การลงทุนแบบ DCA ซื้อเฉลี่ยไปเรื่อย ๆ บางทีก็มีข้อเสีย

การลงทุนแบบ DCA ซื้อเฉลี่ยไปเรื่อย ๆ บางทีก็มีข้อเสีย

13 ธ.ค. 2021
การลงทุนแบบ DCA ซื้อเฉลี่ยไปเรื่อย ๆ บางทีก็มีข้อเสีย /โดย ลงทุนแมน
นักลงทุนหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Dollar-Cost Averaging (DCA)
ซึ่งหมายถึงการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน โดยปกติมันมีการกำหนดเป็นรายเดือนทุกเดือน รายไตรมาส หรือแม้แต่รายปี
กลยุทธ์นี้ถูกคิดขึ้นเพื่อตัดปัญหาการจับจังหวะตลาด (Market Timing)
หรือปัญหาที่ว่า เราควรซื้อตอนไหนดี เพราะมันเป็นเรื่องยาก ที่จะคาดการณ์ว่าราคาสินทรัพย์นั้น ๆ จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางไหนในอนาคต
แม้ว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
แต่ก็มีบางประเด็นที่เรา “ไม่ควรมองข้าม”
แล้วสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อลงทุนแบบ DCA มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรามาดูข้อดีหลัก ๆ ของการลงทุนแบบ Dollar-Cost Averaging (DCA) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน กันก่อน
- ช่วยตัดปัญหาเรื่องการจับจังหวะตลาดผิดพลาด
ถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้น ความผันผวนของราคาหุ้น คือสิ่งที่นักลงทุนทุกคนต้องเจอ
ซึ่งทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยพยายามจับจังหวะตลาด ด้วยการตั้งเป้าที่จะซื้อในราคาที่ต่ำ และขายในราคาที่สูง
แต่ความเป็นจริง การจับจังหวะตลาดนั้นเป็นเรื่องยากมาก
เช่น ถ้าเราทุ่มเงินซื้อหุ้นบริษัท A ที่ราคา 10 บาทต่อหุ้น เพราะคาดว่าราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้น แต่พอเวลาผ่านไปราคาหุ้นกลับลดลงเหลือ 5 บาท แบบนี้เราก็เสียหายหนัก
ซึ่งถ้าเราลงทุนแบบ DCA คือแบ่งการลงทุนเป็นช่วง ๆ อย่างสม่ำเสมอ มันจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่จะจับจังหวะตลาดผิดพลาดได้ จากการที่เราถัวเฉลี่ยต้นทุนในการลงทุน
- ไม่ต้องลงทุนทั้งหมดในครั้งเดียว
ประโยชน์อีกข้อคือ กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA จะช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องใช้เงินลงทุนก้อนเดียวทั้งหมดซื้อหุ้น ดังนั้น จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนตั้งต้นไม่มาก แต่ต้องการทยอยสะสมหุ้นที่เราต้องการไปเรื่อย ๆ
ซึ่งแบบนี้ จะดีกว่าการที่เราไปรอให้เก็บเงินก้อนเยอะ ๆ แล้วไปซื้อทีเดียว เพราะตอนนั้น ราคาหุ้นที่เราต้องการซื้ออาจขึ้นไปสูงมากกว่าแล้วก็ได้ แล้วยังมีความเสี่ยงเรื่องจับจังหวะตลาดผิดพลาดเหมือนข้อ 1 อีก
- ในช่วงตลาดขาลง การลงทุนแบบ DCA จะช่วยให้เราได้จำนวนหุ้นมากขึ้น ด้วยเงินลงทุนเท่าเดิม
ลองนึกภาพว่า ถ้าเราซื้อหุ้นบริษัท A จำนวน 1,000 หุ้น ที่ราคา 100 บาท โดยซื้อครั้งเดียว ต้นทุนของเราจะอยู่ที่ 100 บาท โดยใช้เงินลงทุน 100,000 บาท
จากกรณีข้างต้น ถ้าเราตั้งใจจะแบ่งการซื้อหุ้นบริษัท A เป็น 2 ครั้ง โดยแบ่งเงินเป็นครั้งละ 50,000 บาท ในครั้งที่ 1 เมื่อราคาหุ้นบริษัท A อยู่ที่ 100 บาท เราจะได้หุ้นบริษัท A จำนวน 500 หุ้น
แต่เมื่อหุ้นบริษัท A ลงมาอยู่ที่ 75 บาท ด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม เราจะได้หุ้นบริษัท A จำนวน 666 หุ้น ซึ่งในกรณีนี้ จำนวนหุ้นที่เราได้ทั้งหมดจะอยู่ที่ 1,166 หุ้น มากกว่า 1,000 หุ้นในกรณีแรก
ซึ่งไม่เพียงแต่จำนวนหุ้นที่ได้มากขึ้น
แต่ราคาเฉลี่ยของหุ้นที่ซื้อมา ก็ต่ำลงเมื่อเทียบกับกรณีที่ซื้อครั้งเดียวด้วย
ถ้าดูแบบนี้ เราจะเห็นว่า กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA นั้นมีข้อดีอยู่หลายด้านเหมือนกัน
โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่ได้มีเงินลงทุนก้อนใหญ่ และไม่มีความชำนาญในการจับจังหวะตลาด
