ย้อนรอย ห้างซัมพุงถล่ม โศกนาฏกรรมที่เกิดจากความมักง่าย

ย้อนรอย ห้างซัมพุงถล่ม โศกนาฏกรรมที่เกิดจากความมักง่าย

3 ต.ค. 2021
ย้อนรอย ห้างซัมพุงถล่ม โศกนาฏกรรมที่เกิดจากความมักง่าย /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงเหตุการณ์ตึกถล่มที่ร้ายแรงสุดในโลก หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์ 9/11
ที่กลุ่มอัลกออิดะห์เข้าโจมตีแบบพลีชีพทางอากาศใส่เวิลด์เทรดเซนเตอร์
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 6,000 คน
แต่รู้หรือไม่ว่า ในปี 1995 ประเทศเกาหลีใต้ก็เคยเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มกับห้างสรรพสินค้าอันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่ชื่อว่า “ห้างสรรพสินค้าซัมพุง”
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 502 คนและผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,000 คน
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ตึกถล่ม ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก
แต่สิ่งที่ห้างสรรพสินค้าซัมพุงแตกต่างจากเหตุการณ์ 9/11 ก็คือสาเหตุของการถล่มไม่ได้เกิดจากการก่อการร้าย แต่กลับเกิดขึ้นจากความมักง่ายของผู้บริหาร
แล้วความมักง่ายของผู้บริหารเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ตึกถล่ม ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนเกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม ห้างสรรพสินค้าซัมพุงนับเป็นแหล่งช็อปปิงยอดฮิตของชาวเกาหลีใต้
เพราะนอกจากห้างซัมพุงจะเป็นแหล่งรวมสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังมากมายจากทั่วทุกมุมโลกแล้ว ห้างแห่งนี้ก็ยังเป็นที่นัดพบปะสังสรรค์ระหว่างครอบครัวและเพื่อนฝูง เปรียบเสมือนสยามพารากอนในบ้านเราเลยก็ว่าได้
แต่แล้วห้างซัมพุงกลับพังทลายลงในวันที่ 29 มิถุนายน 1995 เวลา 17.52 น.
และหากจะเล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก่อสร้าง
ในช่วงปี 1980 อาคารและบ้านเรือนต่าง ๆ ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเติบโต รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับงานการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะจัดในปี 1988
ด้วยความเร่งรีบ ผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่ในเวลานั้น จึงไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานการก่อสร้าง บวกกับการกำกับดูแลความปลอดภัยก็ค่อนข้างหละหลวม ส่งผลให้หลายบริษัทมักใช้แนวทาง “สร้างตอนนี้ ซ่อมแซมในภายหลัง”
หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท “The Sampoong Group” ที่ได้เริ่มสร้างห้างสรรพสินค้าซัมพุงขึ้น
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก่อนจะกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่บริเวณนี้ถูกออกแบบและถูกวางโครงสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอะพาร์ตเมนต์สี่ชั้นเท่านั้น
แต่อีจุน ประธานบริหาร The Sampoong Group กลับเปลี่ยนใจอยากสร้างห้างสรรพสินค้ากะทันหัน
เขาจึงสั่งให้บริษัท Woosung Construction บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ทำการปรับแต่งอาคารใหม่
โดยให้ตัดเสาค้ำจำนวนหนึ่งเพื่อติดตั้งบันไดเลื่อนแทน
รวมถึงให้เพิ่มอาคารอีกชั้นหนึ่งไว้ เพื่อเป็นลานสเกต ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่มีข้อกำหนดว่าห้างสรรพสินค้าต้องมีพื้นที่ใช้สอยอย่างอื่นด้วยนอกจากพื้นที่เช่าสำหรับค้าขาย
แต่ Woosung Construction ประเมินแล้วว่าไม่สามารถทำตามที่อีจุนขอ เนื่องจากแปลนเดิมไม่เอื้ออำนวย ทางบริษัทจึงได้ทำการปฏิเสธคำสั่งไป
ซึ่งตรงนี้ แทนที่อีจุนจะรับฟังคำปฏิเสธและเหตุผลจากบริษัทผู้รับเหมา แต่สิ่งที่เขาทำกลับตรงกันข้าม เพราะเขาได้ใช้บริษัทก่อสร้างของตัวเองจัดการแทน
โดยนอกจากอีจุน จะตัดเสาค้ำบางส่วนออกและเพิ่มอาคารอีกหนึ่งชั้นแล้ว
เขายังตัดสินใจต่อเติมและดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมตามใจชอบอีกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น การลดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเสาค้ำลงและการวางเสาห่างกันมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้แก่ร้านค้าให้มากที่สุด รวมไปถึงการเปลี่ยนจากลานสเกต ให้กลายเป็นโซนร้านอาหารด้วย
จากการทำสิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้เสาค้ำแต่ละต้น ยิ่งต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าเดิม
ซึ่งแน่นอนว่าการปรับโครงสร้างเยอะลักษณะนี้ ย่อมมีปัญหาตอนตรวจสอบ
ซึ่งอีจุน ก็ได้ทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่ราชการ ที่รับผิดชอบการออกใบอนุญาตก่อสร้างและใช้อาคาร ไม่ให้มีการตรวจสอบโครงสร้างของอาคารในภายหลัง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในวันข้างหน้า
และแล้วปลายปี 1989 ห้างซัมพุง ก็ได้สร้างขึ้นจนสำเร็จและที่แห่งนี้ ก็ได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าอย่างที่เขาคาดหวังและก็ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ห้างสามารถดึงดูดนักช็อปปิงจำนวนมหาศาล เฉลี่ยต่อวันถึง 40,000 คน
โดยร้านค้าในห้างซัมพุง สามารถสร้างรายได้รวมกันสูงถึง 17 ล้านบาทต่อวัน
แล้วสัญญาณของการถล่มลงของซัมพุง เริ่มตั้งแต่เมื่อไร ?
