กรณีศึกษา การกู้แบรนด์ที่ร่วงโรย ให้คืนชีพอีกครั้ง ของเครื่องดื่ม Fentimans

กรณีศึกษา การกู้แบรนด์ที่ร่วงโรย ให้คืนชีพอีกครั้ง ของเครื่องดื่ม Fentimans

9 เม.ย. 2022
กรณีศึกษา การกู้แบรนด์ที่ร่วงโรย ให้คืนชีพอีกครั้ง ของเครื่องดื่ม Fentimans | BrandCase
ใครที่เป็นสายชอบดื่มค็อกเทล หรือชอบดื่มซอฟต์ดริงก์กลิ่นผลไม้หอม ๆ
อาจจะเคยเห็นแบรนด์ “Fentimans” ผ่านตามาบ้าง
แล้วรู้หรือไม่ว่า แบรนด์นี้มีอายุมากว่า 117 ปีแล้ว และเคยต้องปิดกิจการไปเกือบ 30 ปี จากการสู้คู่แข่งรายใหญ่ไม่ไหว
แต่ในปัจจุบัน Fentimans กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และสามารถส่งออกเครื่องดื่มไปขายได้ทั่วโลก
แล้วเรื่องราวของ Fentimans นั้นเป็นมาอย่างไร ?
แบรนด์ Fentimans ก่อตั้งขึ้นในปี 1905 หรือเมื่อประมาณ 117 ปีที่แล้ว
โดยคุณ Thomas Fentiman อดีตช่างตีเหล็ก ในประเทศอังกฤษ
แล้วจากช่างตีเหล็ก ทำไมเขาถึงได้มาทำเครื่องดื่มขาย ?
ต้องบอกว่าเริ่มแรก เขาได้รับสูตรการปรุง ​Ginger beer มาจากพ่อค้าคนหนึ่งที่มาขอกู้ยืมเงิน และใช้สูตรเครื่องดื่มเป็นหลักประกัน
ภายหลังพ่อค้าคนนี้ก็ไม่เคยมาจ่ายหนี้คืนให้กับคุณ Thomas ทำให้สูตรเครื่องดื่มนี้ กลายมาเป็นของเขา
ในช่วงแรกนั้น คุณ Thomas ก็ได้ผลิต Ginger beer ด้วยวิธีการทางพฤกษศาสตร์ คือ ผสมผสานการหมักส่วนผสมจากธรรมชาติ
โดยสูตรดั้งเดิม คือ การบดรากขิง ก่อนที่จะใส่ลงในกระทะทองแดง แล้วเคี่ยวเพื่อให้ปลดปล่อยรสชาติออกมาจากตัวขิง
จากนั้นเติมส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น สมุนไพร น้ำตาล น้ำแร่ และยีสต์ กวนให้ทั่ว แล้วต้มให้เข้ากัน
จากนั้นนำของเหลวไปใส่ในถังไม้ และปล่อยให้ผ่านกระบวนการหมัก
โดยของเหลวที่ได้จากการหมัก จะถูกแยกจากถังไม้ลงในไหหิน ซึ่งจะพร้อมดื่มภายใน 7 วัน
เมื่อได้ที่แล้ว ก็จะแบ่งบรรจุเพื่อนำไปขายต่อ ด้วยขวดโหลซึ่งจะประทับตราด้วยแมสคอตของ Fentimans คือ สุนัขพันธุ์ German Shepherd ซึ่งก็มาจากสุนัขที่เขาเลี้ยงไว้
โดยที่วิธีการขายของเขาก็คือ นำสินค้าใส่รถม้าส่งตรงถึงหน้าบ้าน
หลังจากนั้นไม่นาน ธุรกิจ Ginger beer ของเขาก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และธุรกิจก็เติบโตขึ้น
จนสามารถเปิดโรงงานผลิตได้หลายแห่งทางตอนเหนือของอังกฤษ
และขยายไลน์การผลิตไปทำซอฟต์ดริงก์ เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมโซดา
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การแข่งขันในตลาดก็เริ่มสูงขึ้นตามมา
และจากกิจการที่เคยรุ่งโรจน์ก็เริ่มร่วงโรย..
เมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่างเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เริ่มหันมาบุกตลาดซอฟต์ดริงก์ เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำโซดาต่าง ๆ
เรื่องนี้ทำให้ธุรกิจซอฟต์ดริงก์ของ Fentimans ย่ำแย่ บวกกับความนิยมใน Ginger beer ที่ค่อย ๆ ลดลง จนสุดท้ายต้องปิดกิจการลงราว ๆ กลางทศวรรษ 1960s
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี
ในปี 1988 หลานชายของคุณ Thomas Fentiman ก็กลับมาปลุกปั้นกิจการอีกครั้ง..
จากความรู้และความเชี่ยวชาญในสูตรของคุณ Thomas ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นของครอบครัว Fentiman
หลานชายของเขานำมันมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เพราะยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมวิธีการผลิตเครื่องดื่มแบบวินเทจอยู่ไม่น้อย
แต่ประเด็นสำคัญคือ ในยุคสมัยที่มีผู้เล่นในตลาดเครื่องดื่มมากมาย
เขาทำอย่างไรให้ Fentimans อยู่รอดอีกครั้ง ?
คำตอบคือ หลานชายของคุณ Thomas ได้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์หลาย ๆ อย่างด้วยกัน เช่น
- ยึดมั่นในสูตรดั้งเดิมของตัวเอง แต่นำมาปรับกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น
เช่น การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงใช้กระบวนการพาสเจอไรซ์ เข้ามาทำให้เครื่องดื่มอยู่ได้นานขึ้น โดยที่ไม่เสียรสชาติออริจินัลไป
- การปรับกลยุทธ์ด้านการขายให้หลากหลาย
จากเดิมในอดีตที่เคยส่งตรงถึงบ้านผู้บริโภคอย่างเดียว ก็ปรับเป็นการกระจายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ
เช่น ร้านค้า บาร์ ร้านอาหาร โมเดิร์นเทรด และช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลาย และง่ายขึ้น
- การปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิงให้สวยสะดุดตา
เพื่อดึงดูดผู้บริโภค จากที่เคยบรรจุใส่ขวดโหลสีน้ำตาล ก็ปรับมาใช้ขวดแก้วใส
ที่ได้มีการทำลวดลายฉลากแบบใหม่อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถจดจำได้อย่างง่ายดาย
โดยในปัจจุบัน Fentimans ส่งเครื่องดื่มไปขายในหลายประเทศทั่วโลก
ซึ่งใครที่เป็นสายเที่ยวบาร์ค็อกเทลหรือชอบดื่มซอฟต์ดริงก์กลิ่นสดชื่น
อ่านถึงตรงนี้ ก็อาจจะนึกถึงชื่อ “Fentimans” บนขวดแก้วทรงวินเทจ กันได้บ้างแล้ว..
References
-https://www.fentimans.com/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Fentimans
-https://www.business-live.co.uk/manufacturing/fentimans-profit-260000-furlough-coronavirus-20432441
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.