เส้นทาง BTS จากบริษัทเกือบล้มละลาย สู่มหาอำนาจธุรกิจรถไฟฟ้า

เส้นทาง BTS จากบริษัทเกือบล้มละลาย สู่มหาอำนาจธุรกิจรถไฟฟ้า

22 ต.ค. 2021
เส้นทาง BTS จากบริษัทเกือบล้มละลาย สู่มหาอำนาจธุรกิจรถไฟฟ้า /โดย ลงทุนแมน
เมื่อพูดถึงการเดินทางภายในกรุงเทพฯ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าการจราจรติดขัดอันดับต้นของโลก
หนึ่งในทางเลือกของใครหลายคน คงไม่พ้น “รถไฟฟ้าบีทีเอส” เพราะสะดวก รวดเร็ว แล้วมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย
แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนบีทีเอสจะกลายเป็นรูปแบบการเดินทางที่นิยมใช้กันเหมือนในปัจจุบัน
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า ต้องเผชิญทั้งการต่อต้านจากประชาชน และมีผู้ใช้บริการเพียงน้อยราย จนเกือบทำให้ล้มละลาย
แล้วเรื่องราวของบริษัทรถไฟฟ้าแห่งนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของบีทีเอส เริ่มต้นขึ้นหลังจาก “คุณคีรี กาญจนพาสน์” ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ฮ่องกงมากว่า 30 ปี และประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจที่นั่นมาแล้ว เกิดรู้สึกสนใจกลับมาทำธุรกิจที่ประเทศไทย
เนื่องจากเล็งเห็นว่าในสมัยนั้น ที่ดิน ยังมีราคาถูก คุณคีรี และพี่ชายอย่างคุณอนันต์ จึงได้สะสมที่ดินใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ไว้
โดยต่อมา คุณอนันต์ ได้ก่อตั้งบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND
ซึ่งจะเน้นการดำเนินธุรกิจย่านชานเมือง โดยเฉพาะเมืองทองธานี
ขณะที่คุณคีรี ก็ได้ก่อตั้ง บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโปรเจกต์ใหญ่คือการสร้างเมืองใหม่ ในชื่อโครงการธนาซิตี้ บนที่ดินเกือบ 1,700 ไร่ ย่านบางนา-ตราด ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ
ก็ต้องบอกว่าในช่วงเวลานั้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเติบโตอย่างมาก
ทำให้ปี 2534 บริษัทธนายง สามารถจดทะเบียนเข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มีชื่อย่อว่า TYONG หรือที่นักลงทุนสมัยนั้น รู้จักกันในชื่อ “ตี๋หย่ง”
โดยในตอนแรก ธนายงยังคงโฟกัสเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เท่านั้น
แต่เวลาถัดมาสมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกิดแนวคิดที่จะสร้างรถไฟฟ้าขึ้นมา
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กรุงเทพฯ เริ่มมีปัญหาด้านการจราจรที่ติดขัด
คุณคีรีเห็นว่า ระบบการเดินทางแบบนี้ จะกลายเป็นที่นิยมในอนาคตอย่างแน่นอน
จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลโครงการ และก็เป็นผู้ชนะการประมูลไปได้สำเร็จ
ธนายง ได้รับสัมปทานสร้างและจัดการเดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปีนับจากวันที่เปิดให้บริการ
และได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงาน กทม. ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาที่ดินในการก่อสร้าง และไม่มีส่วนแบ่งผลประโยชน์ใด ๆ ในช่วงเวลาสัมปทาน
รวมถึงรัฐบาล ยังยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและภาษีเงินได้ให้เป็นเวลา 8 ปีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและวางระบบทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 54,925 ล้านบาท
เมื่อประมูลชนะแล้ว ธนายงจึงก่อตั้ง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี เป็นบริษัทย่อย เพื่อเข้าลงนามในสัญญาสัมปทานในการสร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้า
แม้ว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเป็นที่นิยมของผู้คนที่เดินทางไปมาในกรุงเทพฯ
แต่ต้องบอกว่าช่วงแรกที่มีการวางแผนสร้างอู่ซ่อมบำรุง บริเวณพื้นที่สวนลุมพินีนั้น
ได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างมาก เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ
นั่นจึงส่งผลให้บริษัทต้องเปลี่ยนแผนสถานที่ตั้งโรงซ่อมบำรุงใหม่หลายรอบ
จากเหตุการณ์เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่เกินคาดของคุณคีรี และก็ได้ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงกว่างบที่ตั้งไว้ แต่ในท้ายสุดแล้ว บีทีเอสซีก็ได้สถานที่สำหรับเป็นอู่ซ่อมบำรุง คือ “สถานีหมอชิต”
