รู้จัก Alan Greenspan ตำนานประธาน FED 5 สมัย

รู้จัก Alan Greenspan ตำนานประธาน FED 5 สมัย

6 ต.ค. 2021
รู้จัก Alan Greenspan ตำนานประธาน FED 5 สมัย /โดย ลงทุนแมน
ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (Federal Reserve)
เป็นหน่วยงานที่คอยดูแลนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุน ของทั้งสหรัฐอเมริกาและของโลกเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ คนที่ถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา คงหนีไม่พ้น “ประธาน FED”
และถ้าพูดถึงประธาน FED ที่ทรงอิทธิพลมากสุดในประวัติศาสตร์
คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน น่าจะนึกถึงชื่อของคุณ “Alan Greenspan”
เพราะเขาดำรงตำแหน่งนี้นานถึง 18 ปี มีผลงานช่วยให้สหรัฐอเมริกา รอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้ง
แต่สุดท้าย การดำเนินนโยบายของเขา กลับถูกวิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์..
ชีวิตการทำงานในฐานะประธาน FED ของชายคนนี้ ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
คุณ Alan Greenspan เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อปี 1926 ปัจจุบันมีอายุ 95 ปี
เขาเรียนจบปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และเริ่มทำงานเป็นนักวิเคราะห์ในบริษัทภาคเอกชน ก่อนที่ต่อมา จะร่วมก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Townsend-Greenspan & Co. เพื่อทำธุรกิจที่ปรึกษา
หลังจากนั้น คุณ Greenspan ก็มีโอกาสทำงานกับภาครัฐ โดยร่วมทีมคิดนโยบายหาเสียงให้กับประธานาธิบดี Richard Nixon
และในปี 1974-1977 เขาก็ได้นั่งเป็นประธานสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เสนอแนะนโยบายต่าง ๆ ให้กับรัฐบาล
นั่นจึงเป็น จุดเริ่มต้น ที่ทำให้ชื่อของคุณ Greenspan เป็นที่ยอมรับจากบุคคลในวงการเศรษฐกิจ จนกระทั่งปี 1987 เขาก็ได้รับเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED
โดยทั่วไป FED ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และดูแลสภาพคล่องในระบบ โดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย
ในช่วงที่เขาเป็นประธาน FED เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ส่งผลให้คุณ Greenspan ต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ในระดับที่ไม่ค่อยใช้กันบ่อยนักในอดีต
นั่นคือ การลดอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน เพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะตกต่ำ แต่ก็ต้องแลกมาด้วย ความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
เรามาลองย้อนดูว่า FED ในยุคของคุณ Greenspan ต้องรับมือกับวิกฤติสำคัญอะไรบ้าง
- เหตุการณ์ Black Monday
ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 หรือเพียง 2 เดือน หลังคุณ Greenspan รับตำแหน่ง
หุ้นในตลาดสหรัฐอเมริกาถูกเทขายอย่างหนัก ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจาก ความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ โดยดัชนี Dow Jones ติดลบถึง 22% ภายในวันเดียว
เรื่องนี้ทำให้ FED ตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันที เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา
เดือนตุลาคม 1987 อัตราดอกเบี้ย FED อยู่ที่ 7.25%
เดือนกุมภาพันธ์ 1988 อัตราดอกเบี้ย FED อยู่ที่ 6.25%
- ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1990s
ในปลายปี 1990 ได้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 36 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภายใน 3 เดือน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม และทำให้การค้าขายทั่วโลกหดตัวลง
เป็นเหตุให้ GDP ของสหรัฐอเมริกา หดตัว 0.1% ในปี 1991 หลังจากที่เติบโตมา 9 ปี ติดต่อกัน รวมทั้งอัตราคนว่างงาน ก็พุ่งสูงขึ้นเป็น 7.3%
คราวนี้ FED ต้องลดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง 3 ปี เพื่อช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เดือนธันวาคม 1990 อัตราดอกเบี้ย FED อยู่ที่ 7.25%
เดือนธันวาคม 1993 อัตราดอกเบี้ย FED อยู่ที่ 3.00%
- วิกฤติฟองสบู่ Dot-Com และเหตุวินาศกรรม 9/11
ในช่วงปี 1995-2000 ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี กำลังเฟื่องฟูสุดขีด จนก่อให้เกิดการเก็งกำไรหุ้นบริษัทกลุ่มนี้อย่างร้อนแรง แต่สุดท้าย ผลการดำเนินงานกลับไม่ได้เติบโตตามคาดหวัง
ทำให้ดัชนีตลาดหุ้น NASDAQ ถูกเทขายอย่างหนัก ในปี 2000-2002 โดยมูลค่าตลาด ปรับตัวลดลงกว่า 78% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุด

