Daniel Ek จากเด็กหนุ่มที่เคยหลงผิด สู่ผู้ก่อตั้ง Spotify

Daniel Ek จากเด็กหนุ่มที่เคยหลงผิด สู่ผู้ก่อตั้ง Spotify

9 ส.ค. 2021
Daniel Ek จากเด็กหนุ่มที่เคยหลงผิด สู่ผู้ก่อตั้ง Spotify | THE BRIEFCASE
หากพูดถึงบริการสตรีมมิงเพลงและพอดแคสต์
เชื่อว่าคำตอบในใจของหลาย ๆ คนคงหนีไม่พ้น “Spotify”
ด้วยรูปแบบการใช้งานที่ง่าย และ AI ที่รู้ใจผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ เป็นอย่างดี
ปี 2020 Spotify มีรายได้ 308,841 ล้านบาท
มีจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่อเดือนทั้งหมดอยู่ที่ 365 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นสมาชิกที่จ่ายค่าบริการ Subscription ทั้งหมด 165 ล้านคน
และปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท
ซึ่งคนสำคัญ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ คือชายที่ชื่อว่า “Daniel Ek”
รู้หรือไม่ว่า ก่อนจะมีทุกวันนี้ เขาเคยเป็นเด็กหนุ่มที่หลงผิด ใช้เงินไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือย จนชีวิตพังลงและเขาได้กลายเป็นโรคซึมเศร้า
จากคนที่เคยล้มเหลวเพราะหลงระเริงในความร่ำรวย แต่ปัจจุบันกลายเป็น เจ้าของแพลตฟอร์ม ที่มีผู้ใช้งานกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก
เรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร ?
Daniel Ek เกิดเมื่อปี 1983 ในย่านร็อคสเวด เมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
เขาเกิดมาในครอบครัวนักดนตรี มีคุณยายเป็นนักร้องโอเปร่า คุณตาเป็นนักเปียโน ส่วนพ่อแท้ ๆ ของเขานั้นจากไปตั้งแต่เขายังเล็ก ทำให้เขาได้มาใช้ชีวิตอยู่กับพ่อเลี้ยง ซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงไอที
เมื่อครอบครัวเดิมมีความสามารถด้านดนตรี ส่วนพ่อเลี้ยงก็มีความสามารถด้านไอที ทำให้เขาโตมาพร้อมกับทักษะทั้ง 2 อย่างนี้
เมื่ออายุได้ 13 ปี Daniel Ek ได้เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากรับจ้างสร้างเว็บไซต์ให้ลูกค้า
หลังจากทำได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีลูกค้าติดต่อเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ
จนเมื่อเขาอายุ 18 ปี เขาสามารถสร้างรายได้สูงถึง 150,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
หลังจากเขาเรียนจบในระดับมัธยมปลาย เขาเลือกเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่ KTH Royal Institute of Technology ในประเทศสวีเดน
แต่หลังจากเรียนได้ไม่นาน เขารู้สึกว่าเนื้อหาที่เรียนมีแต่ทฤษฎี เขาจึงตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อมาโฟกัสกับงานด้านไอที ที่ได้ลงมือทำแบบจริงจัง
ด้วยความสามารถของ Daniel Ek หน้าที่การงานของเขาจึงเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้มีโอกาสได้ทำงาน กับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตมากมาย
ลองมาดูตำแหน่งที่เขาเคยทำมาก่อน..
- พนักงานระดับ Senior ของบริษัท Tradera
แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ในสวีเดน
- CTO ของบริษัท Stardoll
ซึ่งเป็นเกมแต่งตัวบนเว็บไซต์
- CEO ของบริษัท µTorrent
โปรแกรมที่ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเอง
ระหว่างคอมพิวเตอร์ของแต่ละคน
แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาคือ ในระหว่างที่ทำงานให้บริษัทอื่น เขาเองได้ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจของเขาเองด้วย โดยชื่อบริษัทว่า Advertigo ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างทำโฆษณาออนไลน์
ในปี 2006 เขาได้ขายบริษัทให้กับ Tradedoubler บริษัทด้านการตลาดแห่งหนึ่งในสวีเดน
ซึ่งดีลในครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 46 ล้านบาท
นั่นทำให้เขากลายเป็นคนร่ำรวย ในวัยเพียง 23 ปี
ด้วยความที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
เงินที่ได้มาเกือบทั้งหมด Daniel Ek ได้ใช้ไปกับการเที่ยวตามไนต์คลับหรู ซื้อของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถเฟอร์รารี หรืออะพาร์ตเมนต์หรู เพื่อให้ชีวิตสุขสบาย
สุดท้าย เพียงไม่กี่เดือนชีวิตของเขาก็พังลงอย่างรวดเร็วด้วยสิ่งมอมเมา..
