POP MART ร้านขายของเล่น แบบกล่องสุ่ม มูลค่าแสนล้าน

POP MART ร้านขายของเล่น แบบกล่องสุ่ม มูลค่าแสนล้าน

15 ธ.ค. 2021
POP MART ร้านขายของเล่น แบบกล่องสุ่ม มูลค่าแสนล้าน /โดย ลงทุนแมน
ทุกวันนี้ เราได้เห็นผู้ประกอบการหลายราย นำกลยุทธ์การตลาดแบบ Mystery Box หรือ “กล่องสุ่ม” มาประยุกต์ใช้ขายสินค้าของตนเองกันมากขึ้น
เหตุผลเนื่องจาก “ความไม่รู้” นั้นเป็นเสน่ห์ที่สร้างความสนุกตื่นเต้น ทำให้ผู้ซื้อยอมจ่ายเงิน เพื่อลุ้นว่ามีอะไรอยู่ภายในกล่อง
รู้ไหมว่า ในประเทศจีน มีร้านขายของเล่น ชื่อว่า “POP MART” ก็ใช้กลยุทธ์กล่องสุ่มดังกล่าว จนสามารถทำยอดขายสินค้าได้สูงถึงหลักหมื่นล้านบาท เลยทีเดียว
เรื่องราวของ POP MART น่าสนใจอย่างไร
แล้วทำไมถึงได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
POP MART เป็นร้านขายของเล่นสะสมจากประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว โดยชายหนุ่มชาวจีนที่ชื่อว่า หวางหนิง
ในอดีต หวางหนิง เคยทำงานอยู่ที่บริษัท Sina Corporation ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดังอย่าง Weibo แต่ต่อมาตัดสินใจลาออก เพราะต้องการประกอบธุรกิจของตัวเอง
ระหว่างที่กำลังหาไอเดียทำธุรกิจ เขาได้เดินทางไปยังฮ่องกง และพบกับร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์ประเภทต่าง ๆ ชื่อว่า LOG-ON เลยเกิดความสนใจอยากนำเอาคอนเซปต์ร้านแนวนี้ ไปลองเปิดในกรุงปักกิ่งดูบ้าง
หวางหนิง จึงได้ร่วมกับเพื่อน ๆ เช่าพื้นที่ในห้าง เปิดร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์แนว Pop Culture สำหรับวัยรุ่นชาวจีน โดยตั้งชื่อร้านว่า “POP MART”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พวกเขาเริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า เนื่องจากวางขายสินค้าหลากหลายเกินไป
ในช่วงปี 2014 ร้าน POP MART จึงเตรียมปรับลดประเภทสินค้าลง และทำการศึกษาข้อมูลยอดขาย
จนพวกเขาพบว่า ของเล่นสะสม หรือ Art Toy ในลักษณะของกล่องสุ่ม เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากสุดในร้าน
พอเห็นเช่นนั้น ก็ทำให้ หวางหนิง นึกถึง “กาชาปอง” ตู้ขายของเล่นอัตโนมัติ ในประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้ซื้อต้องหยอดเหรียญกดแคปซูลออกมา แล้วลุ้นว่าจะได้ตัวการ์ตูนอะไร จึงเกิดแรงบันดาลใจ เปลี่ยนธุรกิจร้าน POP MART มามุ่งเน้นขายของเล่นสะสมแบบกล่องสุ่ม เพียงอย่างเดียว
แต่เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้แตกต่างจากของเล่นสะสมทั่วไป เขาได้เจรจากับ Kenny Wong ศิลปินชื่อดังชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน Art Toy ชื่อว่า “Molly” ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น ให้มาออกแบบคอลเลกชัน Molly และวางขายที่ POP MART เท่านั้น