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางด้านที่เราไม่ควรมองข้าม ถ้าเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA
เรามาดูกันว่ามีเรื่องไหนบ้าง
- การลงทุนแบบ DCA จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนแบบครั้งเดียว ในช่วงที่เรามั่นใจว่าเป็นราคาที่เหมาะสม
จากกรณีหุ้น A ก่อนหน้านี้ ณ วันที่เราซื้อหุ้นครั้งเดียวเราจะได้หุ้นจำนวน 1,000 หุ้น โดยที่ต้นทุนของเราจะอยู่ที่ 100 บาท
ต่อมา ถ้าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 120 บาท ถ้าเราแบ่งเงินซื้อครั้งละ 50,000 บาท ณ ตอนที่เราซื้อครั้งที่ 2 เราจะได้จำนวนหุ้นเพียง 416 หุ้น
ดังนั้น จำนวนหุ้นทั้งหมดที่ได้คือ 916 หุ้น ไม่เพียงแต่จะได้จำนวนหุ้นน้อยกว่ากรณีแรก แต่ต้นทุนเฉลี่ยยังสูงกว่าด้วย
พอเรื่องเป็นแบบนี้จึงทำให้การลงทุนแบบ DCA จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนครั้งเดียว ถ้าหุ้นนั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ
- จำเป็นต้องมีเงินลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากการลงทุนแบบ DCA เป็นการใช้เงินลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ดังนั้น คนที่เลือกใช้กลยุทธ์นี้ ก็ต้องมั่นใจว่าเราจะมีเงินเพื่อนำไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
ซึ่งถ้าคิดในมุมนี้ ก็อาจบอกได้ว่า สำหรับคนที่ไม่ได้มีรายได้หรือกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจไม่เหมาะที่จะใช้การลงทุนแบบ DCA เพราะอาจทำให้ไม่สามารถลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ขาดรายได้หรือเงินสดเข้ามานั่นเอง
- เราอาจจมกับหุ้นที่แย่ ต้องวิเคราะห์และเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุนให้ดี
แม้ว่า ในช่วงตลาดขาลง การลงทุนแบบ DCA จะช่วยให้เราได้จำนวนหุ้นมากขึ้นด้วยเงินลงทุนเท่าเดิม และทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเราลดลง แต่นั่นต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ราคาหุ้นที่ลดลงนั้นจะกลับมาปรับตัวขึ้นในอนาคต และการลงทุนของเราจะประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
เพราะถ้าหุ้นที่เราไปเลือกลงทุนแบบ DCA นั้นปรับตัวลดลงตลอดเวลาที่เราลงทุน แบบนี้เราจะบาดเจ็บหนัก และขาดทุนอยู่ตลอดเวลา ได้เช่นกัน
ดังนั้น ก่อนที่จะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA ในหุ้นสักตัว เราต้องวิเคราะห์และเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุนให้ดี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า หุ้นตัวนี้ในระยะยาวมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวขึ้น ไม่ใช่ปรับตัวลง
เพราะจุดเด่นข้อสำคัญของการลงทุนแบบ DCA คือมันช่วยให้เรา “ถัวเฉลี่ยต้นทุน” ลดความผิดพลาดจากการลงทุนแบบจับจังหวะตลาด
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะได้ไอเดียเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA ไปบ้างไม่มากก็น้อย
แต่ไม่ว่าเราจะใช้กลยุทธ์แบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่เราจะลงทุนในหุ้นของบริษัทสักแห่งก็คือ เราต้องศึกษา ทำความรู้จักบริษัทที่เราจะลงทุนก่อนเสมอ ๆ
เช่น เราต้องรู้ว่าธุรกิจที่เราเอาเงินไปลงทุนด้วย เขาทำอะไร มีโมเดลรายได้อย่างไร สถานะการเงินเข้มแข็งไหม แนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างไร
เพราะถ้าเราไม่ศึกษา หรือไม่ทำความรู้จักกับหุ้นหรือสินทรัพย์นั้น
แม้ว่าเราจะใช้กลยุทธ์อะไร มันก็ไม่สำเร็จอยู่ดี..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://en.wikipedia.org/wiki/Dollar_cost_averaging
-https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/262-dca-or-va
-https://www.investopedia.com/articles/forex/052815/pros-cons-dollar-cost-averaging.asp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.