จากเด็กหนุ่มที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นคนที่กำลังล้มเหลว เขาเป็นโรคซึมเศร้า สุดท้ายเขาได้ทิ้งสิ่งของทุกอย่างแล้วหนีไปอยู่ในกระท่อมกลางป่าเพียงลำพัง
ช่วงนั้นเป็นช่วงตกอับที่สุดของชีวิต
ซึ่งเขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานเก่าชื่อ “Martin Lorentzon”
Martin เองก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Tradedoubler และเคยผ่านจุดที่ร่ำรวยอย่างรวดเร็วมาเช่นกัน จากการที่เขานำบริษัท Tradedoubler เข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2005 ทำให้ Martin เข้าใจความรู้สึกนี้ และสามารถให้คำแนะนำ Daniel ได้
หลังจากที่ได้คำแนะนำจาก Martin ทำให้ Daniel เริ่มได้สติ และกลับมาทำในสิ่งที่เขาชอบอีกครั้งคือการ เล่นดนตรี
แม้งานที่ผ่านมาจะเป็นงานด้านไอทีทั้งหมด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เขารักและชอบมาโดยตลอดคือ “ดนตรี”
ทำให้เขาฟังเพลง และติดตามวงการเพลงเป็นประจำ
ในช่วงนั้นเขาบอกว่า “แม้จะมีคนฟังเพลงมากขึ้น แต่ผมรู้สึกหงุดหงิดที่วงการเพลงกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ”
เนื่องจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Napster ที่ให้คนสามารถแชร์ และดาวน์โหลดเพลงได้ฟรี ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้รายได้ของค่ายเพลงหายไปอย่างมาก
Daniel และ Martin จึงมีเป้าหมายใหม่ แน่นอนว่าครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเงินหรือชื่อเสียงใด ๆ แต่เป็นเป้าหมายใหญ่กว่าเดิม คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงวงการเพลง
จนในที่สุด พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้ง Spotify ขึ้นมา
โดยพวกเขาต้องการให้ Spotify มอบประสบการณ์ดี ๆ ให้ลูกค้าคือ
1. ทุกคนสามารถเข้าถึงเพลงจำนวนมาก ได้แบบถูกลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องมาหาซื้อทีละเพลง
2. ศิลปินและค่ายเพลงต้องได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
เพื่อตอบโจทย์ที่พวกเขาตั้งไว้ 2 ข้อนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ การซื้อลิขสิทธิ์จากค่ายเพลง เพื่อนำเพลงมาให้คนได้ฟังบนแพลตฟอร์ม
แม้การเจรจากับค่ายเพลงจะค่อนข้างยาก จนทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี แต่ในที่สุด Spotify ก็ได้เปิดบริการเป็นครั้งแรกในประเทศโซนยุโรป ในช่วงปี 2008 - 2009
และหลังจากนั้น Spotify ได้ทำการขยายฐานผู้ใช้งานให้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการเปิดบริการในประเทศอื่นเพิ่มขึ้น
ด้วยหน้าตาที่เป็นมิตร ใช้งานง่าย และที่สำคัญคือ AI ที่รู้ใจผู้ใช้งาน จนแม้แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เองก็ชอบ Spotify เช่นกัน
จึงทำให้ปัจจุบัน Spotify มีจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่อเดือนทั้งหมดอยู่ที่ 365 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นสมาชิกที่จ่ายค่าบริการ Subscription ทั้งหมด 165 ล้านคน และมีรายได้ปีที่ผ่านมาทะลุ 3 แสนล้านบาท
ลองมาดูการเติบโตของรายได้ ของ Spotify
ปี 2018 รายได้ 206,116 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 266,277 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 308,841 ล้านบาท
ปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท
ขณะที่ Daniel Ek มีมูลค่าทรัพย์สินจากการประเมินอยู่ที่ 125,000 ล้านบาท นับว่าเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเลยทีเดียว
แล้วเราได้อะไรจากเรื่องนี้ ?
เราได้เรียนรู้ว่า ความร่ำรวย ถ้าไปหลงระเริงกับมันเกินไป มันอาจทำให้ชีวิตก้าวถอยหลังได้เหมือนกัน เหมือนกับที่ Daniel Ek เคยพลาด ก่อนจะมาสร้าง Spotify
และสำหรับบางคน การทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น มันก็มีความหมายไม่แพ้ การมีเงินมีทองมากมาย
เช่นเดียวกับที่ Daniel Ek ลงมือปลุกปั้น Spotify ขึ้นมา โดยไม่ได้โฟกัสที่เรื่องเงินทองเพียงอย่างเดียว
แต่ยังต้องการเปลี่ยนวงการเพลง ให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย..
References:
-https://www.longtunman.com/1726
-https://en.wikipedia.org/wiki/Spotify
-https://bingobook.co/successful-people/daniel-ek/
-https://www.investopedia.com/news/how-spotify-ceo-daniel-ek-got-rich/
-https://www.poundsterlinglive.com/bank-of-england-spot/historical-spot-exchange-rates/usd/USD-to-THB-2006
-https://www.forbes.com/profile/daniel-ek/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Tradera
-https://en.wikipedia.org/wiki/Stardoll
-https://en.wikipedia.org/wiki/Tradedoubler
-Spotify Annual Report 2020
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.