รู้จัก “SWIFT” ระบบโอนเงินโลก ที่รัสเซียโดนแบน

รู้จัก “SWIFT” ระบบโอนเงินโลก ที่รัสเซียโดนแบน

28 ก.พ. 2022
รู้จัก “SWIFT” ระบบโอนเงินโลก ที่รัสเซียโดนแบน /โดย ลงทุนแมน
จากเหตุการณ์ล่าสุดที่ทางรัสเซียได้ปฏิบัติการทางการทหารโจมตียูเครนทำให้หลายชาติเริ่มออกมาตรการแทรกแซงและคว่ำบาตรรัสเซีย
หนึ่งในมาตรการสำคัญนั่นก็คือ การมีมติแบนธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากระบบ “SWIFT”
ซึ่งได้มีการประเมินว่าจะทำให้การค้าขายระหว่างประเทศของรัสเซียหยุดชะงักไป
อาจทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียหดตัวลงทันทีถึง 5% หรืออาจจะมากกว่านั้นในระยะยาว
ล่าสุด ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียก็อ่อนค่าลง 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ระบบ SWIFT คืออะไร
การคว่ำบาตรรัสเซียด้วยวิธีนี้ รุนแรงขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปัจจุบัน การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศนั้น เรียกได้ว่าไร้พรมแดน เพียงแค่เดินเข้าไปในธนาคารแล้วก็กรอกเอกสารนิดหน่อย รอไม่กี่วัน เงินก็จะเข้าบัญชีปลายทางเรียบร้อย
แต่ที่เป็นแบบนั้นได้ จริง ๆ แล้ว เรามีระบบการสื่อสารหลังบ้านสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศอยู่ เรียกว่า SWIFT
SWIFT มีชื่อเต็มว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication
หรือ สมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก
ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1973 โดยความร่วมมือของ 239 ธนาคารจาก 15 ประเทศ
มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศเบลเยียม
ปัจจุบัน เครือข่ายนี้มีธนาคารและสถาบันการเงินมากกว่า 2,000 แห่ง เป็นเจ้าของร่วมกัน
อยู่ภายใต้การดูแลของ ธนาคารแห่งชาติเบลเยียม โดยร่วมมือกับธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลก
รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางอังกฤษ
โดย SWIFT จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารเท่านั้น ไม่ได้เก็บเงินทุนหรือหลักทรัพย์ใด ๆ ไว้กับตัวเอง
การสื่อสารนี้ SWIFT จะมีรหัสเฉพาะของสถาบันการเงินปลายทางซึ่งถูกระบุไว้ใน 8-11 หลัก
โดยหลักที่ 1-4 คือ รหัสสถาบัน
หลักที่ 5-6 คือ รหัสประเทศ
หลักที่ 7-8 คือ รหัสเมือง
หลักที่ 9-11 คือ รหัสสาขาซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
ตัวอย่างเช่น KASITHBK ก็จะหมายถึง ธนาคารกสิกรไทย ประเทศไทย มีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ นั่นเอง
นอกจากรหัสที่บ่งบอกถึงที่อยู่ของสถาบันการเงินปลายทางแล้ว
SWIFT ก็ยังมีรหัสเฉพาะสำหรับแต่ละธุรกรรมด้วย เช่น
- ACOW คือ Account Owner หรือ เจ้าของบัญชี
- DEBT คือ Debtor หรือ ลูกหนี้
- PAYD คือ Payment Date หรือ วันที่จ่ายเงิน
- SHAR คือ Shareholder Number หรือ หมายเลขของผู้ถือหุ้น
ด้วยการใช้ประโยชน์ของรหัสนี้ทำให้ SWIFT เป็นระบบการสื่อสารธุรกรรมทางการเงิน
ที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัย แถมยังทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย
แล้วระบบ SWIFT มีคนใช้งานมากแค่ไหน ?
