โพนี หม่า ยอมเสียหุ้นเกือบครึ่งบริษัท เพื่อสร้าง Tencent บริษัทมูลค่ามากสุดในจีน

โพนี หม่า ยอมเสียหุ้นเกือบครึ่งบริษัท เพื่อสร้าง Tencent บริษัทมูลค่ามากสุดในจีน

25 ธ.ค. 2021
โพนี หม่า ยอมเสียหุ้นเกือบครึ่งบริษัท เพื่อสร้าง Tencent บริษัทมูลค่ามากสุดในจีน /โดย ลงทุนแมน
ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “Tencent” เจ้าแห่งธุรกิจเกมใหญ่ที่สุดในโลก
โดยบริษัทเป็นเจ้าของเกม ไม่ว่าจะเป็น League of Legends, RoV และ Pokémon UNITE
ในขณะเดียวกัน Tencent ก็ยังเป็นเจ้าของ WeChat แอปแช็ตที่มีผู้ใช้งานกว่า 1,200 ล้านบัญชี
ซึ่งมากเป็น 7 เท่า เมื่อเทียบกับ LINE แอปแช็ตยอดนิยมในประเทศไทย
ปัจจุบัน Tencent เป็นบริษัทที่มีมูลค่า 18 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศจีน
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในช่วงแรกนั้น Tencent ไม่ได้มีเส้นทางที่สวยหรูและง่ายดายเท่าไรนัก
Tencent เริ่มต้นทำธุรกิจอะไร
แล้วใครกันที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ทั้งหมดนี้ ?
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวของอาณาจักร Tencent ได้เริ่มต้นมาจากชาย
ที่มีชื่อว่า Ma Huateng หรืออีกชื่อที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดีคือ “โพนี หม่า”
คุณโพนี หม่า เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1971 ที่เมืองโจวหยาง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยชีวิตในวัยเด็กของเขานั้น เติบโตขึ้นมากับคุณพ่อซึ่งเป็นผู้จัดการท่าเรือ
ต่อมา พ่อของเขาได้ย้ายมาคุมท่าเรือที่เมืองเซินเจิ้น ทำให้ครอบครัวรวมถึงคุณโพนี หม่า ต้องย้ายที่อยู่อาศัยตามมาด้วย
จนในปี ค.ศ. 1989 เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น ในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และได้จบการศึกษาในปี ค.ศ. 1993
หลังจากจบการศึกษา เขาก็ได้เริ่มต้นทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ China Motion Telecom Development ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายและให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านโทรคมนาคม โดยงานของเขาเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับวิทยุติดตามตัว
นอกจากนี้ เขายังได้ทำงานให้กับบริษัท Shenzhen Runxun Communications ในแผนกวิจัยและพัฒนาระบบบริการโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต
ในขณะนั้น เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจประเทศจีนกำลังเติบโต ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เริ่มทำการปฏิวัติเศรษฐกิจในประเทศครั้งใหญ่ จากระบบคอมมิวนิสต์แบบรวมศูนย์ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ตามนโยบาย “สี่ทันสมัย”
ทำให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 เป็นต้นมา เทศบาลเมืองเซินเจิ้น ก็ได้มีการวางแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ด้วยการดึงดูดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้ามาก่อตั้งบริษัทเอกชนที่นี่ หากนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 จนถึงปี ค.ศ. 1997 GDP ของจีนมีการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้นมากถึง 11.38% ต่อปีเลยทีเดียว
ด้วยความที่นโยบายจากทางรัฐบาลจีนเองที่สนับสนุนด้านเทคโนโลยี
บวกกับคุณโพนี หม่า เอง ก็ทำงานอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว
ทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับโปรแกรมแช็ต “ICQ” ซึ่งนับเป็นโปรแกรมแช็ตอันดับแรก ๆ ของโลก
ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในปี ค.ศ. 1996 โดยบริษัทสัญชาติอิสราเอลชื่อว่า Mirabilis
