กรณีศึกษา คนเชื้อสายเลบานอน อยู่ในบราซิล มากกว่าประเทศตัวเอง

กรณีศึกษา คนเชื้อสายเลบานอน อยู่ในบราซิล มากกว่าประเทศตัวเอง

10 ก.ค. 2021
กรณีศึกษา คนเชื้อสายเลบานอน อยู่ในบราซิล มากกว่าประเทศตัวเอง /โดย ลงทุนแมน
211 ล้านคน คือจำนวนประชากรในบราซิล
ทำให้ประเทศแห่งนี้ มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
ซึ่งนอกจากมีคนมากแล้ว บราซิลยังถือเป็นหนึ่งในประเทศ
ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากด้วย
เพราะบราซิลอยู่ในดินแดนใหม่ที่ถูกค้นพบโดยชาวตะวันตก
โดยปัจจุบันมีชาวพื้นเมืองเดิมที่อยู่ในบราซิลเป็นจำนวนไม่มาก
ประชากรจำนวนมากในบราซิล เป็นลูกหลานของผู้อพยพรุ่นแรกจากยุโรป เช่น โปรตุเกส และอิตาลี
รวมทั้งยังมีลูกหลานของผู้อพยพจากญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพมายังบราซิล
นั่นคือคนเชื้อสายเลบานอน จนทำให้ตอนนี้มีคนเชื้อสายเลบานอนในบราซิลกว่า 8 ล้านคน
ซึ่งจำนวนนี้ มากกว่าประชากรในเลบานอนเอง ที่มีอยู่ 6.9 ล้านคนเสียอีก
เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปัจจุบันเลบานอนมีประชากรในประเทศกว่า 6.9 ล้านคน
โดยประชากรในเลบานอนนับถือศาสนาอิสลามประมาณ 60%
ศาสนาคริสต์ประมาณ 35%
ที่เหลือเป็นศาสนาอื่น ๆ
ในอดีต เลบานอนเคยเป็นประเทศที่มีประชากรชาวคริสต์มากกว่าชาวมุสลิม
แต่สาเหตุที่ทำให้สัดส่วนของชาวคริสต์ลดลงมาเหลือ 35%
และกลายมาเป็นชนกลุ่มน้อยก็คือ ความขัดแย้งทางศาสนา
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับช่วงที่อาณาจักรออตโตมัน
ซึ่งเป็นอาณาจักรมุสลิมที่มีความแข่งแกร่งมากที่สุดในขณะนั้น สามารถเข้าครอบครองดินแดนในแถบตะวันออกกลางมากมาย รวมไปถึงเลบานอน
เรื่องนี้ทำให้ชาวคริสต์ต้องกลายเป็นประชากรชั้น 2 ของประเทศ
ตามมาด้วยความขัดแย้งทางศาสนา และเหตุการณ์ความรุนแรง ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์เรื่อยมา
จนเริ่มมีชาวเลบานอนทยอยอพยพไปยังหลายประเทศในยุโรป
ในช่วงเวลาเดียวกันอีกฟากหนึ่งของโลกในแถบอเมริกาใต้
หลายประเทศกำลังได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม
ประเทศในแถบนี้ กำลังเพลิดเพลินไปกับการพัฒนาชาติ
จากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่อดีตเจ้าอาณานิคมได้เคยวางไว้
รวมกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “บราซิล”
ในช่วงนั้นบราซิลมีการปกครองประเทศแบบราชาธิปไตย คือยังปกครองประเทศด้วยกษัตริย์
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เกิดขึ้นในสมัยที่จักรพรรดิเปดรูที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี 1831
ซึ่งตอนนั้นบราซิลมีขนาดพื้นที่ประมาณ 8.3 ล้านตารางกิโลเมตร และยังมีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน
เนื่องจากขนาดที่กว้างใหญ่ของประเทศ รวมกับทรัพยากรธรรมชาติที่มากมาย แต่ยังขาดแคลนแรงงาน
บราซิลจึงมีนโยบายต้อนรับผู้อพยพ เพื่อให้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกษตร และเริ่มมีคนจากทวีปยุโรปอพยพมาบราซิลจำนวนมาก เช่น ชาวโปรตุเกส ชาวอิตาลี และชาวเยอรมัน
นอกจากนั้น ในปี 1870 จักรพรรดิเปดรูที่ 2 ยังเสด็จไปเยือนดินแดนต่าง ๆ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรี
โดยหนึ่งในดินแดนที่พระองค์เสด็จไป
ก็คือดินแดนเลบานอน ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิออตโตมัน
โดยหนึ่งในภารกิจของพระองค์นอกจากการสร้างสัมพันธไมตรีแล้ว
ยังมีการเชิญชวนชาวเลบานอนที่กำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง
ให้ไปเป็นแรงงานสำคัญในอุตสาหกรรมเกษตร และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบราซิล
ทำให้ชาวคริสต์เลบานอนและชาวยิวจำนวนหนึ่ง
ตัดสินใจอพยพไปยังดินแดนแห่งใหม่ที่ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสอย่างบราซิล
การอพยพครั้งนี้เอง ที่ทำให้บราซิล เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของชาวเลบานอนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ซ้ำด้วยการเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งครั้งสำคัญ
คือความพ่ายแพ้ของอาณาจักรออตโตมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1
ที่ส่งผลให้อาณาจักรออตโตมันล่มสลายหลังจากนั้นไม่นาน
ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
โดยเฉพาะดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมันอย่างเลบานอน
ชาวเลบานอนที่เจอปัญหาความขัดแย้งทางศาสนามาก่อนหน้า
บวกกับต้องมาเจอปัญหาเศรษฐกิจขาลงของประเทศจากภาวะสงคราม
กลายเป็นอีกคลื่นลูกสำคัญที่ทำให้คนในประเทศ
อพยพไปแสวงหาโอกาสใหม่ที่ดีกว่าในต่างแดน
โดยหนึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญคือดินแดนในอเมริกาใต้
ที่ผู้ปกครองของพวกเขาเคยมาเชิญชวนให้พวกเขาอพยพไป อย่างบราซิล
คลื่นความเปลี่ยนแปลงอีกระลอก เกิดขึ้นในปี 1975
เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ขึ้นอีกครั้ง
ซึ่งเป็นสงครามที่มีความรุนแรงกว่าในอดีตมาก
สงครามดังกล่าวกินเวลานานถึง 15 ปี
และยังเปรียบเสมือนสงครามตัวแทน ที่มีผู้สนับสนุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาวคริสต์ที่มีผู้สนับสนุนหลักเป็นอิสราเอล และชาวมุสลิมที่สนับสนุนโดยชาติอาหรับมุสลิม
บาดแผลจากศึกสงครามจากทั้งในและนอกประเทศมากมาย
ทำให้ชาวเลบานอนจำนวนมากหมดความอดทน
ความฝันของชาวเลบานอนที่จะได้ยิ้มอย่างมีความสุขในบ้านเกิดตัวเอง กลายเป็นต้องการอพยพไปอยู่ในประเทศที่มีโอกาสมากกว่า
และคราวนี้ ไม่เพียงแค่ชาวคริสต์เท่านั้นที่อพยพไปนอกประเทศ แต่ยังรวมไปถึงชาวมุสลิมด้วย
ปัจจุบันมีชาวเลบานอน ทั้งสัญชาติเลบานอน
และที่มีเชื้อสายเลบานอนแต่ถือสัญชาติอื่น กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งสิ้นประมาณ 14 ล้านคน
โดยเป็นชาวเลบานอนที่อาศัยอยู่ในบราซิลมากถึง 8 ล้านคน
ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรในเลบานอนที่มีอยู่ประมาณ 6.9 ล้านคน เสียอีก..
ชาวเลบานอนสามารถกลมกลืนกับวัฒนธรรมบราซิลได้อย่างลงตัว
ด้วยหน้าตาของชาวเลบานอนที่ไม่ได้มีความแตกต่างกับชาวยุโรปที่อพยพในบราซิลมากนัก
และด้วยมีผิวขาว จมูกโด่ง จึงทำให้ชาวบราซิลเชื้อสายเลบานอนถูกเหมารวมไปกับคนยุโรปผิวขาวในบราซิล
ชาวเลบานอนนำความเก่งในเรื่องการค้าขายและการเงินที่พวกเขามีมาตั้งแต่อดีตมาต่อยอด
จนมีชาวบราซิลเชื้อสายเลบานอน ที่สามารถสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ และยังเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่กำหนดทิศทางของบราซิล อยู่มากมาย
ยกตัวอย่างเช่น
1. คุณ Joseph Safra อดีตบุคคลที่รวยที่สุดในบราซิล
ผู้นำอาณาจักร Safra Group ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและการธนาคารในอเมริกาใต้และยุโรป
ในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขามีทรัพย์สินที่ถูกประเมินไว้กว่า 600,000 ล้านบาท
โดยครอบครัวของเขาอพยพจากเลบานอนมายังบราซิลในตอนที่เขามีอายุได้เพียง 14 ปี
2. คุณ Michel Temer อดีตประธานาธิบดีคนที่ 37 ของบราซิล ซึ่งพ่อแม่ของเขาอพยพมาจากเลบานอน
3. คุณ José Maria Alkmin อดีตรองประธานาธิบดีของบราซิล ซึ่งพ่อแม่ของเขาอพยพมาจากเลบานอน
นี่ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของเลบานอน
ที่มีคนอพยพออกจากประเทศเรื่อยมา เพราะประชาชนในประเทศไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ในแบบที่พวกเขาต้องการ และมองว่าการอพยพไปที่อื่นมีอนาคตที่ดีกว่า
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ก็อาจทำให้เลบานอน ขาดทรัพยากรบุคคลเก่ง ๆ ที่จะพัฒนาประเทศ
ในขณะเดียวกัน
คนเชื้อสายเลบานอนหลายคน กลับกลายมาเป็นคนสำคัญของประเทศอื่น และหนึ่งในนั้นก็คือ บราซิล..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/
-https://web.archive.org/web/20150923004630/http://www.itamaraty.gov.br/index.php?option=com_content&view=article&id=7223:lebanese-republic&catid=155&lang=en&Itemid=478
-https://anba.com.br/en/book-features-the-role-of-dom-pedro-ii-in-arab-immigration/
-https://www.ccab.org.br/en/news/book-features-the-role-of-dom-pedro-ii-in-arab-immigration
-https://anba.com.br/en/lebanese-immigration-to-be-celebrated-at-the-theater-stage/
-http://www.dailystar.com.lb/Business/Lebanon/2004/Jul-22/1572-the-lebanese-immigrants-who-became-brazils-business-leaders.ashx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.