Michael Dell ผู้ที่เห็นช่องว่างทางธุรกิจของ IBM และ Apple ตั้งแต่อายุ 19 ปี

Michael Dell ผู้ที่เห็นช่องว่างทางธุรกิจของ IBM และ Apple ตั้งแต่อายุ 19 ปี

13 ต.ค. 2021
Michael Dell ผู้ที่เห็นช่องว่างทางธุรกิจของ IBM และ Apple ตั้งแต่อายุ 19 ปี /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงแบรนด์ “Dell” หลายคนก็อาจจะรู้จักในฐานะแบรนด์คอมพิวเตอร์ชื่อดัง
แต่จริง ๆ แล้ว ในปัจจุบัน รายได้ของ Dell Technologies มาจากการขายคอมพิวเตอร์เพียง 50%
และรู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่ง Dell Technologies เคยเป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
เพราะบริษัทสามารถโกยรายได้ราว 560 ล้านบาท ได้ในปีแรกของการก่อตั้งบริษัท
และใช้เวลาอีกเพียง 5 ปี รายได้ของบริษัทก็ได้เติบโตจนทะลุ 10,000 ล้านบาท
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ จุดเริ่มต้นของบริษัทแห่งนี้ ไม่ได้เริ่มมาจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมล้ำยุคเหมือนแบรนด์เทคโนโลยีอื่น ๆ แต่กลับเกิดขึ้นจากการที่ Michael Dell ผู้ก่อตั้งบริษัท เห็นโอกาสการทำเงินจากช่องโหว่
ซึ่งช่องโหว่ที่ว่านั้น เป็นช่องว่างทางธุรกิจ ที่ IBM และ Apple ได้สร้างเอาไว้
และก็ได้ทำให้ Michael Dell ที่มองเห็นโอกาส ได้รุกเข้าไป ตั้งแต่ตอนที่เขามีอายุได้เพียง 19 ปี
Michael Dell คือใคร
และเขามองเห็นโอกาสอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Michael Dell เกิดในปี 1965 ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส
โดยมีแม่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และพ่อเป็นทันตแพทย์
ซึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่าชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ได้ลำบากหรือขัดสนแต่อย่างใด
และครอบครัวของเขาเองก็อยากให้ลูกชายเข้าเรียนในสายอาชีพแพทย์อย่างเช่นพ่อของเขา
ตั้งแต่ยังเล็ก สิ่งที่เขามีคือเลือดของนักธุรกิจที่ไหลเวียนอยู่ในตัว
ซึ่งก็ได้คอยผลักดันให้เขาเริ่มทดลองและมองหาโอกาสอยู่เสมอ
ในขณะที่เขาอายุได้ 12 ปี Dell ได้ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารจีนใกล้บ้าน
เพื่อที่จะนำเงินมาซื้อและเก็บสะสมแสตมป์ไว้เป็นคอลเลกชันส่วนตัวของเขา
และจากการได้ตามอ่านวารสารเกี่ยวกับแสตมป์ เขาก็สังเกตว่ามูลค่าของแสตมป์บางประเภท มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่นักสะสม ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เขาเปลี่ยนจากการสะสมเพื่อความชอบส่วนตัว มาเป็นโอกาสทางธุรกิจของตัวเอง
โดยสิ่งที่เขามองเห็นคือ แสตมป์ที่เหล่านักสะสมซื้อขายกันในตลาด ต้องผ่านตัวกลางหรือผู้จัดประมูล
ซึ่งผู้ซื้อกับผู้ขายก็มักจะต้องเสียค่านายหน้า เขาจึงคิดได้ว่าหากเขาสามารถตัดตัวกลางออกไปได้ เขาก็จะทำกำไรได้มากขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เขาจึงได้จัดทำแค็ตตาล็อกที่รวบรวมแสตมป์ที่เขาสะสมไว้จำนวน 12 หน้า ซึ่งก็มีทั้งแสตมป์ของเขาเอง ของเพื่อนสนิท และของเพื่อนบ้าน จากนั้นจึงลงโฆษณาในวารสารนักสะสมแสตมป์
นอกจากนั้น เขายังได้รวบรวมรายชื่อและข้อมูลของนักสะสมที่เข้าร่วมในงานประมูลแสตมป์
จากนั้นจึงส่งแค็ตตาล็อกของเขาไปให้ตามรายชื่อที่มี
ผลปรากฏว่ามีนักสะสมแสตมป์ติดต่อมาที่เขาเป็นจำนวนมาก ทำให้ Dell มีรายได้จากการขายแสตมป์ คำนวณเป็นมูลค่าในปัจจุบัน สูงถึง 587,000 บาท
หลังจากสำเร็จจากการทำธุรกิจแสตมป์ เขาก็ได้ใช้เงินจำนวนหนึ่ง
ไปกับการซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ของ Apple มา 1 เครื่อง
โดยที่เขาก็ได้หมกมุ่นอยู่กับการชำแหละเครื่องเพื่อศึกษาส่วนประกอบภายใน
จากนั้นจึงประกอบกลับใหม่ตามเดิม ซึ่งจริง ๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ Dell
เพราะก่อนที่จะมาแยกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เขาก็ได้ทดลองทำกับวิทยุ โทรศัพท์
หรือแม้แต่โทรทัศน์ เพียงเพราะว่าเขาต้องการรู้และเข้าใจการทำงานของอุปกรณ์เหล่านั้น