- ธนาคารและสถาบันที่เป็นสมาชิก SWIFT มีอยู่มากกว่า 11,000 แห่ง จาก 200 ประเทศ
ไล่ตั้งแต่ธนาคาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันนายหน้า ธุรกิจองค์กร นายหน้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไปจนถึงหน่วยงานรัฐบาล
- ข้อความถูกส่งหากันผ่านระบบ 42 ล้านข้อความต่อวัน และมากกว่า 1% ของจำนวนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย
- มีมูลค่าเงินที่ใช้งานผ่านระบบมากกว่า 33 ล้านล้านบาทต่อวัน ซึ่งตัวเลขนี้มากกว่า GDP ที่ทำได้ทั้งปีของประเทศไทย
คำถามต่อมาที่หลายคนอาจสงสัยก็คือ
แล้วพอธนาคารรัสเซียบางแห่งถูกแบนออกจาก SWIFT
ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา จะมีอะไรบ้าง ?
เพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ SWIFT นั้น ก็เปรียบเสมือนกับ “กลุ่ม LINE ขนาดใหญ่” ที่มีสมาชิกในกลุ่มไลน์เป็นสถาบันทางการเงิน 11,000 แห่ง จาก 200 ประเทศ
แน่นอนว่าหากรัสเซียถูกเตะออกจากกลุ่มนั้น แม้ว่าเงินทุนจะไม่ได้หายไปไหน แต่เมื่อขาดการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างรัสเซียนั้น จะยากและลำบากขึ้นมาก ในเวลาต่อมาก็จะมีปัญหาตามมา
ในอดีตก็เคยมีประเทศที่โดนแบนจากระบบ SWIFT นั่นก็คืออิหร่าน ในปี 2012 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรจากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีการประเมินว่า อิหร่านสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่ง และการค้าระหว่างประเทศก็หายไปถึง 30%
สำหรับรัสเซียก็เคยเกือบจะโดนแบนไปแล้วครั้งหนึ่ง ในปี 2014 เมื่อครั้งที่รัสเซียไปผนวกเอาดินแดนไครเมียเข้ามาเป็นของตัวเอง
แต่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นรัสเซียได้กล่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับรัสเซีย
จนในที่สุดแล้วประเทศอย่าง เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี ก็ไม่ได้เดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ
จากเรื่องในคราวนั้น ก็ทำให้รัสเซียคิดระบบทางเลือกขึ้นมา โดยในปี 2017 รัฐบาลรัสเซียได้สร้างระบบบัตรชำระเงินแห่งชาติ หรือที่รู้จักในชื่อ “SPFS” หรือ System for Transfer of Financial Messages ซึ่งมีผู้ใช้งานเป็นสถาบันการเงินประมาณ 400 ราย
ภายหลัง SPFS ก็เดินหน้าทำข้อตกลงกับประเทศอินเดีย, อิหร่าน และธนาคารต่างชาติเพิ่มเติมด้วย
นอกจาก SPFS แล้ว ทางการรัสเซียก็เริ่มผูกธนาคารของรัสเซียเข้ากับระบบ CIPS หรือ Cross-border Interbank Payment System ของจีนด้วยเช่นกัน
เรื่องราวทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของมาตรการทางการเงินที่ชาติพันธมิตรกดดันต่อรัสเซีย
ซึ่งผลกระทบหากรัสเซียถูกแบน นอกจากจะทำให้เสถียรภาพของประเทศรัสเซียและค่าเงินรูเบิลถดถอยลงแล้ว มันก็ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศคู่ค้าหลัก ๆ กับรัสเซียด้วย
เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศรัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ ใหญ่สุดในโลก
โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นประเทศในยุโรป
หมายความว่าต้นทุนทางพลังงานของประเทศในกลุ่มนี้ จะพุ่งสูงขึ้นทันที
จากความยุ่งยากในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมที่จะแพงขึ้น
และหากมันขยายวงกว้างออกไปจนทำให้รัสเซียและยุโรปไม่สามารถซื้อขายพลังงานกันได้เลย
ก็น่าคิดเหมือนกันว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จะเป็นใคร ระหว่างผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่จากตะวันออกกลางอย่าง OPEC หรือสหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นทั้งคู่เลย ก็นับเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด
แต่ที่แน่ ๆ เศรษฐกิจรัสเซียจะเสียหายมากกว่า งบประมาณที่รัสเซียใช้ในการทำสงคราม เสียอีก..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bbc.com/news/business-60521822
-https://www.investopedia.com/articles/personal-finance/050515/how-swift-system-works.asp
-https://www2.swift.com/knowledgecentre/publications/usgf_20210723/3.0?topic=idx_q_qual_DVCP.htm
-​​https://swiftcode.in.th
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.