ค่า Beta คืออะไร ?

ค่า Beta คืออะไร ?

12 เม.ย. 2022
[ประเด็นสำคัญ] Beta (β) คือ ค่าที่บอกความผันผวนของราคาหุ้นว่ามีความรุนแรงและมีทิศทางเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นโดยรวม
“หุ้น” เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักลงทุน ในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน
ขึ้นชื่อว่า สินทรัพย์เสี่ยง ก็ต้องมีเรื่องความผันผวนของราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยความผันผวนดังกล่าว สามารถวิเคราะห์ได้จากการเปลี่ยนแปลงของราคาในอดีต

ซึ่งค่า Beta (β) หรือเบตา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่สามารถบอกความผันผวนของราคาหุ้นนั้น ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ว่าเป็นอย่างไร

โดยเบตาเกิดจากการนำการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น มาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาดหุ้น
เพื่อดูว่า หุ้นที่เราสนใจมีทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาเป็นอย่างไร
และมีการเปลี่ยนแปลงของราคาเป็นกี่เท่าของการเปลี่ยนแปลงดัชนีตลาด
β = 1 แปลว่า ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงของราคาเท่ากับตลาด และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด เช่น หุ้น A มีค่าเบตา = 1 หมายความว่าถ้าตลาดหุ้นปรับตัว 1% ราคาหุ้น A ก็จะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันเป็นจำนวน 1%
β > 1 แปลว่า ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าตลาด แต่ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด เช่น หุ้น B มีค่าเบตา = 1.2 หมายความว่าถ้าตลาดหุ้นปรับตัว 1% ราคาหุ้น B ก็จะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันเป็นจำนวน 1.2% ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มีความคาดหวังในการเติบโตสูงเช่น หุ้นเทคโนโลยี
0 < β < 1 แปลว่า ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงของราคาน้อยกว่าตลาด แต่ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด เช่น หุ้น C มีค่าเบตา = 0.9 หมายความว่าถ้าตลาดหุ้นปรับตัว 1% ราคาหุ้น C ก็จะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันเป็นจำนวน 0.9% ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มีความคาดหวังในการเติบโตต่ำ เช่น หุ้นสาธารณูปโภคที่มีปันผลสูง
β < 0 แปลว่า ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสวนทางกับตลาด เช่น หุ้น D มีค่าเบตา = - 0.2 หมายความว่าถ้าตลาดหุ้นปรับตัว 1% ราคาหุ้น D ก็จะปรับตัวไปในทิศทางตรงข้ามกับตลาดเป็นจำนวน 0.2% ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะหาหุ้นที่มีเบตาติดลบได้ยาก เช่นเดียวกับ β = 0 ที่แปลว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นไม่สัมพันธ์กับตลาดใด ๆ
ถึงตรงนี้ก็พอสรุปได้ว่า ถ้าค่าเบตายิ่งเข้าใกล้ 1 มากเท่าไร
หุ้นตัวนั้น ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของราคาใกล้เคียงกับตลาดมากเท่านั้น
โดยค่าเบตาสามารถไปประยุกต์ใช้ในการลงทุนได้ อย่างเช่น
- การเลือกหุ้นตามสภาวะตลาด
- การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
- การนำไปใช้คำนวณสูตรทางการเงินอย่าง “CAPM” ที่ใช้สำหรับการคำนวณผลตอบแทนที่คาดหวัง
อย่างไรก็ตาม ค่าเบตาเป็นการคำนวณจากข้อมูลในอดีตที่เกิดขึ้นไปแล้ว
ไม่ได้การันตีว่าในอนาคต จะเกิดขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมาเสมอไป
ซึ่งหากพื้นฐานหรือปัจจัยที่ส่งผลต่อหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง ก็อาจส่งผลให้ค่าเบตาที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้เช่นกัน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.