และต่อมา บริษัทก็ร่วมมือกับศิลปินอีกหลายราย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์รุ่นต่าง ๆ เช่น Dimoo, SKULLPANDA, Bunny รวมถึงเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ระดับโลกอย่าง The Walt Disney และ Universal Studios เพื่อนำตัวการ์ตูนมาผลิตเป็นของเล่นสะสมภายใต้แบรนด์ POP MART
โดยกล่องสุ่มของ POP MART มีราคาอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อกล่อง ซึ่งแต่ละคอลเลกชัน จะมีทั้งผลงานแบบธรรมดา และแบบหายาก หรือมีจำนวนจำกัด
แล้ว POP MART มียอดขายมากแค่ไหน ?
ในปัจจุบัน POP MART มีหน้าร้านของตัวเองอยู่ 215 สาขา และมีตู้ขายอัตโนมัติ ที่บริษัทเรียกว่า “Roboshops” อยู่ตามถนนและห้างสรรพสินค้าอีก 1,477 ตู้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่าย รวมทั้งวางขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน ไม่ว่าจะเป็น WeChat, Tmall หรือ JD.com
ซึ่งพอสินค้าถูกออกแบบโดยศิลปินชื่อดัง และสวยงามน่าซื้อเก็บสะสม ประกอบกับมีโอกาสได้สุ่มลุ้นรุ่นต่าง ๆ จึงทำให้แบรนด์ของเล่น POP MART ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
นอกจากนั้น การใช้กลยุทธ์กล่องสุ่ม ได้ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าซื้อทีละหลายกล่อง หรือกลับมาซื้อซ้ำ จนกว่าจะได้แบบที่ต้องการ โดยจากสมาชิกจำนวน 11.4 ล้านราย มีอัตราการซื้อซ้ำถึง 49% ในช่วงปีที่ผ่านมา
และยังทำให้ร้านบริหารจัดการสต็อกสินค้าได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย เพราะสามารถระบายของได้ทุกรุ่น แม้แต่รุ่นที่ตลาดไม่นิยม ซึ่งแก้ปัญหาที่ POP MART เคยเจอมาก่อน
ด้วยเหตุนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัท Pop Mart International Group จึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2019 รายได้ 8,900 ล้านบาท กำไร 2,400 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 13,000 ล้านบาท กำไร 2,800 ล้านบาท
6 เดือนแรก ปี 2021 รายได้ 9,400 ล้านบาท กำไร 1,900 ล้านบาท
โดยบริษัท มีสัดส่วนรายได้จากช่องทางการขาย ดังนี้
- หน้าร้าน POP MART 38%
- แพลตฟอร์มออนไลน์ 38%
- ตู้ขายอัตโนมัติ Roboshops 13%
- ขายส่งให้ร้านค้าปลีกอื่น ทั้งในและต่างประเทศ 11%
ทั้งนี้ POP MART ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020
โดยล่าสุด บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 278,000 ล้านบาท
ส่งผลให้ ผู้ก่อตั้งกิจการอย่าง หวางหนิง ในวัย 34 ปี ซึ่งถือหุ้น POP MART อยู่ราว 46%
กลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อย ที่ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินส่วนตัวถึงราว 130,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ POP MART ต้องเจอในอนาคต คงหนีไม่พ้น การออกแบบของเล่นสะสมให้ตามทันเทรนด์ความชื่นชอบของตลาด และควรระวังไม่ให้การขายแบบกล่องสุ่ม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถูกเอาเปรียบมากเกินไป จนเบื่อหน่ายและอาจเลิกซื้อได้
ข้อคิดที่น่าสนใจจากเรื่องราวนี้คือ
ในบางครั้ง เราสามารถใช้วิธีการทางธุรกิจที่มีอยู่เดิม มาผสมผสานเข้ากับสินค้าของตัวเอง และต่อยอดเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครได้
เหมือนในกรณีของ POP MART ที่นำกลยุทธ์กล่องสุ่มมาใช้ แต่สร้างสรรค์ให้ของเล่น กลายเป็นผลงานศิลปะ ที่ควรค่าแก่การเสียเงินมาเก็บสะสม จนทำยอดขายได้ถึงหมื่นล้านบาท และมีมูลค่าธุรกิจเกือบ 3 แสนล้านบาท
ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไป เมื่อผู้คนพูดถึงของเล่นสะสมแบบกล่องสุ่ม
จากที่ส่วนใหญ่เคยนึกถึง กาชาปอง จากประเทศญี่ปุ่น
อาจเริ่มเปลี่ยนมาพูดถึงของเล่นแบรนด์ POP MART จากประเทศจีนแทน ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3121164/pop-mart-how-millennial-entrepreneur-wang-ning-became
-https://www.youtube.com/watch?v=fMNB0kSv6j0
-https://www.blockdit.com/posts/602b25f0ba755a0bbb684646
-https://finance.yahoo.com/quote/9992.HK/financials?p=9992.HK
-https://cdn.shopify.com/s/files/1/0339/7091/3412/files/INTERIM_REPORT_2021.pdf?v=1632820251
-https://www.forbes.com/profile/wang-ning-1/?sh=750e6a017e92
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.