วิธีพาองค์กรให้เป็นสุดยอด ของเหล่าซีอีโอ บริษัทชื่อดัง

วิธีพาองค์กรให้เป็นสุดยอด ของเหล่าซีอีโอ บริษัทชื่อดัง

29 ก.ค. 2021
วิธีพาองค์กรให้เป็นสุดยอด ของเหล่าซีอีโอ บริษัทชื่อดัง | THE BRIEFCASE
นักลงทุนระดับตำนานอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ว่า หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จขององค์กร คือการ “เลือกผู้บริหารที่ดี”
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้บริหารคือคนที่มีบทบาทต่อบริษัทอย่างมาก
สำคัญถึงขนาดที่ช่วยให้ จากบริษัทที่อยู่ในจุดอิ่มตัวแล้ว กลายเป็นบริษัทที่กลับมาเติบโตได้หลายเท่าตัวอีกครั้ง หรือแม้แต่บริษัทที่กำลังจะล้มละลาย ก็สามารถกลายมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดได้อีกครั้ง
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพาทุกคนมารู้จักกับ เหล่าผู้บริหารที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงบริษัทไปอย่างมาก
จะมีใครบ้าง และเขาเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงบริษัทได้มากน้อยเพียงใด
THE BRIEFCASE จะเล่าให้ฟัง
เริ่มต้นคนแรกกันที่ ลิซ่า ซู CEO ของบริษัท Advanced Micro Devices หรือ AMD
ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาชิปประมวลผลและการ์ดจอ โดยมีผลิตภัณฑ์สำหรับนักเล่นเกมไปจนถึงลูกค้าระดับองค์กร
จุดเริ่มต้นของ ลิซ่า ซู กับ AMD เริ่มขึ้นในปี 2012
เธอเข้ามาในตำแหน่งรองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของ AMD จนในปี 2014 เธอได้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง CEO
โดยในช่วงที่เธอเข้ามานั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงที่แย่ที่สุดช่วงหนึ่ง ของบริษัทเลยก็ว่าได้
ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2015 บริษัท AMD มียอดขายลดลง และขาดทุนติดต่อกัน 4 ปี
AMD มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 25% ในขณะที่ คู่แข่งโดยตรงอย่าง Intel ครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 75%
สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักของ AMD ในช่วงนั้น ทำให้ในช่วงปี 2014 ราคาหุ้นของบริษัท ลดลงกว่า 40% จนมูลค่าบริษัทเหลือเพียง 56,000 ล้านบาท
สิ่งที่เธอทำหลัก ๆ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ของบริษัท มี 2 อย่าง
1. หาจุดโฟกัสใหม่เพื่อสร้างการเติบโต
โดยสิ่งแรกคือโฟกัสไปที่ตัวผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง
จนในปี 2017 AMD สามารถคิดค้น “Zen Architecture” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทพลิกกลับมาทำกำไรและสามารถเติบโตได้ ในเวลาต่อมา
2. ปรับโครงสร้างทางด้านค่าใช้จ่าย
อีกหนึ่งสิ่งที่เธอทำคือ การจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การปลดพนักงานบางส่วน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ ลิซ่า ซู ขึ้นเป็นผู้บริหาร จนถึงปัจจุบัน บริษัท AMD นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าจับตาอีกครั้ง
ปี 2014 รายได้ 171,787 ล้านบาท ขาดทุน 12,573 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 304,605 ล้านบาท กำไร 77,688 ล้านบาท
ส่วนแบ่งตลาด CPU เพิ่มขึ้น จาก 25% กลายเป็น 40%
มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 56,000 ล้านบาท กลายเป็น 3.7 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 ปี
คนต่อมาคือ บ็อบ ไอเกอร์ อดีต CEO The Walt Disney Company
จุดเริ่มต้นของ บ็อบ ไอเกอร์ กับ Disney เกิดขึ้นเมื่อปี 1995
ทาง Disney ได้ซื้อสถานีโทรทัศน์ ABC ที่บ็อบทำงานอยู่ จึงทำให้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับ Disney และในปี 2005 เขาได้ขึ้นมารับตำแหน่ง CEO แบบเต็มตัว
ย้อนกลับไปช่วงปี 2000 ถึง 2004 ในช่วงนั้น Disney ผลิตภาพยนตร์มากถึง 30 ถึง 40 เรื่องต่อปี แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาด..
