ทำไม บางบริษัทขาดทุน แต่ยังต้องเสียภาษี

ทำไม บางบริษัทขาดทุน แต่ยังต้องเสียภาษี

15 มี.ค. 2022
ทำไม บางบริษัทขาดทุน แต่ยังต้องเสียภาษี | BrandCase
เราน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ถ้าบริษัทมีผลประกอบการที่ “ขาดทุน” ไม่ต้อง “เสียภาษี”
เจ้าของบริษัทบางคนจึงเลือกที่จะทำให้บริษัทขาดทุน
เจ้าของบริษัทเหล่านั้น จึงมักใช้วิธีหาค่าใช้จ่ายมาเพิ่ม เพื่อเวลานำค่าใช้จ่ายไปหักกับรายได้ของบริษัทแล้ว จะมีผลขาดทุนเกิดขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่า ก็อาจจะมาจากรายจ่ายส่วนตัว หรือรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่นำมาเบิกในนามบริษัท
คำถามที่ตามมา คือ ถ้าผลประกอบการของบริษัทขาดทุน จะไม่ต้องเสียภาษีทุกกรณีหรือไม่ ?
โดยกำไรขาดทุนของบริษัทจะแบ่งเป็น “ทางบัญชี” และ “ทางภาษี”
ซึ่งกำไรขาดทุนทางบัญชี ก็คือสิ่งที่เราเห็น ๆ ในงบกำไรขาดทุนของบริษัท
ถ้ารายได้มากกว่ารายจ่าย บริษัทก็มีกำไร
ในทางกลับกัน ถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย บริษัทก็ขาดทุน
สำคัญคือ อยู่ที่ กำไรขาดทุน “ทางภาษี” ของบริษัท
โดยกำไรขาดทุนทางภาษี จะคำนวณจาก การนำกำไรขาดทุนทางบัญชี มาปรับปรุงผ่านรายการต่าง ๆ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น
มีบางรายได้ ที่ไม่ถือเป็นรายได้ทางบัญชี แต่ถือเป็นรายได้ทางภาษี เช่น การให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ย ก็ต้องบวกเข้าไปเป็นรายได้ทางภาษี
หรือรายได้เงินปันผลจากเงินลงทุนในทางบัญชี จะรับรู้เป็นรายได้แต่ในทางภาษีจะมีบทบัญญัติให้ยกเว้นหรือรับรู้เพียงกึ่งหนึ่ง ในการนำมาคำนวณภาษี
ในขณะที่รายจ่ายบางประเภท ที่ทางบัญชีถือเป็นรายจ่าย แต่ไม่ถือเป็นรายจ่ายทางภาษี
เช่น รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานผู้รับเงินจากบริษัทมารองรับ
หรือรายจ่ายส่วนตัว ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ซึ่งหลังจากได้กำไรขาดทุนทางภาษีออกมาแล้ว ค่อยมาดูว่าบริษัทจะต้องเสียภาษีหรือไม่
ถ้าเป็นบวก แปลว่าบริษัทมีกำไรทางภาษี ก็ต้องมีการเสียภาษี
แต่ถ้าเป็นลบ แปลว่าบริษัทขาดทุนทางภาษี ก็ไม่ต้องมีการเสียภาษี
สรุปสั้น ๆ ก็คือ ถึงบริษัทจะขาดทุนทางบัญชี แต่ถ้ามีกำไรทางภาษี
บริษัทก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ดี นั่นเอง..
References
-https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/three-mistake-tax-businessman-must-know-1
-https://www.prosoft.co.th/Article/Detail/125038
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.