กรณีศึกษา Ben Ali ประธานาธิบดีตูนิเซีย กินรวบประเทศ จนโดนปฏิวัติ

กรณีศึกษา Ben Ali ประธานาธิบดีตูนิเซีย กินรวบประเทศ จนโดนปฏิวัติ

9 ก.ย. 2021
กรณีศึกษา Ben Ali ประธานาธิบดีตูนิเซีย กินรวบประเทศ จนโดนปฏิวัติ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า “อาหรับสปริง” การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในช่วงปี 2011 ของกลุ่มประเทศอาหรับ ไล่มาตั้งแต่อียิปต์ ลิเบีย เยเมน บาห์เรน ไปจนถึงการเกิดสงครามกลางเมืองที่ซีเรีย ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการปฏิวัติในประเทศเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาที่มีชื่อว่า “ตูนิเซีย”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การปฏิวัติตูนิเซียนี้
เกิดขึ้นโดยปราศจากผู้นำการปฏิวัติ และไม่ได้มาจากประเด็นทางการเมือง
แต่เป็นเรื่องของการว่างงานและสภาวะเศรษฐกิจที่ผลักดันให้ประชาชนในประเทศรวมตัวกันลุกขึ้นมาปฏิวัติ โดยมีจุดเริ่มต้นจากประธานาธิบดีของตูนิเซียที่มีชื่อว่า Ben Ali

