตท่าทางของผู้พูด
การสบตาพร้อมกับการสังเกตท่าทีของผู้พูด ช่วยให้เรารับรู้ได้ถึงอารมณ์ของผู้พูด
ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อได้ดีกว่าการฟังแค่เนื้อหาเฉย ๆ
อีกทั้งการสบตา ยังทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรามีความกระตือรือร้นที่จะฟังจริง ๆ อีกด้วย
2. เปิดใจและคิดตามสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสาร
ดูแล้วเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เนื่องจากทุกคนมักมีความคิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และการที่ต้องเปิดใจและคิดตามสิ่งที่อีกฝ่ายพูดนั้น
หลายครั้งเรามักนำความคิดของเราไป “ตัดสิน” เนื้อหาเหล่านั้นก่อนที่จะฟังจบด้วยซ้ำ
แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราลองลบความคิด และอคติของเราออกไป แล้วตั้งใจฟัง
สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อจริง ๆ ก็จะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาเหล่านั้นได้ดีขึ้น
3. ไม่พูดแทรก ในระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังพูด
ผู้พูดหลายคนคงเคยพบกับปัญหา โดนผู้ฟังบางคนพูดแทรกขึ้นมาเป็นระยะ ๆ
ในขณะที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่ จนทำให้ผู้พูดไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารได้จริง ๆ
ฉะนั้นหากเราเป็นผู้ฟังที่ดี ทางที่ดีควรรอให้ผู้พูด พูดให้จบก่อนแล้วเราค่อยถามหรือเสนอความเห็นของเรา
4. ถามคำถามเพื่อทบทวนความเข้าใจ
จุดประสงค์ในการฟังที่ดี คือ ความต้องการที่จะเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อสารกับเราให้ดีที่สุด
เพราะฉะนั้นคำถามควรเป็นการถามเพื่อ ทวนว่าเราเข้าใจถูกต้องไหม
หรือถามเพิ่มเติมในจุดที่เรายังคงสับสนอยู่
แต่จริง ๆ แล้วปัญหาหลักในการฟัง คืออะไรกันแน่ ?
หากอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสังเกตเห็นแล้วว่าปัญหานั้น คือ “ความคิดและความอคติของเรา”
บ่อยครั้งที่เรานำเอาความคิดและอคติของเรามาตัดสินสิ่งที่กำลังฟัง ก่อนที่จะฟังจบ
ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารผิดเพี้ยนไป
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จากการนำความคิดของเรามาตัดสินก็มีหลายเรื่อง เช่น
- การเลือกฟัง
หรือก็คือแทนที่เราจะฟังเนื้อหาทั้งหมดแบบตั้งใจ แต่เรากลับเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่เราเห็นด้วย
- ฟังเพื่อที่จะโต้แย้ง
อาจดูเหมือนการฟังทั่วไป แต่ในขณะที่เรากำลังฟังอยู่ เราไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ
แต่เป็นการฟังเพื่อที่จะหาจุดที่เราสามารถโต้ตอบและใส่ความคิดของเราเข้าไปแทน
ทำให้เกิดการพูดแทรกขึ้นมาบ่อย ๆ หรือบางครั้งทำให้เราเปลี่ยนจากผู้ฟังกลายเป็นผู้พูดแทน
ซึ่งหากย้อนกลับไปที่ความหมายของการฟังที่ดีในตอนต้นว่าการฟังที่ดี
คือ “การที่เรามุ่งความสนใจและสมาธิของเราไปที่ผู้พูด ว่าเขาต้องการจะสื่อสารอะไร
โดยที่เราต้องไม่มีอคติกับทั้งตัวผู้พูด และเนื้อหาที่เรากำลังฟัง”
ฉะนั้น “การเป็นผู้ฟังที่ดี” ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งใจฟังอย่างไม่มีอคติ
แต่รวมถึงการให้ความเคารพกับผู้ที่กำลังพูดอยู่ด้วย
เพราะการที่เราคอยพูดแทรกนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเสียมารยาทต่อผู้พูด
แต่เป็นการเสียมารยาทต่อการฟังของผู้อื่นที่กำลังตั้งใจฟังอยู่ด้วย
ถึงแม้เราจะมีความคิดเป็นของตัวเอง จนอยากจะพูดแทรกออกไป ก็ขอให้อดทนไว้
แล้วลองฟังผู้พูดคนนั้นให้จบก่อน ไม่แน่ว่าบางทีการที่เราตั้งใจฟังอย่างไม่มีอคติ
อาจทำให้เราได้พบกับมุมมองใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนชีวิตของเราไปเลยก็ได้..
References:
-https://www.forbes.com/sites/womensmedia/2012/11/09/10-steps-to-effective-listening/?sh=34f1ed3b3891
-https://www.ceochannels.com/how-to-listen-for-success/
-https://www.urbinner.com/post/deep-listening
-https://www.mindful.org/deep-listening/
-https://www.newheartawaken.com/guru/25
-https://en.wikipedia.org/wiki/Jon_Kabat-Zinn
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.