แม้ปัญหาแรกจะหมดไป แต่ต่อมาคุณคีรีก็ยังเจอปัญหาและหนักหนากว่าเดิม หลายเท่าจนถึงขนาดที่เกือบจะล้มละลาย นั่นคือเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง
จากวิกฤติในปี 2540 ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงถึง 130% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้ทั้งธนายง และบีทีเอสซี ที่กู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาจำนวนมาก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในช่วงเวลานั้นเอง คุณกวิน ลูกชายของคุณคีรี ในวัย 23 ปี ที่เพิ่งจบการศึกษามาจากอังกฤษพอดี ต้องเข้ามาช่วยงานที่บริษัท เช่นกัน
และแม้ว่าจะผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาได้ แต่คุณคีรีก็ยังเจอปัญหาเข้ามาซ้ำอีกครั้ง
เพราะในปี 2542 แม้ว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสจะสร้างเสร็จแล้ว โดยได้เริ่มการเดินรถสายสีเขียวเป็นเส้นทางระหว่างหมอชิตถึงอ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติถึงสะพานตากสิน
แต่เนื่องจากค่าใช้บริการที่ค่อนข้างสูงและรถไฟฟ้ายังเป็นสิ่งที่ถือว่าแปลกใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเข้ามาใช้บริการนัก
ช่วงปีแรก ๆ ที่เปิดให้บริการ บีทีเอสซีมีจำนวนผู้โดยสารเพียง 150,000 ต่อวัน
และเมื่อคนน้อย จึงทำให้ธุรกิจการปล่อยเช่าพื้นที่บนสถานีจึงน้อยลงตามไปด้วย
โดยบริษัท มีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4-5 ล้านบาท เท่านั้น
ซึ่งไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดในบริษัท
ทำให้ในปี 2545 บริษัทต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยสิ้นสุดกระบวนการในปลายปี 2549
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ธนายงจำเป็นต้องขายหุ้นบีทีเอสซีให้แก่เจ้าหนี้
จนสุดท้าย ธนายงเหลือหุ้นที่ถือสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของหุ้นทั้งหมด
แต่ด้วยเรื่องนี้เอง ก็ได้ทำให้บริษัทธนายงกลับเข้ามาซื้อขายหุ้น ได้ตามปกติอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามความนิยมลดลงไปอย่างมาก เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมาได้เหมือนเดิม
แต่ต่อมา ในปี 2551 รายได้ของบีทีเอสซีเริ่มกลับมาได้ตรงตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้
และถัดไปอีกปีหนึ่ง ก็เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสีลม จากสะพานตากสินถึงวงเวียนใหญ่
นั่นทำให้รายได้ของบีทีเอสซีสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนเส้นทางส่วนต่อขยายนั้น ทางบีทีเอสซีจะไม่ได้เป็นผู้รับรู้รายได้โดยตรงจากค่าโดยสาร
เพราะโครงการเหล่านี้ บริษัทเป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งถูกจ้างโดย กทม. อีกที
และเมื่อเริ่มตั้งตัวได้ บีทีเอสซีได้เริ่มขยายไปสู่ธุรกิจสื่อโฆษณาด้วย โดยการเข้าซื้อกิจการวีจีไอ 100% ซึ่งต่อมาธุรกิจนี้ ก็ได้เป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญให้แก่บีทีเอสซี
และเมื่อคุณคีรีเห็นว่า บีทีเอสซีกำลังไปในทิศทางที่ดี ตรงกันข้ามกับธนายง
เขาจึงตัดสินใจนำธนายงเข้าควบรวบกิจการบีทีเอสซี ด้วยการ “Backdoor Listing”
หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าวิธี “Reverse Takeover” ซึ่งจะเป็นการใช้กิจการขนาดเล็กเข้าซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่กว่าตนเอง เพื่อนำธุรกิจนั้น เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยไม่ต้อง IPO
โดยแหล่งที่มาของเงินทุน ก็มาจาก 2 ส่วน นั่นก็คือ
- กู้เงินจากธนาคารมาชำระเงินสด จำนวน 20,655.7 ล้านบาท
- ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท เพื่อชำระแทนเงินสด มูลค่า 19,378.8 ล้านบาท
ซึ่งก็ได้ทำให้ธนายง กลายมาเป็นเจ้าของบีทีเอสซี ในสัดส่วน 94.6%
และในที่สุด ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
หรือมีชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ที่เรารู้จักว่า BTS ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน นั่นเอง
หลังจากดีลครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
จากแต่เดิมที่บริษัทมีโครงสร้างรายได้หลักมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ก็เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจขนส่งมวลชน ผลประกอบการของบริษัทจึงเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ซึ่งก็ได้ทำให้ฐานะการเงินจากที่มีหนี้ต่อทุนสูง ก็เริ่มฟื้นตัว
