รู้จัก Blue Finance แหล่งเงินทุน ที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ท้องทะเลของ ไทยยูเนี่ยน

รู้จัก Blue Finance แหล่งเงินทุน ที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ท้องทะเลของ ไทยยูเนี่ยน

12 ม.ค. 2022
ไทยยูเนี่ยน x ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า สินค้าที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง “ซีเล็ค” หรือ “ฟิชโช”
นั้นมีเจ้าของเดียวกันก็คือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU
ไทยยูเนี่ยน เริ่มต้นธุรกิจจากโรงงานผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในมหาชัย
ผ่านไป 45 ปี ไทยยูเนี่ยน กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ที่มีฐานการผลิตกระจาย 14 ประเทศ สร้างรายได้ระดับแสนล้านบาทต่อปี
แน่นอนว่ารายได้ระดับนี้ ตลาดในประเทศไทยดูจะเล็กเกินไปเสียแล้ว
เพราะสัดส่วนยอดขายจากประเทศไทยคิดเป็น 10% ของยอดขายทั้งหมด
ขณะที่ ตลาดหลักจะอยู่ที่อเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกาและแคนาดา) 44% และยุโรป 29%
ความยิ่งใหญ่ของ ไทยยูเนี่ยน ไม่เพียงจะเป็นหน้าตาของประเทศไทยในตลาดโลก
แต่ยังมีแนวคิดธุรกิจดี ๆ เริ่มต้นจากที่ว่า.. หากไม่มีทะเล ก็คงไม่มีธุรกิจอาหารทะเล
ที่น่าสนใจก็คือ ไทยยูเนี่ยน ต่อยอดจากแนวคิดนี้
จนกลายเป็นที่มาของแหล่งเงินทุนชื่อว่า Blue Finance ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันนี้ ไทยยูเนี่ยน ประกอบธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก นั่นคือ
1. กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ
2. กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และแช่เย็น
3. กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
พูดง่าย ๆ ว่า ธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับอาหารทะเล
และเมื่ออาหารทะเล เป็นผลผลิตมาจากธรรมชาติอย่างทะเล
ความเข้าใจนี้ทำให้ ไทยยูเนี่ยน เกิดแนวคิดที่ว่า Healthy Living, Healthy Oceans
ไทยยูเนี่ยน จึงเริ่มมองเห็นธุรกิจเป็นมากกว่าอาหารทะเล
พร้อมทั้งยังใส่ใจไปถึงการดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ของผู้คน
และการดูแลทรัพยากรในท้องทะเล อีกด้วย
จนมาในปี 2558 ไทยยูเนี่ยน เริ่มใช้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่เรียกว่า SeaChange®
ที่จะสร้างความยั่งยืนได้จากทุกองค์ประกอบการดำเนินธุรกิจ
เช่น
- ด้านแรงงาน ด้วยการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย และการดูแลอย่างปลอดภัยอย่างดี
- ด้านวัตถุดิบ ด้วยการจัดหาอย่างโปร่งใส และการผลิตที่ถูกต้อง
- ด้านสังคม ด้วยการดูแลด้านผลกระทบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของ ไทยยูเนี่ยน
แต่ยังเกิดการลงมือทำจริง สามารถนำมาเป็น KPI ขององค์กรได้จริง
และยังสร้างผลงานด้านความยั่งยืนไว้อีกมากมาย
เช่น
- การเข้าร่วมภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact)
- การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF)
- การเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน
- การติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน
- การเป็นอันดับหนึ่ง Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ที่น่าสนใจก็คือ การส่งเสริมความยั่งยืนของ ไทยยูเนี่ยน ที่ว่านี้
ยังเชื่อมโยงกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อ และหุ้นกู้ Blue Finance อีกด้วย
แล้ว Blue Finance คืออะไร ?
Blue Finance คือการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Linked Financings)
ซึ่งจะออกมาในรูปแบบเครื่องมือทางการเงินชนิดใดก็ได้ ที่ทางผู้ออกได้ตกลงในข้อกำหนดว่าจะต้องมีเป้าหมายด้านความยั่งยืน หรือ ESG
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของเครื่องมือทางการเงินนี้ ก็จะเชื่อมโยงกับเป้าหมายผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
หากสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยลดลง
โดยเป้าหมายผลการดำเนินงานอย่างยั่งยืนสำหรับ ไทยยูเนี่ยน จะประกอบด้วย
- การได้รับการจัดอันดับระดับสูง ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI อย่างต่อเนื่อง
- การลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย
- การซื้อปลาจากเรือที่มีเครื่องมือการตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ มีความโปร่งใสของซัปพลายเชนปลาทูน่าทั่วโลก
ด้วยความเป็นธุรกิจที่มีโครงการความยั่งยืนต่าง ๆ ทั้งในการดูแลมหาสมุทร และอุตสาหกรรมอาหารทะเล
ในปี 2564 ไทยยูเนี่ยน จึงเริ่มก้าวเข้าสู่ Blue Finance ด้วยสินเชื่อ และหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืน
เช่น
- ได้รับสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Loan)
ครั้งแรกในไทยและญี่ปุ่น จำนวน 12,000 ล้านบาท
- การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond)
เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท
- การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond)
ต่อเนื่องจากครั้งแรก มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท
- การออกสินเชื่อนินจาที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นครั้งที่ 2
ซึ่งเป็นสินเชื่อสกุลเงินเยนจำนวน 14,000 ล้านเยน หรือราว 4,113 ล้านบาท
- ได้รับสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ท้องทะเล จำนวน 2,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ การจัดหาแหล่งเงินทุน Blue Finance ในแต่ละครั้งของ ไทยยูเนี่ยน
ได้รับการตอบรับที่ดี และมีจำนวนมากกว่าปริมาณที่ต้องการถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
แล้ว Blue Finance ส่งผลดีต่อธุรกิจ ไทยยูเนี่ยน อย่างไร ?
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ไทยยูเนี่ยน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่กว้างขึ้น ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ดีขึ้น
และยังมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะลดลงไปอีก
หากทำตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้สำเร็จ
พูดง่าย ๆ ว่า Blue Finance ช่วยเหลือธุรกิจในแง่ของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ
และยังสร้างมาตรฐาน, เงื่อนไข และข้อกำหนดใหม่ ๆ ให้กับตลาดเงิน อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังช่วยขับเคลื่อน และสร้างจิตสำนึกที่ดี ในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในองค์กรธุรกิจได้
แล้วถ้าถามว่า เป้าหมายด้าน Blue Finance ของ ไทยยูเนี่ยน นับจากนี้คืออะไร
ก็คงจะตอบได้ว่า ไทยยูเนี่ยน วางแผนจะเพิ่มสัดส่วนแหล่งเงินทุนด้านความยั่งยืน คิดเป็น 50% ของหนี้สินระยะยาวทั้งหมดในปี 2565
และจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 75% ของหนี้สินระยะยาวทั้งหมดในปี 2568
เรื่องนี้ก็น่าจะสะท้อนได้ว่า ความยั่งยืน ที่ดูจะเป็นเรื่องนามธรรมไกลตัว
หรือหากจะจับต้องได้ ก็นับว่าเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร อย่าง CSR แบบเดิม ๆ
แต่วันนี้ ไทยยูเนี่ยน หนึ่งในผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก
พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความยั่งยืนของธุรกิจอาหารทะเล ที่ต้องการดูแลสุขภาพผู้บริโภค และทรัพยากรในท้องทะเล กำลังจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ “แหล่งเงินทุน” ที่สำคัญของธุรกิจ
ซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ สำหรับตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทย เลยทีเดียว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.