ทำไม โควิด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ถึงน่าเป็นห่วง ขั้นสูงสุด

ทำไม โควิด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ถึงน่าเป็นห่วง ขั้นสูงสุด

26 พ.ย. 2021
ทำไม โควิด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ถึงน่าเป็นห่วง ขั้นสูงสุด /โดย ลงทุนแมน
ในวันนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกลงเละเทะ รวมถึงตลาดหุ้นไทย ที่ติดลบ 37.85 จุด ภายในวันเดียว
หลายคนได้ยินข่าวโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ทำให้ตลาดหุ้นลงหนักทั่วโลก
แต่ก็อาจจะยังงง ๆ ว่าสายพันธุ์นี้มันต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร ทำไมต้องกลัวกัน
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
ว่าทำไม โควิด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ถึงน่าเป็นห่วง ขั้นสูงสุด..
1) สายพันธุ์ใหม่มีชื่อว่า B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ โดยประเด็นที่สำคัญที่สุดของสายพันธุ์นี้ก็คือ มันกลายพันธุ์จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม มีการกลายพันธุ์ถึง 50 ตำแหน่ง โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ในส่วนของหนามโปรตีน หรือ Spike Protein ที่พบการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่ง
2) การกลายพันธุ์ตรงส่วนของหนามโปรตีนมีความสำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบหลายอย่าง ทั้งความสามารถในการเข้าเซลล์ของไวรัส การแพร่ระบาด ไปจนถึงรูปร่างที่เปลี่ยนไป จนภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มาจากวัคซีนจำไม่ได้ ทำให้วัคซีนที่เราใช้กันอยู่อาจไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งหากเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นอีก ก็จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องสะดุดลงอีกรอบ และก็เป็นสาเหตุให้ตลาดหุ้นกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
3) เรื่องมันเริ่มมาจากว่า แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่ำที่สุดประเทศหนึ่ง มีเพียง 28% ของประชากรเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ HIV มากถึง 20% ของประชากร
4) นักวิจัยจาก UCL Genetics Institute ระบุว่า ปกติแล้วไวรัสจะกลายพันธุ์ได้ทีละตำแหน่ง ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเท่าการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งพร้อมกัน ที่จะเกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิดที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และต้องใช้เวลานานในการรักษา แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการระบาดของโควิดหลายระลอก และมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นประเทศที่พบการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งได้ง่าย
5) ตอนนี้การระบาดของสายพันธุ์นี้ แพร่กระจายไปส่วนหนึ่งแล้วในแอฟริกาใต้ ในหลักร้อยเคส และมันได้แพร่กระจายไปแล้วในประเทศบอตสวานา ฮ่องกง (เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้) และอิสราเอล (เดินทางมาจากประเทศมาลาวี)
6) ที่ฮ่องกงมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนที่พบเชื้อมีค่า CT อยู่ที่ 18-19 ซึ่งแปลว่ามีปริมาณไวรัส “สูงมาก” ทั้งที่ก่อนหน้านั้นผลทดสอบ RT-PCR ออกมาเป็นลบ (ค่า CT ยิ่งต่ำ แปลว่ามีปริมาณไวรัสสูง)
และผู้ป่วยทั้งสองที่ติดเชื้อ พักอยู่คนละห้องซึ่งมีโถงทางเดินกั้น และมีการติดเชื้อกันในระหว่างกักตัวอยู่ในโรงแรมเดียวกัน โดยที่ทั้งคู่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน ซึ่งหมายความว่าไวรัสสายพันธุ์นี้อาจทำให้มีการติดเชื้อผ่านทางอากาศได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
โดยทวิตเตอร์ของ ดร.ฟีเกล-ดิง ได้ทวีตข้อความว่า “ไวรัสสายพันธุ์นี้น่าจะสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้จริง และยังแพร่กระจายเชื้อในอากาศได้ด้วย นอกจากนั้นหลังจากได้เก็บตัวอย่างที่ลอยอยู่ในอากาศระหว่างห้องพักทั้ง 2 ห้องไปตรวจ พบเชื้อไวรัสถึง 25 จาก 87 ตัวอย่าง”
7) ตอนนี้องค์การอนามัยโลกกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยที่มีหลายประเทศสั่งปิดเที่ยวบินจากกลุ่มประเทศในแอฟริกาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักรสั่งปิดเที่ยวบินจาก 6 ประเทศในแอฟริกา, สิงคโปร์ห้ามคนเดินทางจากแอฟริกาใต้และประเทศใกล้เคียงเข้าประเทศ, เยอรมนีและอิตาลีได้สั่งห้ามเข้าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ และสหภาพยุโรปกำลังเสนอให้ยกเลิกเที่ยวบินจากประเทศในตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ขณะที่อินเดียเพิ่มมาตรการในการตรวจคนที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ บอตสวานา และฮ่องกง
ขณะที่แอฟริกาใต้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของสหราชอาณาจักรว่า “รีบร้อนเกินไป”
8) องค์การอนามัยโลกกำลังประชุมในวันศุกร์นี้ถึงไวรัสสายพันธุ์นี้ และจะตัดสินใจว่ามันเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังหรือไม่ ถ้าใช่ ไวรัสสายพันธุ์นี้ก็จะได้รับการตั้งชื่อเป็นตัวอักษรกรีก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีชื่อว่า “Nu”
9) พอเรื่องเป็นแบบนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ลงเละทันที
ตลาดหุ้นไทย ลงไป 37.85 จุด (-2.3%)
ฮั่งเส็งฮ่องกง ลงไป 659 จุด (-2.7%)
ดาวโจนส์ฟิวเจอร์สสหรัฐฯ ลงไป 800 จุด (-2.2%)
FTSE สหราชอาณาจักร ลงไป 208 จุด (-2.9%)
10) เรื่องนี้คงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับทุกประเทศทั่วโลกว่า การที่แจกจ่ายวัคซีนให้กับประเทศตัวเองแล้วหวังว่าประชาชนในประเทศตัวเองจะมีภูมิคุ้มกัน โดยไม่สนประเทศอื่นที่ได้รับวัคซีนช้ากว่า สุดท้ายการกลายพันธุ์ในประเทศที่ด้อยกว่าก็จะย้อนกลับมาทำร้ายประเทศที่เหนือกว่าไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา มีอัตราการได้รับวัคซีนอยู่ที่เพียง 1% - 20% ของประชากรในประเทศเท่านั้น
11) ถ้าไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดไปทั่วโลกจริง มันก็อาจเป็นเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความสามารถในการป้องกันของวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง และนั่นก็ส่งผลให้การคิดค้น และแจกจ่ายวัคซีนกลับต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ นั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.