เหตุการณ์ต่อจากนี้เหมือนกับฟ้าหลังฝน
เพราะปีต่อ ๆ มาล้วนทำให้ธุรกิจบีทีเอสแข็งแกร่งขึ้น
เช่น ปี 2554 บีทีเอสเริ่มให้บริการเดินรถในส่วนต่อขยายของสายสุขุมวิท จากอ่อนนุชถึงแบริ่ง
ปีต่อมา บีทีเอสซีได้ลงนาม ในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายของเส้นทาง เดินรถสายสีเขียว เป็นเวลา 30 ปี
รวมถึงขยายเวลาสัมปทานเส้นทางเดิมที่ตอนแรกครบกำหนด ภายในปี 2572 ก็ถูกเลื่อนเป็นปี 2585 แทน เรียกได้ว่า อยู่ยาวเลยทีเดียว
และปี 2556 บีทีเอสทำการขายสิทธิการรับรายได้ค่าโดยสาร ในอนาคตอีก 17 ปีข้างหน้าจากการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลัก ให้แก่กองทุน BTSGIF หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท
โดยบีทีเอส กรุ๊ป ก็ยังถือหน่วยลงทุนใน BTSGIF จำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด
นับว่าในตอนนั้น BTSGIF เป็นหนึ่งใน IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย โดยกองทุนมีมูลค่ากว่า 61,399 ล้านบาท
การเสนอขายกองทุนครั้งนี้ ส่งผลให้บีทีเอส กรุ๊ป มีเงินสดเพิ่มขึ้นในมืออย่างมหาศาล
ฐานะการเงินยิ่งแข็งแกร่งและมีเงินทุนเพียงพอสำหรับลงทุนโครงการใหม่ ๆ
ซึ่งทำให้ปัจจุบันบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ขยายธุรกิจ จนมีทั้งหมด 3 ส่วน
1. ธุรกิจ Move หรือผู้ให้บริการการเดินทางที่หลากหลาย
ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบ คือ
- ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เราใช้กันปกตินั่นเอง
- ธุรกิจที่นอกเหนือจากระบบขนส่งมวลชนทางราง
เช่น ระบบโดยสารด่วนพิเศษ BRT สนามบินอู่ตะเภา และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
2. ธุรกิจ Mix ประกอบด้วย ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งดำเนินผ่านบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน)
3. ธุรกิจ Match คือการลงทุนและร่วมมือกับเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจ
เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากธุรกิจ Move และ Mix ได้
โดยที่บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป จะได้ผลประโยชน์จากการเข้าไปถือหุ้นบริษัทพันธมิตร ซึ่งไม่ตํ่ากว่า 5% แต่ไม่เกิน 10%
แล้วรายได้และกำไรของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เป็นอย่างไร ?
ผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา
ปี 2562 รายได้ 48,618 ล้านบาท กำไร 2,873 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 38,681 ล้านบาท กำไร 8,162 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 42,379 ล้านบาท กำไร 4,576 ล้านบาท
(รอบปีการเงินของ BTS เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2564)
ปัจจุบัน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีมูลค่าบริษัท 127,025 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ เราก็น่าจะได้รู้จักกับผู้พัฒนารถไฟฟ้าในประเทศไทยไปแล้ว ไม่มากก็น้อย
ก็ต้องบอกว่าบีทีเอส เป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่ลุยมาแล้วทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง และการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ ก็น่าจะทำให้สามารถรับมือวิกฤติโรคระบาดในปัจจุบัน รวมถึงการฟื้นตัวและกลับมาสร้างการเติบโตจากทั้งการทำธุรกิจและการลงทุนต่อ ๆ ไป ในอนาคต..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
-https://forbesthailand.com/people/
-https://thelist.group/realist/blog/bts-group/
-https://marketeeronline.co/archives/122306
-https://www.siamturakij.com/news/1469-BTS
-http://www.iammrmessenger.com/btsgif-infrastructure-fund-
-https://stock2morrow.com/discuss/room/1/topic/7003
-https://makeincomeforlife.blogspot.com/2014/11/btstyong.html
-https://themomentum.co/bts-skytrain-concession/
-https://www.set.or.th/th/products/listing/files/RTO_NEW_B.pdf
-https://th.wikipedia.org/wiki
-https://th.wikipedia.org/wiki/
-https://www.btsgif.com/th/about-btsgif/btsgif-structure
-https://www.thebangkokinsight.com/news/ceo-insight/117831/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.