คุณโพนี หม่า เห็นว่า ICQ มีการเติบโตที่รวดเร็วมาก เพราะหลังเปิดตัวได้เพียง 5 ปี
ICQ ก็มีผู้ใช้งานมากถึง 100 ล้านบัญชี

ประกอบกับในเวลานั้น ณ ประเทศจีนยังคงไม่มีโปรแกรมแช็ตในลักษณะนี้เลย แม้แต่ MSN Messenger ของ Microsoft เอง ก็เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1999 หรือ 3 ปีหลังจาก ICQ
คุณโพนี หม่า จึงมองว่าแอปแช็ตนี่แหละ เป็นโอกาส จึงทำให้ในปี ค.ศ. 1998 เขาและเพื่อนอีก 5 คน ตัดสินใจร่วมกันก่อตั้งบริษัท “Tencent” ขึ้นมา
และแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัท ก็คือโปรแกรมแช็ตลักษณะคล้ายกับ ICQ
โดยคุณโพนี หม่า ก็ได้ตั้งชื่อโปรแกรมตัวนี้ว่า “OICQ” ซึ่งเขานำไอเดียแทบจะทั้งหมดของ ICQ มาปรับให้สามารถรองรับภาษาจีนได้ โดยภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “QQ” เนื่องจากมีปัญหาเรื่องชื่อที่คล้ายกับ ICQ
สำหรับกลยุทธ์ในการสร้างฐานลูกค้าของบริษัทในช่วงแรก คุณโพนี หม่า เปิดให้ QQ สามารถใช้งานได้ฟรี
ซึ่งก็เป็นไปตามที่เขาคาด หลังจากเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1999 เพียง 1 ปี QQ มียอดผู้ใช้งานเติบโต จนสูงทะลุ 1 ล้านบัญชี
อย่างไรก็ตาม ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ Tencent ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ประกอบกับในช่วงเวลานั้น โลกของเรายังไม่มีธุรกิจคลาวด์อย่าง AWS ของ Amazon หรือ Google Cloud ของ Alphabet ที่สามารถใช้บริการ as a service ที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า
โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ของบริษัทที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะธุรกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและกำลังโฟกัสไปที่กลยุทธ์การเปิดให้ใช้ฟรีเพื่อสร้างฐานผู้ใช้งาน
จึงทำให้ Tencent ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง คุณโพนี หม่า จึงต้องออกตามหาผู้ให้เงินระดมทุนเพื่อให้บริษัทอยู่รอดต่อไปได้
แต่ด้วยความที่ Tencent เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาได้ไม่กี่ปี และไม่มีรูปแบบการสร้างรายได้ที่ชัดเจน ธนาคารจึงยังไม่กล้าที่จะให้เงินกู้ หรือแม้แต่เหล่าผู้ให้เงินระดมทุนต่าง ๆ ก็ไม่มีใครกล้าที่จะให้เงินลงทุนกับเขา
ในที่สุด “Naspers” บริษัทโฮลดิงจากแอฟริกาใต้ที่สนใจเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตก็ได้เข้ามาเสนอเงินจำนวน 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท แลกกับหุ้นของ Tencent มากถึง 46.5%
และแม้ว่าจะต้องเสียหุ้นเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อต่อลมหายใจของบริษัท
คุณโพนี หม่า จึงต้องยอมตกลงกับดีลนี้
ณ ขณะนั้น QQ มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านบัญชีแล้ว
บวกกับเงินทุนกว่า 1 พันล้านบาท ที่เพิ่งได้รับมาจาก Naspers
ทำให้บริษัทมีความพร้อมและเริ่มหาโมเดลธุรกิจที่จะสามารถสร้างรายได้
โดยคุณโพนี หม่า ก็ได้ทดลองใช้แนวทางต่าง ๆ เช่น การเปิดให้สมัครแบบพรีเมียมและคิดค่าใช้บริการ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
จนในที่สุด บริษัทก็สามารถหาวิธีสร้างรายได้ในปี ค.ศ. 2001 ด้วยวิธีการเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถสร้าง Avatar หรือตัวแทนเสมือนของตัวเองขึ้นมา
ในที่นี้ก็คือ ผู้ใช้งานสามารถทำการซื้อไอเทมต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า, กระเป๋า เพื่อมาตกแต่ง Avatar ของตัวเองได้ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าฟีเชอร์ดังกล่าวเป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวจีน และมันก็ได้เริ่มสร้างรายได้ให้กับบริษัท