เมื่อ 2 ปีก่อนตึกถล่ม ชาวบ้านที่อยู่ละแวกรอบข้างห้าง เริ่มมีการร้องเรียนเรื่องเสียงแอร์ของห้างดังเกินไป ทำให้ทางห้างต้องย้ายแอร์จำนวน 3 เครื่อง เครื่องละ 15 ตันไปวางอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่ติดกับที่พักอาศัยอยู่
ซึ่งแทนที่บริษัทจะเคลื่อนย้ายแอร์ขนาดยักษ์ด้วยเครนก่อสร้าง อย่างทั่วไปที่เขาทำกัน
เหล่าผู้บริหารกลับสั่งให้ใช้การเคลื่อนย้ายแบบเลื่อนเอาเอง
เพราะมีขั้นตอนที่น้อยกว่า และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าอย่างมาก
ด้วยน้ำหนักของแอร์รวม 45 ตัน บวกกับการเคลื่อนย้ายแบบลากกันเอง และโครงสร้างต่าง ๆ ที่ไม่แข็งแรง จึงทำให้เกิดรอยร้าวบนตัวอาคารชั้นดาดฟ้า รวมถึงฐานเสาบางจุดได้แตกหัก และทรุดลงตามไปด้วย
แม้ในช่วงแรก เสายังคงสามารถค้ำตัวอาคารเอาไว้ได้ แต่เมื่อเจอแรงสั่นสะเทือนของแอร์ขนาดยักษ์ทุก ๆ วัน เป็นเวลาติดต่อกันถึง 2 ปี จากรอยแตกเล็ก ๆ ได้กลายเป็นรอยที่ใหญ่ขึ้น
จนสัญญาณเตือนครั้งแรกก็มาถึง ในเดือนเมษายน ปี 1995
เมื่อเพดานชั้น 5 ของห้างเริ่มมีรอยแตกร้าวขึ้นมา
แต่แทนที่ผู้บริหารจะรีบสั่งให้ทำการปิดห้างและตรวจสอบสาเหตุอย่างจริงจัง
พวกเขากลับสั่งให้ย้ายสินค้าและร้านค้าบางส่วน ลงมาที่ชั้นใต้ดินเท่านั้น
ด้วยการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ส่งผลให้ระเบิดเวลานี้ยังคงนับถอยหลัง จนกระทั่งช่วงเช้าวันที่ 29 มิถุนายน จำนวนรอยแตกเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในเวลาอันรวดเร็ว และส่วนต่าง ๆ ภายในอาคารเริ่มส่งเสียงแตกดัง
พนักงานและลูกค้าบางส่วนเริ่มเสียขวัญจากเหตุการณ์ ทำให้ผู้จัดการจำเป็นต้องปิดพื้นที่ให้บริการชั้น 5 และจ้างวิศวกรโยธาเข้ามาตรวจสอบทันที
หลังจากตรวจสอบเสร็จก็ได้ข้อสรุปว่า อาคารขณะนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถล่ม
บริษัทจึงมีการประชุมคณะผู้บริหารฉุกเฉินขึ้นมา เพื่อหามาตรการรับมือ
ซึ่งเหล่าผู้บริหารต่างพากันแนะนำกับอีจุน ว่าควรสั่งให้ลูกค้าเริ่มอพยพออกกันได้แล้ว
แต่อีจุนกลับปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น เพราะกลัวสูญเสียรายได้และคิดได้แต่เพียงว่าเขาจะสั่งซ่อมแซมหลังห้างปิดทำการก็ได้ จึงยังทำการเปิดห้างไปตามปกติต่อไป
นอกจากนี้ อีจุนก็ยังสั่งการให้ผู้จัดการแต่ละแผนก เข้าไปปลอบพนักงานของตนที่กำลังตื่นตระหนก
แต่หลังจากประชุมเสร็จ เขาและเหล่าผู้บริหารกลับตัดสินใจหนีออกจากอาคารโดยทันที
และเมื่อถึงช่วงเย็นวันนั้น จากอาคารที่ไม่ได้รับการซ่อมแซม
เจอกับช่วงเวลาที่คนเลิกงานกัน หลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายใช้สอยกันมากยิ่งขึ้น
ในที่สุดห้างสรรพสินค้าก็พังทลายลงภายในพริบตา..
