ทำไม คนไข้ต่างชาติ ชอบมารักษาอาการป่วย ในประเทศไทย

ทำไม คนไข้ต่างชาติ ชอบมารักษาอาการป่วย ในประเทศไทย

27 เม.ย. 2022
ทำไม คนไข้ต่างชาติ ชอบมารักษาอาการป่วย ในประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
นอกจากการเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ
จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยแล้วนั้น
อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้มาไทย
คือความก้าวหน้าและชื่อเสียงในด้าน “การแพทย์”
และเรื่องนี้จึงทำให้คนไข้ต่างชาติจำนวนไม่น้อย ชอบมารักษาอาการเจ็บป่วยในประเทศไทย
จนส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลนั้น สร้างรายได้และนำเงินเข้าประเทศ หลักหมื่นล้านบาทต่อปี
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
สนใจสั่งซื้อหนังสือ "เทคนิคตามล่าหาหุ้นเวฟ 3X ด้วยคลื่นเอเลียต" โดย รี สึนามิ
Facebook Fanpage: รี สึนามิ (https://www.facebook.com/ReeTsunamiThai/)
line@: @reetsunami
╚═══════════╝
คงไม่ผิดนักถ้าเราจะบอกว่า ธุรกิจโรงพยาบาลและการแพทย์ของประเทศไทย
มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันได้กับหลายประเทศชั้นนำของโลก
โดยปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงปี 2540 ที่ในตอนนั้น ประเทศไทยเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า จนทำให้ค่ารักษาพยาบาลของไทยถูกลงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ
ทำให้หลาย ๆ โรงพยาบาลเน้นชูการรักษาพยาบาลผู้ป่วยชาวต่างชาติมากขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
รวมกับรัฐบาลในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการหารายได้เข้าประเทศ จากลูกค้าซึ่งเป็นคนไข้ต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ในปี 2546 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเพื่อตั้งเป้าให้ประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ชูความเชี่ยวชาญ ทันสมัย ครบวงจร และมีการบริการที่เป็นเลิศในด้านการรักษาพยาบาล
เรื่องนี้ทำให้การแพทย์และโรงพยาบาลของไทยก้าวหน้ามาจนถึงวันนี้
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงพยาบาลถึง 60 แห่ง ที่ได้รับการรับรองในระดับมาตรฐานสากล จากองค์กร Joint Commission International หรือ JCI
ซึ่ง JCI เป็นองค์กรสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย และรับรองคุณภาพแก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วโลก
ซึ่งตัวเลขนี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียหลายประเทศ เช่น
- อินเดีย 39 แห่ง
- ญี่ปุ่น 30 แห่ง
- มาเลเซีย 17 แห่ง
- เกาหลีใต้ 9 แห่ง
- สิงคโปร์ 5 แห่ง
นอกจากนั้น ไทยยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจาก JCI มากที่สุด เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

พูดง่าย ๆ ว่า ธุรกิจโรงพยาบาลของไทยนั้น มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง ยืนอยู่แถวหน้าของเอเชีย รวมไปถึงแถวหน้าของโลก
นอกจากมาตรฐานและความปลอดภัยของโรงพยาบาลแล้วนั้น
ความสามารถและความเชี่ยวชาญ, บุคลากรทางการแพทย์, ความทันสมัยของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความคุ้มค่าด้านค่าใช้จ่ายในการรักษา
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันได้เป็นอย่างดี
ลองมาดูตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Angioplasty) ของไทย เทียบกับต่างประเทศ ในปี 2562
- สหรัฐอเมริกา ค่ารักษา 930,000 บาท
- สิงคโปร์ ค่ารักษา 442,000 บาท
- อินเดีย ค่ารักษา 188,000 บาท
- ไทย ค่ารักษา 138,000 บาท
เรื่องนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามารักษาตัวกับโรงพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปี 2002 จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในประเทศไทย 0.6 ล้านคน
ปี 2010 จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในประเทศไทย 1.8 ล้านคน
ปี 2018 จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในประเทศไทย 3.4 ล้านคน
จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้จากชาวต่างชาติที่มาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
โดยในปี 2018 รายได้จากชาวต่างชาติที่มาใช้บริการทางการแพทย์นั้น สูงกว่า 32,200 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า ของปี 2010 ที่ประมาณ 5,300 ล้านบาท
พอเห็นแบบนี้ก็ต้องบอกว่า ธุรกิจโรงพยาบาลนั้นสร้างรายได้และนำเงินเข้าประเทศไทยไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวต่างชาติอย่างมาก
โดยก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้น รายได้มากกว่า 60% ของโรงพยาบาลมาจากลูกค้าชาวต่างชาติ และคิดเป็นรายได้หลักหมื่นล้านบาท
ขณะที่ ในปี 2564 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้บริการรักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติกว่า 160 ประเทศ
โดยลูกค้าชาวต่างชาติที่มารักษากับทางโรงพยาบาลนั้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศคูเวต สหรัฐอเมริกา และกาตาร์
แม้ว่าในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ จนส่งผลให้คนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลในประเทศไทยหลายแห่งนั้นหดหายไป
แต่หลายฝ่ายก็เชื่อกันว่า เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย การเดินทางระหว่างประเทศเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น คนไข้ต่างชาติจำนวนไม่น้อยก็คงจะกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลของไทยเหมือนเดิม
เนื่องจากชื่อเสียงด้านคุณภาพการรักษาที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ
รวมไปถึงคุณภาพและบริการที่ดีเยี่ยมของโรงพยาบาลและบุคลากรชาวไทย
ก็คงไม่แปลก ถ้าบอกว่า ธุรกิจโรงพยาบาลของไทย
เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญ ที่จะช่วยนำเงินเข้าประเทศไทยต่อไป เหมือนอย่างที่เป็นมา..
╔═══════════╗
สนใจสั่งซื้อหนังสือ "เทคนิคตามล่าหาหุ้นเวฟ 3X ด้วยคลื่นเอเลียต" โดย รี สึนามิ ติดต่อ
✅Facebook Fanpage: รี สึนามิ (https://www.facebook.com/ReeTsunamiThai/)
✅ line@: @reetsunami
แนะนำอ่านหนังสือควบคู่กับดูคลิปนี้ จะเข้าใจมากขึ้นค่ะ
? "Elliott Wave ฉบับนำไปใช้ได้ทันทีแบบง่ายๆ” (เริ่มนาทีที่ 14) คลิกลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=2Jp0K_0O1yk
? "5 เทคนิคนับเวฟให้ถูกต้องและได้กำไร" (เริ่มนาทีที่ 10) คลิกลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=DmlUGv849do
╚═══════════╝
References:
-https://www.thailand-business-news.com/health/72887-thailand-leads-southeast-asian-countries-with-66-jci-accredited-hospitals
-https://www.jointcommissioninternational.org/about-jci/accredited-organizations/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Bumrungrad_International_Hospital
-https://www.krungsri.com/en/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals
-https://www.statista.com/statistics/1104422/thailand-number-of-foreign-inpatients/
-https://www.ditp.go.th/contents_attach/73098/78098.pdf
-https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=411
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2564, บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.