เงินเฟ้อ คืออะไร ?

เงินเฟ้อ คืออะไร ?

21 มี.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ] เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่สินค้าและบริการโดยทั่วไปมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า
อัตราเงินเฟ้อ คือการนำราคาสินค้าที่อยู่ในดัชนีผู้บริโภค ในแต่ละช่วงเวลามาเปรียบเทียบกัน
ตัวอย่างเช่น
ปี 2000 ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท
ปี 2001 ก๋วยเตี๋ยวชามละ 55 บาท
แปลว่าในปี 2001 มีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 10%
นั่นหมายความว่า หากเรามีเงิน 50 บาทเท่าเดิม มูลค่าหรืออำนาจซื้อในมือเราจะลดลงไป 10%
เงินเฟ้อยังแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ เงินเฟ้อทั่วไป และ เงินเฟ้อพื้นฐาน
โดยเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น จะไม่นำราคาของอาหารสดและพลังงานมาคำนวณ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความผันผวนสูง
โดยสาเหตุของเงินเฟ้อจะมีที่มาจาก 2 ทางคือ
1. Cost-push Inflation คือ ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่แพงขึ้น เช่น น้ำมันแพงขึ้น, วัตถุดิบแพงขึ้น และค่าแรงแพงขึ้น
2. Demand-pull Inflation คือ ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้น
เช่น เกิดโรคระบาด ประชาชนต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มมากขึ้น
ในภาวะเงินเฟ้ออ่อน ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี
- เป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพราะถ้าผู้บริโภคเห็นว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้น ก็จะรีบซื้อตั้งแต่วันนี้
ภาคการผลิตก็ต้องผลิตมากขึ้น จ้างงานมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น
- กระตุ้นให้เรานำเงินไปลงทุน เพราะหากออมเงินไว้กับตัว มูลค่าก็จะลดลง
- ลูกหนี้ได้ประโยชน์จากการกู้เงิน เพราะเงินต้นที่จะนำไปคืนในอนาคตจะมีมูลค่าลดลง
แต่หากเงินเฟ้อผันผวนมาก ๆ จนประชาชนไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูก ก็จะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจได้ เช่น
- ผู้บริโภคกลัวว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้นมาก จนไม่กล้าใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก
- ลูกจ้างขอขึ้นค่าแรงจนผู้ประกอบการขาดทุน หรือต้องปรับราคาจนทำให้ราคาสินค้าผันผวน
อัตราเงินเฟ้อยังถือเป็นตัวเลขสำคัญที่ธนาคารกลางจะต้องคอยติดตาม เพื่อกำหนดนโยบายทางการเงิน โดยเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย จะกำหนดกรอบเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 1-3%
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ธนาคารกลางก็จะดำเนินการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
ในแง่ของการลงทุน เงินเฟ้อ ก็ถูกนำมาใช้ในหลายมุม เช่น
- การคิด “อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง”
- การนำไปตั้งเป็นเป้าหมายของการลงทุน
- เป็นตัวเลขสำหรับการคิดลดกระแสเงินสด
รวมถึงเป็นส่วนผสมในสูตรการคำนวณทางการเงินอีกหลาย ๆ สูตร
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.