ด้วยเหตุนี้ รายได้ของ Tencent ก็เริ่มเติบโต จนในปี ค.ศ. 2004
บริษัทมีรายได้ 6,000 ล้านบาท กำไร 2,300 ล้านบาท
และสามารถจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้สำเร็จ
หลังจากนั้น Tencent ก็ได้เริ่มขยายเข้าสู่ธุรกิจอื่น ด้วยกลยุทธ์การเข้าไปลงทุนและการซื้อกิจการ
โดยหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่บริษัทโฟกัสมากที่สุดก็คือ “ธุรกิจเกม”
ยกตัวอย่างบริษัทที่เข้าซื้อก็เช่น
- Riot Games เจ้าของเกม League of Legends
- Epic Games เจ้าของเกม Fortnite
- Supercell เจ้าของเกม Clash of Clans
ในช่วงเวลาเดียวกัน Tencent ก็ได้พัฒนาแอปแช็ตที่ชื่อว่า “WeChat” ขึ้นมา
ซึ่งได้เปิดให้บริการครั้งแรกในปี ค.ศ. 2011
โดยปัจจุบัน WeChat ก็ได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นแอปที่มีบริการครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของชาวจีน
เช่น WeChat Pay สำหรับชำระสินค้าบริการ และมีฐานผู้ใช้งานเกินกว่า 1,200 ล้านบัญชี
นอกจากนี้ Tencent ก็ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัทมากมายหลากหลายธุรกิจด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่น Tesla, NIO, Spotify และ JD.com
จากกลยุทธ์ที่บริษัทจะนำ “เงินสด” จากการทำกำไรในแต่ละปีไปลงทุนทั้งในธุรกิจเกมและธุรกิจอื่น ๆ
ทำให้ในตอนนี้ Tencent เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเจ้าแห่งการลงทุน
โดยพอร์ตลงทุนของ Tencent ถูกประเมินว่ามีมูลค่ามากถึง 8.4 ล้านล้านบาท
ในขณะที่ตัวบริษัท Tencent เอง ก็มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 18.1 ล้านล้านบาท
นับเป็นบริษัทที่มูลค่ามากที่สุดอันดับ 11 ของโลก
และเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศจีน
ซึ่งนั่นก็ได้ส่งผลให้คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้อย่างคุณโพนี หม่า
กลายมาเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก ที่มีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่าบริษัท Naspers ผู้ที่ให้เงินระดมทุน 1,000 ล้านบาทกับ Tencent ในช่วงที่บริษัทยังเป็นสตาร์ตอัป เพื่อแลกกับหุ้น 46.5%
ปัจจุบัน มีการรายงานว่า Naspers ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Tencent โดยยังถือหุ้นอยู่ 29%
เมื่อเทียบเป็นมูลค่า ณ วันนี้ จะเท่ากับ 5,300,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 5,300 เด้ง เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.thenationalnews.com/business/technology/2021/09/26/why-a-200bn-stake-in-tencent-is-a-problem-for-south-africas-naspers/
-https://www.fool.com/investing/2021/09/05/why-tencent-is-a-lot-like-berkshire-hathaway/
-https://qz.com/1047680/tencents-pony-ma-hkg-0700-not-jack-ma-or-wang-jianlin-is-now-chinas-richest-man/
-https://www.forbes.com/profile/ma-huateng/?sh=2c27350d5437
-https://www.forbes.com/sites/russellflannery/2017/08/07/tencent-chairman-ma-huateng-overtakes-alibabas-jack-ma-as-chinas-richest-man/?sh=6bd80afc7f56
-https://en.wikipedia.org/wiki/Ma_Huateng
-https://www.vyapaarjagat.com/international/ma-huateng/
-https://www.cnbc.com/2018/05/10/tencent-ceo-ma-huateng-pony-ma-is-now-the-richest-man-in-china.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/ICQ
-https://en.wikipedia.org/wiki/Historical_GDP_of_China
-https://www.businessofapps.com/data/line-statistics/
-Tencent Annual Report 2004
-Tencent Interim Report 2021
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.