เงินได้พึงประเมิน คืออะไร ?

เงินได้พึงประเมิน คืออะไร ?

25 พ.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ] เงินได้พึงประเมิน คือเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่เราต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
ภาษีเงินได้ ถือเป็นภาษีชนิดหนึ่งที่รัฐเรียกเก็บจากผู้มีเงินได้ทุกคนในประเทศ
โดยการเก็บภาษีก็จะมีอัตราการเรียกเก็บที่แตกต่างกันไปตามประเภทของรายได้
ซึ่งรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะถูกเรียกว่า เงินได้พึงประเมิน หรือก็คือ
เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่เราต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
ยกเว้นว่าจะมีการระบุไว้ว่าเป็นเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษี
โดยเงินได้พึงประเมิน สามารถแบ่งได้เป็น 8 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 คือ เงินที่ได้จากการจ้างแรงงาน
เป็นเงินได้ที่อยู่ในรูปแบบเงินเดือน หรือเงินประจำ รวมถึงผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น โบนัส เบี้ยเลี้ยง หรือเงินค่าที่พักที่ได้รับจากนายจ้าง
โดยเงินได้ก้อนนี้ จะถูกนำไปหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ประเภทที่ 2 คือ เงินที่ได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับจ้างทำงาน
เช่น ค่าจ้างทั่วไป ค่านายหน้า ค่าตอบแทนต่าง ๆ
ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้านายกับลูกน้อง
โดยหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เช่นเดียวกับเงินได้ประเภทที่ 1
อย่างไรก็ดี หากเรามีเงินได้ทั้งจากประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 จะต้องนำมาคิดรวมกัน และหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ซึ่งไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น
ประเภทที่ 3 คือ เงินจากค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา
โดยหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากนี้ยังรวมเงินที่ได้จากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น และคำพิพากษาของศาล
อย่างไรก็ตาม เงินที่กล่าวมานั้น ไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้
ประเภทที่ 4 คือ เงินที่ได้ในรูปของดอกเบี้ยและเงินปันผล
ซึ่งกำไรที่ได้จากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน
โดยเงินได้ประเภทนี้ ไม่สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้เลย
แต่ยังมีดอกเบี้ยบางประเภทที่ไม่ต้องยื่นภาษี เช่น ดอกเบี้ยสลากออมสิน
หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ออมทรัพย์
ประเภทที่ 5 คือ เงินที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่าง ๆ
รวมถึงเงินที่ได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
โดยหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 10-30% ของเงินได้ หรือหักตามจริง
ประเภทที่ 6 คือ เงินที่ได้จากวิชาชีพอิสระ ประกอบไปด้วย 6 อาชีพ
ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี และประณีตศิลปกรรม
โดยการประกอบโรคศิลปะ สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ของรายได้ หรือหักตามจริง
ขณะที่อาชีพอื่น ๆ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เพียง 30% ของรายได้ หรือหักตามจริง
ประเภทที่ 7 คือ เงินที่ได้จากการรับเหมา ซึ่งต้องรวมทั้งค่าแรงและเงินค่าของ
โดยนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ 60% ของเงินได้ หรือหักตามค่าใช้จ่ายจริงก็ได้
หากเป็นการรับเหมาเฉพาะค่าแรง แต่ลูกค้าซื้อวัสดุและอุปกรณ์เอง จะไม่ถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 7 แต่จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 เพราะเป็นการว่าจ้างธรรมดา
ประเภทที่ 8 คือ เงินได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินได้ประเภทที่ 1 ถึง 7 และไม่ได้รับการยกเว้นภาษี
เช่น เงินจากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์
โดยหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 40-60% ของเงินได้ หรือหักตามจริง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.