เหตุการณ์ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไป 502 คน และทำให้เกิดผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 1,000 กว่าคน
โดยผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือคือ นักศึกษาสาว วัย 19 ปี
หลังจากผ่านเหตุการณ์ห้างถล่มลงเป็นระยะเวลามาแล้วถึง 17 วัน
ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ถูกประเมินไว้ 7,200 ล้านบาท
นับว่าเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ หลังจากจบช่วงสงครามเกาหลีเลยก็ว่าได้
เมื่อทางการช่วยเหลือผู้คนที่ติดใต้เศษซากเสร็จเรียบร้อย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้รีบตรวจหาสาเหตุต่อทันที
ตอนแรกหลายคนคิดว่าที่ตึกถล่มเกิดจากอุบัติเหตุแก๊สรั่วไหลหรือไม่ก็ก่อการร้ายจากเกาหลีเหนือ
แต่พอสืบอย่างละเอียดแล้ว กลับไม่พบข้อบ่งชี้ที่ว่าจะมาจากเรื่องเหล่านี้ได้เลย
นั่นจึงนำไปสู่การตรวจสอบที่โครงสร้างของอาคาร
จนในที่สุด ทุกคนก็ได้พบเข้ากับสาเหตุที่แท้จริง..
อีจุน และอีฮันซัง ลูกชายของเขา ได้ถูกจับกุมและให้รับโทษจำคุกจากข้อหาฆ่าคนตายโดยประมาท รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างตัวอาคาร ร่วม 30 คน
หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ สังคมเริ่มตั้งคำถามว่า อาคารแห่งอื่น ๆ มีโอกาสเกิดขึ้นด้วยหรือไม่
จึงนำไปสู่การตรวจสอบอาคารครั้งใหญ่ตามมา
ซึ่งก็ได้พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า มีเพียงอาคารแค่ 2% เท่านั้นที่มีความปลอดภัย อาคารที่เหลือ 98% ต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่ และบางแห่งจำเป็นต้องทุบอาคารสร้างใหม่เลย
และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ได้อีก
ทางการเกาหลีใต้เลยออกมาตรการต่าง ๆ เช่น
1. ข้าราชการที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตก่อสร้าง จำเป็นต้องเปิดเผยทรัพย์สินของตัวเอง เพื่อให้สามารถตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชันได้
2. บริษัทที่จะประมูลงานก่อสร้างได้นั้น ต้องมีประสบการณ์และฐานะทางการเงินมั่นคง
3. อาคารต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย จากบริษัทข้ามชาติ
4. บริษัทผู้รับเหมาใดที่ประมูลงานด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคากลางอย่างมาก จะหมดสิทธิ์รับงาน
เรื่องดังกล่าวก็ถือเป็นเหตุการณ์เตือนใจ ให้เราได้อย่างดี
เริ่มตั้งแต่ “ความโลภ” ที่อีจุนจะทำแต่การสร้างกำไร
จนมองข้ามจรรยาบรรณพื้นฐานในการทำธุรกิจ
ไปจนถึง “ความมักง่าย” ในการแก้ปัญหา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว
เขามีโอกาสหลายครั้ง ที่จะเปลี่ยนการตัดสินใจที่ผิดพลาดและกลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง
จึงทำให้ในท้ายที่สุดนั้น
ผลลัพธ์ของความโลภและความมักง่ายก็ได้กลายเป็น “หายนะ”
ที่นอกจากจะสร้างความเสียหายมูลค่าหลายพันล้าน
ก็ยังได้คร่าผู้บริสุทธิ์อีกกว่า 500 ชีวิต ที่จากไปแบบไม่มีวันกลับมา..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://interestingengineering.com/death-and-calamity-sampoong-department-store-collapse-explained
-http://www.denichsoiltest.com/building-destroyed.html
-https://eng-resources.uncc.edu/failurecasestudies/building-failure-cases/sampoong-superstore/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Sampoong_Department_Store_collapse
-https://www.theguardian.com/cities/2015/may/27/seoul-sampoong-department-store-disaster-history-cities-50-buildings
-http://www.greatdisasters.co.uk/the-sampoong-department-store-collapse/
-https://voi.id/en/memori/62782/sampoong-mall-collapses-and-becomes-one-of-the-deadliest-disasters-in-south-korea-in-history-today-29-june-1995
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.