ต่อมาเมื่อเขาอายุได้ 16 ปี เขาได้รับงานเป็นตัวแทนขายโปรแกรมสมัครสมาชิกของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยทางสำนักพิมพ์ได้ให้รายชื่อลูกค้าและเบอร์ติดต่อมาจำนวนหนึ่งให้ Dell ไว้โทรเพื่อเสนอขายสมาชิก
เมื่อเริ่มโทรติดต่อไปได้ระยะหนึ่ง เขาก็สังเกตว่าลูกค้าที่ยอมสมัครสมาชิกกับเขา
ส่วนใหญ่แล้วเป็นคู่แต่งงานใหม่หรือไม่ก็ครอบครัวใหม่ที่เพิ่งย้ายบ้านเข้ามาอยู่
เมื่อรู้อย่างนี้ Dell ก็ได้จ้างวานเพื่อนที่โรงเรียน 2 คนให้มาช่วยหารายชื่อของคู่สมรสใหม่และรายชื่อของผู้ที่ยื่นขอจดจำนองบ้านในพื้นที่ จากนั้นจึงใช้ข้อมูลดังกล่าวในการติดต่อและปิดการขาย
ด้วยวิธีการนี้เองทำให้เขามีรายได้จากค่านายหน้าขายสมาชิกหนังสือพิมพ์ ในปีนั้นกว่า 2 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อเขาเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในปีแรก
Dell ก็ได้ใช้เวลาว่างไปกับการศึกษาการประกอบคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง
ซึ่งเขาค้นพบว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของแบรนด์ต่าง ๆ เหล่านี้ ใช้ส่วนประกอบ
ที่แต่ละชิ้นมีการผลิตเป็นมาตรฐานและสามารถปรับเปลี่ยน หรือดัดแปลงได้
หลังจากนั้นไม่นาน Dell ก็ได้เริ่มธุรกิจของเขาด้วยการซื้อคอมพิวเตอร์เก่าที่ตกรุ่นจากร้านค้าปลีก และนำมาอัปเกรดด้วยส่วนประกอบใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่แพ้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ที่วางจำหน่ายในช่วงเวลานั้น และเริ่มขายให้กับลูกค้าภายในมหาวิทยาลัย
ผลตอบรับกับธุรกิจประกอบคอมพิวเตอร์ของเขาดีเกินคาด
และจากการได้คลุกคลีกับร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และผู้ผลิตชิ้นส่วน
ทำให้ Dell ค้นพบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของ IBM ที่วางขายในท้องตลาด
มีต้นทุนส่วนประกอบ 55,700 บาท
แต่ IBM ได้ขายต่อให้กับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายในราคา 186,000 บาท
ในขณะที่ ร้านค้าก็ได้เอาไปขายต่อให้กับลูกค้าที่ราคา 277,000 บาท
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นราคาขายส่งหรือขายปลีก ก็แพงเป็นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับต้นทุนส่วนประกอบ
ซึ่ง Dell ก็ได้มองเรื่องดังกล่าวเป็นโอกาส เขาจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อก่อตั้งบริษัทชื่อ PC's Limited เพื่อทำธุรกิจผลิตคอมพิวเตอร์ ทันที
และตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท คู่แข่งที่ Dell มองเห็น
ไม่ใช่ร้านขายคอมพิวเตอร์ในละแวกใกล้เคียง
แต่กลับเป็น Apple และ IBM ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ระดับโลก
ที่แน่นอนว่าพนักงานของทั้ง 2 องค์กร ไม่แม้แต่จะเคยได้ยินชื่อของ PC's Limited มาก่อน
โดยโมเดลธุรกิจของ Dell คือการประกอบคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้ IBM
จากนั้นจึงขายให้กับลูกค้าในราคาที่ถูกกว่าโดยไม่ผ่านร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่าย
ซึ่งเขาก็ได้อาศัยการติดต่อลูกค้าโดยตรงผ่านโทรศัพท์และโทรสาร
รวมถึงการลงโฆษณาบนนิตยสารคอมพิวเตอร์และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้ก็ทำให้ PC's Limited มียอดขายในปีแรกกว่า 560 ล้านบาท
และในปีถัดมา PC's Limited ก็ได้เริ่มวางจำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบและพัฒนาด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ซึ่งมีราคาถูกกว่า Macintosh จาก Apple ที่เปิดตัวในปีเดียวกัน แต่วางจำหน่ายในราคาสูงกว่าถึง 3 เท่า
ส่งผลให้ในปีที่ 2 ของ PC's Limited ก็สามารถทำยอดขายได้กว่า 3,450 ล้านบาท
ในปี 1987 Dell ก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Dell Computer”
และด้วยความที่ไม่มีตัวแทนจำหน่าย ทำให้ไม่มีหน้าร้านคอยให้บริการแก่ลูกค้า
Dell จึงได้เริ่มบริการซ่อมและดูแลลูกค้าถึงบ้าน
ซึ่งนี่ก็เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดอย่างมาก