เพราะแม้จะสามารถผลิตภาพยนตร์ได้มาก แต่คุณภาพกลับไม่ดีมากพอ ทำให้ Disney สามารถครองส่วนแบ่งตลาดรายได้จากการฉายภาพยนตร์ได้เพียง 13.5%
จนกระทั่งปี 2005 Disney ได้แต่งตั้ง บ็อบ ไอเกอร์ ให้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารเต็มตัว
สิ่งที่ บ็อบ ไอเกอร์ ทำมี 3 อย่างด้วยกัน
1. โฟกัสไปที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ
ลดการผลิตภาพยนตร์ลง จากเดิมที่ Disney ผลิตภาพยนตร์มากถึง 40 เรื่อง
ลดลงเหลือเพียง 15 เรื่องต่อปีเท่านั้น เพื่อที่จะได้โฟกัสไปที่คุณภาพของภาพยนตร์แต่ละเรื่องมากขึ้น
2. เน้นความหลากหลายของภาพยนตร์ให้มากขึ้น
ขยายจักรวาลภาพยนตร์ให้มากขึ้น จากการควบรวมบริษัทภาพยนตร์ระดับโลก
โดย Disney ทำการเข้าซื้อ
Pixar ปี 2006
Marvel ปี 2009
LucasFilm ปี 2012
20th Century Fox ปี 2018
จากกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้ปี 2019 Disney สามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดไปได้ถึง 35% ซึ่ง ณ เวลานั้นถือได้ว่าเป็นส่วนแบ่งการตลาดภาพยนตร์ ที่มากที่สุดของ Disney ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
3. มุ่งเข้าสู่ตลาดออนไลน์สตรีมมิง Disney+
การเข้าสู่ตลาดออนไลน์สตรีมมิงผ่าน Disney+ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น จากการเปิดตัวของ Disney+ ไปได้เพียง 1 ปี 6 เดือน แพลตฟอร์มก็มีผู้ใช้บริการสูงถึง 103.6 ล้านรายจาก 65 ประเทศทั่วโลก
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 บ็อบ ไอเกอร์ ได้ประกาศลงจากตำแหน่ง CEO แต่ยังคงทำงานอยู่กับ Disney ในตำแหน่งกรรมการบริหารแทน
แล้วนับตั้งแต่วันที่ บ็อบ ไอเกอร์ ขึ้นเป็นผู้บริหาร ในปี 2005 จนถึงวันที่เขาลงจากตำแหน่งในปี 2020
บริษัท Disney เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ?
ปี 2005 รายได้ 1 ล้านล้านบาท กำไร 81,000 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 2.2 ล้านล้านบาท กำไร 356,000 ล้านบาท
มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น จาก 1.5 ล้านล้านบาท กลายเป็น 6.8 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 ปี
อีกคนที่น่าสนใจคือ สัตยา นาเดลลา CEO ของบริษัท Microsoft Corporation
สัตยา นาเดลลา เริ่มเข้ามาทำงานที่ Microsoft ครั้งแรกเมื่อปี 1992 ตำแหน่งพนักงานทั่วไป และได้ขึ้นเป็น CEO ในปี 2014
โดยช่วงก่อนที่เขา จะขึ้นเป็น CEO ของบริษัท พันธกิจเดิมของ Microsoft คือ “Microsoft ต้องการจะเป็นซอฟต์แวร์ ที่อยู่บนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องบนโลก” ซึ่งเป็นพันธกิจที่ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
ในช่วงที่เขาขึ้นรับตำแหน่ง ราคาหุ้นของ Microsoft แทบไม่ขยับไปไหน เป็นเวลา 15 ปี
สัตยา นาเดลลา รู้ว่า Microsoft กำลังจะเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว หากไม่ทำอะไรที่แตกต่าง บริษัทคงไม่สามารถเติบโตได้แน่
สิ่งที่เขาทำคือ ปรับโมเดลธุรกิจของ Microsoft ให้หันมาโฟกัสธุรกิจ Cloud มากขึ้น
ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีคือ Azure และ Office 365 ซึ่งเป็นโมเดลแบบ Subscription ทำให้มีรายได้ประจำจากทั้งลูกค้ารายบุคคลและองค์กรเพิ่มขึ้น จากแต่ก่อนที่จ่ายเงินซื้อครั้งเดียวแล้วจบ
ปี 2014 รายได้ 2.8 ล้านล้านบาท กำไร 0.7 ล้านล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 4.6 ล้านล้านบาท กำไร 1.4 ล้านล้านบาท
มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 12.3 ล้านล้านบาท เป็น 64.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 ปี
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงสรุปได้ว่าสิ่งที่ผู้บริหารเหล่านี้ทำเหมือนกันคือ
1. โฟกัสให้ถูกจุด
การเข้าใจธรรมชาติของแต่ละธุรกิจ และที่สำคัญคือเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร จะทำให้เราโฟกัสได้ถูกจุดมากขึ้น
อย่างในกรณีของ ลิซ่า ซู ที่เข้าใจว่าลูกค้าต้องการชิปเซตที่มีคุณภาพ เธอจึงผลิต Zen Architecture ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้
2. พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง
การไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังยึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ เกิดขึ้นจากสิ่งที่เคยทำจนประสบความสำเร็จ และอาจทำให้บริษัทเกิดปัญหาในภายหลังได้ ผู้บริหารที่ดี จึงควรพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับ บ็อบ ไอเกอร์ ที่มุ่งเข้าสู่ตลาด Streaming หรือ สัตยา นาเดลลา ที่ปรับโมเดลของ Microsoft สู่ธุรกิจ Cloud และโมเดลรายได้แบบ Subscription
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้
หากเราเปรียบบริษัทเป็นรถยนต์ และเปรียบผู้บริหารเป็นคนขับ
แน่นอนว่ารถยนต์ที่มีสมรรถนะที่ดีย่อมทำให้เราถึงจุดหมายได้ไว
แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสามารถของ “คนขับ” ว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใด
อย่างที่ Dominic Toretto ตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious ได้กล่าวไว้ว่า
เครื่องยนต์จะแรงแค่ไหนไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ “ใครอยู่หลังพวงมาลัย” ต่างหาก..
References:
-https://companiesmarketcap.com/walt-disney/marketcap/
-https://www.longtunman.com/19271
-https://www.youtube.com/watch?v=Gu7eY_wEhvo
-Disney Annual Report 2005, Form 10-K
-https://www.longtunman.com/13376
-https://www.jitta.com/stock/nasdaq:msft/factsheet
-Microsoft Annual Report 2020
-https://www.longtunman.com/30041
-https://companiesmarketcap.com/amd/marketcap/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.