เกิดอะไรขึ้นที่ตูนิเซีย ภายใต้การปกครองของ Ben Ali จนนำไปสู่การปฏิวัติในประเทศ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
สาธารณรัฐตูนิเซีย เป็นประเทศอาหรับมุสลิมในแอฟริกาเหนือ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีขนาดพื้นที่ราว ๆ 160,000 ตารางกิโลเมตร พอ ๆ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ตูนิเซียมีประชากรเพียง 12 ล้านคน มากกว่า 90% นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี แต่เนื่องจากเคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศสมาก่อน ทำให้มีการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการควบคู่ไปกับภาษาอารบิก
ประกอบกับผู้คนที่มีหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ทำให้วัฒนธรรมจะเป็นการผสมผสานระหว่างอาหรับและยุโรป
ในอดีตประเทศตูนิเซียนั้นถูกปกครองโดยประธานาธิบดี Habib Bourguiba ซึ่งปกครองตูนิเซียมายาวนานตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสในปี 1956
แต่การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ทั้งเศรษฐกิจและสังคมของตูนิเซียกลับเกิดขึ้นหลังจากการมาถึงของชายที่ชื่อว่า Ben Ali
Zine al-Abidine Ben Ali หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Ben Ali
ก่อนที่เขาจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีตูนิเซียนั้น เขาเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมามากมาย
ทั้งหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เอกอัครราชทูต รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ รัฐมนตรีมหาดไทย
จนในปี 1987 เขาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของตูนิเซีย โดยถือได้ว่าเขาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลและทรงอำนาจอย่างมากในรัฐบาลตูนิเซีย
ซึ่งในขณะนั้นประธานาธิบดีคนแรก Habib Bourguiba กำลังป่วยหนักและหลายฝ่ายเห็นว่าไม่เหมาะที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป
Ben Ali จึงได้ทำการรัฐประหารโดยสันติและปลด Bourguiba ออกจากตำแหน่ง จากนั้นจึงแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของตูนิเซียในปี 1987
หลังจากที่ Ben Ali ได้ขึ้นมาปกครองประเทศ เขาพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้การบริหารประเทศของเขาเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยตามเสียงเรียกร้องของผู้คนในประเทศ
โดยได้ดำเนินการหลากหลายมาตรการ เช่น
- การเปลี่ยนชื่อพรรคการเมืองของตัวเองจาก Neo-Destour Party เป็น Democratic Constitutional Rally
- การเปิดให้ประชาชนสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้
- การยกเลิกระบบพรรคการเมืองเดียว
- การปล่อยนักโทษทางการเมืองซึ่งได้รับผลกระทบจากการปกครองของประธานาธิบดีคนเก่า
แม้การเลือกตั้งใหม่ในปี 1989 มีขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศ และพรรคของเขาเองก็ได้ที่นั่งในสภามากกว่า 80% แต่ Ben Ali ก็ได้เริ่มจุดไฟแห่งความขัดแย้งขึ้น
Ben Ali เริ่มการจับกุมแกนนำและนักกิจกรรมของฝ่ายตรงข้ามที่เขามองว่ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีรายงานการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งการข่มขู่และทรมานจากภาครัฐ รวมถึงการบังคับให้ลี้ภัยไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีการแก้กฎหมายเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายตนเอง ส่งผลให้การเลือกตั้งที่จัดขึ้นหลังจากนั้น เขาได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย ไร้คู่แข่งที่จะมาเทียบเคียง
โดยการเลือกตั้งในปี 1999 Ben Ali มีคู่แข่งเพียง 2 คนเท่านั้น และฝ่ายค้านไม่เคยได้ที่นั่งในสภาเกิน 25% เลยแม้แต่ปีเดียว
จนสุดท้ายแล้วตูนิเซียภายใต้การปกครองของ Ben Ali มีลักษณะทางการเมืองแทบไม่ต่างจากยุคของประธานาธิบดีคนก่อน ที่ถูกเรียกว่าเป็นระบอบเผด็จการ
นอกจากการแก้กฎหมายเพื่อความมั่นคงของตำแหน่งทางการเมืองแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่เขาทำในระหว่างที่อยู่ในอำนาจ คือการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง
โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายของเขา
ในฉากหน้านั้น Ben Ali ได้ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ทันสมัยขึ้น
ทั้งการแก้กฎระเบียบต่าง ๆ ให้ผ่อนคลายลงจากสมัยอดีตประธานาธิบดีคนเก่า
การปรับโครงสร้างและแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ส่งผลให้ตลอดระยะเวลาที่ Ben Ali อยู่ในอำนาจนั้น ตูนิเซียมีอัตราการเติบโตของ GDP ไม่น้อยกว่า 5% มาโดยตลอด และระบบเศรษฐกิจของตูนิเซียโดดเด่นและเติบโตเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน
จนแม้แต่ IMF และธนาคารโลกยังเคยยกย่องให้ตูนิเซียเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ทว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่ได้ไปถึงประชาชนในประเทศ
แต่กลับตกอยู่ในมือเครือข่ายของ Ben Ali
Ben Ali มีเครือข่ายธุรกิจกระจายตัวอยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศ
โดยมีการตรวจพบว่ามีบริษัทกว่า 220 บริษัทที่อยู่ในเครือข่ายดังกล่าว