ยอดขายของบริษัทเติบโตอย่างมากจนในปี 1988 มีรายได้กว่า 12,400 ล้านบาท
ซึ่งในปีนี้เอง Dell Computer ก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
จนกระทั่งในปี 1992 บริษัทก็ก้าวขึ้นไปติดอันดับใน Fortune 500 และ Michael Dell
ก็ได้กลายเป็น CEO ที่อายุน้อยที่สุดในบรรดา 500 บริษัท ด้วยอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น
ในปี 1996 Dell Computer ก็ได้เพิ่มช่องทางการขายรูปแบบใหม่
ด้วยการวางจำหน่ายคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก
ส่งผลให้เพียง 6 เดือนแรก ยอดขายออนไลน์ของ Dell Computer ก็สูงถึง 59 ล้านบาทต่อวัน
และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,150 ล้านบาทต่อวันในปี 2000 โดยมีรายได้รวมทั้งปีกว่า 1.36 ล้านล้านบาท
และจากบริษัทโนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก มาถึงตรงนี้ Dell Computer กลายเป็นบริษัทที่มียอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ในปี 2001 โดยบริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Dell Inc. ในปี 2003
เมื่อ Dell Inc. เติบโตถึงขีดสุด Michael Dell ก็ได้ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของบริษัทในปี 2004
เพื่อไปทุ่มเทให้กับมูลนิธิการกุศลของตัวเอง แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการของ Dell Inc.
คนที่ก้าวขึ้นมารับไม้ต่อจาก Dell คือ Kevin Rollins
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาการบริหาร Dell Inc. ของ Rollins
กลับดูเหมือนว่าจะไม่น่าประทับใจเท่าไร
เพราะ Dell Inc. ต้องเจอกับปัญหาการร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก
ทั้งเรื่องของคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะการเรียกคืนแบตเตอรี่จำนวนมาก
จากการที่มีไฟลุกไหม้ รวมถึงเรื่องของการบริการที่มีปัญหา
ซึ่งเดิมที การบริการนับเป็นจุดแข็งของ Dell Inc. มาโดยตลอด
จากปัญหาที่ถาโถมเข้ามาก็ได้ทำให้ในปี 2006
Dell Inc. ก็ได้เสียตำแหน่งอันดับ 1 ของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้กับ HP
นอกจากนี้ กำไรของบริษัทก็ได้ตกต่ำลง ส่งผลไปยังมูลค่าบริษัทที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก
ทำให้ในปี 2007 Michael Dell ตัดสินใจกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งเพื่อกอบกู้บริษัท
แต่เหมือนผลกระทบจะยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ เพราะปัญหาที่เกิดจากกระบวนการผลิตต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข
อีกทั้งกระแสความนิยมของแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนที่เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2010 ทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหดตัวลง
ซึ่ง Dell Inc. ก็ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เพราะรายได้กว่า 70% ของบริษัทมาจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
เมื่อเป็นแบบนี้ Dell ก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ และปรับโครงสร้างรายได้ของบริษัทให้มีหลากหลายช่องทาง
ซึ่งพวกเขาก็ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2008 เพื่อเปลี่ยนตัวเองจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ ไปเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่มีหลากหลายบริการแบบครบวงจรไว้แก้ปัญหาของลูกค้า
ซึ่ง Dell ได้ใช้เงินจำนวนมากไปกับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ
นอกจากนี้ Dell ยังได้นำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ในปี 2013 โดยเขาให้เหตุผลว่าเนื่องจากบรรดาผู้ถือหุ้นต่างวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลง และสนใจแค่ผลประกอบการระยะสั้นของบริษัท
ในขณะที่ตัวเขาเองต้องการปรับเปลี่ยนบริษัทเพื่อให้อยู่รอดในระยะยาว
ดังนั้นเขาจึงนำบริษัทออกจากตลาดโดยการซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองคืน
ซึ่งก็มี Microsoft และ Silverlake รวมถึงตัวเขาเอง ที่เข้าซื้อหุ้นด้วย
ในเวลาต่อมา Dell ได้ตัดสินใจเข้าซื้อ EMC Corporation ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบ Cloud Computing ด้วยจำนวนเงินกว่า 2.27 ล้านล้านบาท และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Dell Technologies
จากการเข้ามากอบกู้บริษัทของ Dell ที่ได้เปลี่ยนทั้งโมเดลธุรกิจใหม่ รวมถึงการตัดสินใจนำบริษัทออกจากตลาด เพราะคิดว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการอยู่รอด ก็ได้ทำให้บริษัทเริ่มกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
และหากเรามาดูผลประกอบการของ Dell Technologies
ปี 2015 รายได้ 1.72 ล้านล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 2.08 ล้านล้านบาท เติบโต 21%
ปี 2017 รายได้ 2.67 ล้านล้านบาท เติบโต 28%
ด้วยรายได้ที่เติบโตสูงมาก ทำให้ในปี 2018 Dell ได้ตัดสินใจนำบริษัทกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งเพื่อระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการ
ปัจจุบัน Dell Technologies มีรายได้ในปี 2020 กว่า 3.19 ล้านล้านบาท
โดยเป็นสัดส่วนรายได้มาจาก
51.3% มาจากธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ IT, คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์
34.6% มาจากธุรกิจกลุ่มงานบริการทางด้านเครือข่ายระบบ IT อย่างเช่นการจัดเก็บข้อมูล, จำหน่ายเครื่องเซิร์ฟเวอร์ และการบริหารจัดการระบบ
12.6% มาจาก VMware ผู้ให้บริการระบบ Cloud Computing และ Virtualization Technology
1.5% มาจากรายได้อื่น ๆ
จากโครงสร้างดังกล่าวก็ทำให้ Dell Technologies กลายมาเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่มีความหลากหลายทางธุรกิจเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ที่มีเพียงธุรกิจผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในบางครั้ง “โอกาสทางธุรกิจ”
ก็อาจจะมีจุดเริ่มต้นจากงานอดิเรกและความช่างสังเกตของเรา
ซึ่ง Dell เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมากในด้านนี้ ตั้งแต่ที่เขามีงานอดิเรกทั้งการสะสมแสตมป์และการแยกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการศึกษาราคาต้นทุนส่วนประกอบ จนพบช่องว่าง ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ Dell Technologies ที่มีมูลค่าบริษัท 2.7 ล้านล้านบาท อยู่ในทุกวันนี้
และอีกเรื่องที่ Dell ให้ข้อคิดแก่เราก็คือ ความกล้าที่จะคิดและตัดสินใจ
เพราะตั้งแต่วันแรก เขาก็มองข้ามช็อตไปถึงการแข่งขันกับ IBM และ Apple
ซึ่งถือเป็น 2 ผู้ครองตลาดรายใหญ่ในขณะนั้น
และแน่นอนว่าในวันที่เขา ตัดสินใจจะเอาธุรกิจออกจากตลาดเพื่อความอยู่รอด
รวมถึงเข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากธุรกิจเดิมที่เชี่ยวชาญ
เขาก็น่าจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยง แทบจะทั้งหมด
แต่การตัดสินใจของเขา ก็ได้ทำให้บริษัทผ่านวิกฤติ
จน Dell Technologies สามารถอยู่รอดและยังคงสร้างการเติบโตได้ จนถึงทุกวันนี้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.referenceforbusiness.com/businesses/A-F/Dell-Michael.html
-https://www.chicagotribune.com/news/ct-xpm-1999-04-04-9904040065-story.html
-https://www.notablebiographies.com/news/Ca-Ge/Dell-Michael.html
-https://www.entrepreneur.com/article/197566
-https://www.biography.com/business-figure/michael-dell
-https://gulfnews.com/uae/the-dell-stamp-of-success-1.367202
-https://investors.delltechnologies.com/financial-information/quarterly-results
-https://www.statista.com/statistics/264911/dells-net-revenue-since-1996/
-https://www.youtube.com/watch?v=w3Td67CdWNI
-https://www.youtube.com/watch?v=uaBvJlHevAQ&t=324s
-https://www.reuters.com/article/us-dell-ipo-idUSKCN1OR14E
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.