นอกจากนั้น ในวันที่ 11 กันยายน 2001 เกิดเหตุกลุ่มก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสาร พุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และอาคารเพนตากอน ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
เรื่องนี้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ปิดทำการจนถึงวันที่ 16 กันยายน 2001
ซึ่งในสัปดาห์แรกที่กลับมาเปิดอีกครั้ง ดัชนี Dow Jones ก็ติดลบไปถึง 14% และมูลค่ารวมของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ได้หายไปกว่า 47 ล้านล้านบาท
ทั้งสองเหตุการณ์ เป็นแรงกดดันที่หนักหน่วงต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ทำให้ FED ต้องลดอัตราดอกเบี้ยแบบเร่งด่วน และคงให้อยู่ในระดับต่ำนานหลายปี
เดือนธันวาคม 2000 อัตราดอกเบี้ย FED อยู่ที่ 6.50%
เดือนธันวาคม 2001 อัตราดอกเบี้ย FED อยู่ที่ 1.75%
เดือนธันวาคม 2002 อัตราดอกเบี้ย FED อยู่ที่ 1.25%
แม้จะผ่านวิกฤติใหญ่ ๆ หลายครั้ง
แต่นโยบายการเงินที่คุณ Greenspan นำมาใช้
ก็ถือว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเหล่านั้นได้อย่างน่าพอใจ
ทำให้คุณ Greenspan ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ถึง 5 สมัย คือระหว่างปี 1987-2006 คิดเป็นระยะเวลา 18 ปี 173 วัน ซึ่งถือเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งประธาน FED นานสุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์
นอกจากนั้น เขายังถูกยกย่องว่า เป็นหัวใจสำคัญ ที่ช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้ค่อนข้างดี
โดยในช่วง 18 ปีในฐานะประธาน FED
GDP ของสหรัฐอเมริกา เติบโตเฉลี่ย 3.2%
และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป เฉลี่ยราว 3.1%
แต่ทว่าหลังพ้นจากตำแหน่ง ตำนานของคุณ Greenspan ก็เกิดรอยด่างพร้อย..
ในปี 2008 สหรัฐอเมริกา ได้เกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ สาเหตุจากภาวะฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องล้มละลาย หรือขาดทุนมหาศาล
ซึ่งหลายฝ่ายก็วิจารณ์ว่า ต้นเหตุของวิกฤติ เป็นเพราะการใช้ “นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่นานเกินไป” ในสมัยของคุณ Greenspan
ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าไปเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง FED ไม่ได้มีการกำกับธนาคารที่เข้มงวดพอ จนมีการปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Subprime) ในปริมาณที่สูงมาก
ทำให้ต่อมา FED จำเป็นต้องนำเครื่องมืออื่นนอกจากการคุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาใช้ ซึ่งเครื่องมือนั้น ชื่อว่า Quantitative Easing หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า QE
อธิบาย QE ง่าย ๆ คือ FED มีการพิมพ์เงินเพิ่ม เพื่อเข้าซื้อตราสารหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ และกดอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะยาวให้ต่ำลง
ซึ่ง QE ก็กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในทุกวันนี้
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณ Alan Greenspan เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในอดีต จนเติบโตมาถึงทุกวันนี้ได้ นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.investopedia.com/terms/a/alangreenspan.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Alan_Greenspan
-https://www.britannica.com/biography/Alan-Greenspan
-https://www.thebalance.com/fed-funds-rate-history-highs-lows-3306135
-https://en.wikipedia.org/wiki/1990_oil_price_shock
-https://www.investopedia.com/financial-edge/0911/the-impact-of-september-11-on-business.aspx
-https://www.macrotrends.net/countries/USA/united-states/gdp-growth-rate
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.