ซึ่งมีทั้งธุรกิจสายการบิน โทรคมนาคม การขนส่ง การเงินและธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหารและอื่น ๆ อีกมาก และนาย Ben Ali ก็ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเอง โดยการออกกฎหมายเพื่อกีดกันทางการค้า และกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจ ส่งผลให้มีการทุจริตคอร์รัปชันโดยเจ้าหน้าที่รัฐกระจายอยู่ทั่วประเทศ
โดยตั้งแต่ปี 1994 นาย Ben Ali ได้ออกกฎระเบียบและข้อบังคับกว่า 25 ฉบับ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อเครือข่ายธุรกิจของตน ซึ่งในบางธุรกิจถ้าไม่มีชื่อของเครือข่าย Ben Ali อยู่ในบริษัท ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ
อย่างเช่นกรณีเชนร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง McDonald’s ที่ได้มอบสิทธิ์แฟรนไชส์ให้กับพาร์ตเนอร์ที่ไม่ใช่เครือข่ายของ Ben Ali สุดท้ายแล้วภาครัฐก็ได้ปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว และ McDonald’s ก็ต้องยอมถอยออกจากตลาดไป
หรืออีกกรณีหนึ่งคือการผูกขาดระบบโทรคมนาคมของประเทศ
ราคาค่าบริการโทรระหว่างประเทศที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 10-20 เท่า
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็เป็นรายได้เข้ากระเป๋ากลุ่มบริษัทในเครือข่ายของนาย Ben Ali
จากการออกข้อกฎหมายที่ยากต่อการแข่งขันและทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้การเติบโตของภาคเอกชนในประเทศกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มเครือข่ายของนาย Ben Ali
โดยจากรายงานของธนาคารโลกระบุว่า เครือข่ายของนาย Ben Ali ที่มีกว่า 220 บริษัท
มีผลกำไรคิดเป็น 21% ของภาคเอกชนทั้งหมดภายในประเทศ
และมีมูลค่าบริษัทประมาณ 4.22 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศในปี 2010
เมื่อการกระจายความเติบโตของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง
ส่งผลให้ตูนิเซียมีอัตราการว่างงานที่สูงมาก สวนทางกับ GDP ที่เติบโตต่อเนื่อง
บวกกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งการส่งออก ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
ทำให้ตูนิเซียมีอัตราการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาวสูงถึง 30% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกมีเพียง 15% เท่านั้น
สุดท้ายแล้วเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศถูกผูกขาดด้วยคนบางกลุ่ม ทำให้สินค้าหลายอย่างมีราคาสูง
บวกกับอัตราการว่างงานในประเทศที่ยากเกินกว่าจะแก้ไข ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนจึงเพิ่มมากขึ้นในตูนิเซีย
จนในที่สุดความอดทนของประชาชนในประเทศก็หมดลง..
หนุ่มชาวตูนิเซีย Mohamed Bouazizi อายุ 27 ปี ตัวเขาเรียนไม่จบและต้องออกมาขายผลไม้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่เด็ก ซึ่งเขามักจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกสินบนและริบสินค้าของเขาอยู่หลายครั้ง
จนกระทั่งในวันที่ 17 ธันวาคม 2010 เจ้าหน้าที่ได้ยึดสินค้าและอุปกรณ์ในการค้าขายของเขา โดยอ้างว่าเขาไม่มีใบอนุญาตสำหรับขายผลไม้ในพื้นที่ และมีพยานในเหตุการณ์กล่าวว่าเขายังถูกเจ้าหน้าที่ตบเข้าที่หน้าอีกด้วย
Bouazizi ได้ไปร้องเรียนที่สำนักงานเทศบาลในเมือง Sidi Bouzid แต่กลับไม่มีใครรับฟังข้อร้องเรียนของเขา Bouazizi จึงราดน้ำมันและจุดไฟเผาตัวเองทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเดือนมกราคม ปี 2011
หลังจากการเผาตัวเองของ Bouazizi เรื่องราวของเขาก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเช่น Facebook และ Twitter ซึ่งยากต่อการควบคุมและตรวจสอบโดยภาครัฐ
ทำให้ไม่กี่วันหลังจากนั้นมีผู้คนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนและโกรธแค้นรัฐบาล โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในขณะนั้น ซึ่งเกือบทั้งชีวิตของพวกเขาเติบโตมาภายใต้การปกครองของ Ben Ali
คนหนุ่มสาวได้ออกมาชุมนุมประท้วงในเมือง Sidi Bouzid จำนวนมากและจากการประท้วงในท้องถิ่น จนกลายเป็นระดับภูมิภาคและแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
Ben Ali ได้ออกประกาศตำหนิผู้ประท้วงและใช้กำลังในการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
จึงมีภาพการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อออนไลน์ทั่วโลก
เมื่อแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายแล้ว Ben Ali จึงได้ประกาศจะไม่ลงเลือกตั้งอีกหลังจากหมดวาระในปี 2014 และจะให้เสรีภาพรวมถึงดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
แต่ตัวเขากลับปฏิเสธว่าตำรวจไม่ได้ยิงใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะขัดแย้งกับภาพที่อยู่บนสื่อออนไลน์ ทำให้การชุมนุมแผ่ขยายมากขึ้นไปอีก
Ben Ali ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและออกคำสั่งให้ทหารใช้ปืนยิงผู้ชุมนุมที่ต่อต้าน แต่ทหารปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว เมื่อเห็นว่าตัวเขาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อีกต่อไป Ben Ali จึงหนีออกนอกประเทศและลี้ภัยในประเทศซาอุดีอาระเบีย
เมื่อ Ben Ali พ้นจากตำแหน่ง ศาลธรรมนูญวินิจฉัยให้นาย Fouad Mebazaa ประธานรัฐสภาดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี

นาย Fouad Mebazaa จัดตั้งรัฐบาลโดยแต่งตั้งผู้ที่เคยอยู่ในระบอบเก่า และภักดีกับอดีตประธานาธิบดี Ben Ali เป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่สำคัญ

เมื่อรายชื่อคณะรัฐมนตรีประกาศออกมา จึงเกิดความไม่พอใจอย่างมากตามมา ฝ่ายค้านลาออกจากรัฐสภา, เยาวชนหนุ่มสาวออกมาประท้วงอีกครั้ง และเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ในที่สุด ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรักษาการชุดนี้ก็ต้องลาออก

การจัดตั้งคณะรัฐบาลรักษาการเกิดขึ้นอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีรักษาการคนใหม่สั่งการให้จับกุม, สอบสวน และดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่พรรคของรัฐบาล ครอบครัวและญาติของอดีตประธานาธิบดี Ben Ali

รวมทั้งดำเนินการยุบพรรคและยึดทรัพย์สินของพรรค ขณะเดียวกันก็ประกาศปล่อยนักโทษการเมือง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปลายปีนั้นเอง

เรื่องราวทั้งหมดนี้นอกจากจะสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารประเทศและการทุจริตคอร์รัปชันจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและนำไปสู่การปฏิวัติแล้ว

ในวันที่ Mohamed Bouazizi จุดไฟเผาตัวเองเพียงคนเดียว
แต่เรื่องราวของเขาบนโลกอินเทอร์เน็ต ก็ได้ปลุกให้ผู้คนทั่วประเทศ
ต่างมารวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาล จนบานปลายเป็น “อาหรับสปริง” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกกล่าวถึง..

เหตุการณ์นี้ยังเป็นกรณีศึกษาชั้นดี ของอิทธิพลจากสื่อโซเชียลมีเดีย
ยิ่งสื่อเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงผู้คนให้เข้าหากัน ภายในเวลาอันรวดเร็วเท่าไร
ก็ยิ่งทำหน้าที่เผยแพร่ “สิ่งที่พยายามปกปิด” ออกไปสู่สาธารณชน
ในเวลาอันรวดเร็วได้เท่านั้น

ในยุคที่มีคนโจมตีความน่ากลัวของโซเชียลมีเดีย ว่าจะทำให้เกิดข่าวปลอมเผยแพร่ได้โดยง่าย
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ข่าวจริงที่ถูกปิดไว้ ถูกเผยแพร่ได้ง่ายขึ้น เช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.washingtonpost.com/news/monkey-cage/wp/2014/03/27/tunisias-golden-age-of-crony-capitalism/
-https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/17726/WPS6810.pdf?sequence=1&isAllowed=y\
-https://www.aljazeera.com/news/2020/12/17/bread-and-gas-economic-boost-needed-after-arab-spring
-https://www.wider.unu.edu/publication/youth-unemployment-arab-world
-https://www.pewresearch.org/journalism/2012/11/28/role-social-media-arab-uprisings/
-https://www.silpa-mag.com/history/article_55976
-https://www.aljazeera.com/features/2011/1/26/how-tunisias-revolution-began
-https://www.dw.com/en/zine-el-abidine-ben-ali-the-robber-baron-of-tunisia/a-50501648
-https://www.britannica.com/event/Jasmine-Revolution
-https://theconversation.com/ben-ali-the-tunisian-autocrat-who-laid-the-foundations-for-his-demise-124786
-https://www.theatlantic.com/technology/archive/2011/09/so-was-facebook-responsible-for-the-arab-spring-after-all/244314/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.