กรณีศึกษา หนทางรอดของธุรกิจ เมื่อเกมธุรกิจไม่เหมือนเดิม

กรณีศึกษา หนทางรอดของธุรกิจ เมื่อเกมธุรกิจไม่เหมือนเดิม

30 มิ.ย. 2022
กรณีศึกษา หนทางรอดของธุรกิจ เมื่อเกมธุรกิจไม่เหมือนเดิม /โดย ลงทุนแมน
หลังโลกเผชิญกับความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา ทั้ง Digital Disruption, โรคระบาด, สงคราม และวิกฤติเศรษฐกิจ แม้จะเป็นเรื่องที่เจ็บปวด
แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรธุรกิจตระหนักว่า การ “ทรานส์ฟอร์ม” ตัวเอง เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป
เมื่อไม่นานมานี้ ทาง ม.หอการค้าไทย ได้จับมือกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เปิดเวทีความคิด “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต”
ซึ่งลงทุนแมน ก็มีโอกาสไปเข้าฟัง และเห็นว่างานนี้น่าสนใจ
เพราะรวมเหล่าผู้บริหารองค์กรชั้นนำจากทั้งในไทยและระดับโลก เช่น ทรู, Telenor, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, SCB
มาแชร์สิ่งที่ตัวเองเผชิญมา รวมถึงแนวทางในการปรับตัวต่อสถานการณ์ Digital Disruption ในปัจจุบัน
เพื่อนำไปสู่ทางออกและมุมมองใหม่ ๆ ให้ภาคธุรกิจและประเทศไทย พร้อมรับมือกับเกมการแข่งขันที่เปลี่ยนไป
ซึ่งลงทุนแมน จะนำบางประเด็นที่น่าสนใจ มาสรุปให้ฟัง..
(สามารถรับฟังฉบับเต็มได้ที่ > https://www.facebook.com/utccsmart/videos/427725772540261)
โดยประเด็นแรก จะเป็นเรื่องความท้าทาย ที่ผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ต้องเผชิญ
และพวกเขาปรับตัวอย่างไร เพื่อรับมือกับ Digital Disruption
หากพูดถึงการ Disruption หนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดนหนักสุด คงไม่พ้น “สื่อ”
ดังนั้นการรู้วิธีปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ น่าจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่า
ที่ผ่านมาธุรกิจสื่อ ต้องเจอกับการ Disrupt ครั้งแล้วครั้งเล่า..
อย่างเช่น ทีวี ที่เปลี่ยนจากยุคทีวีดาวเทียม มาสู่ยุคทีวีดิจิทัล
ทำให้ตลาดนี้จากเดิมที่มีผู้เล่นหลัก ๆ เพียง 6 ช่อง ก็พุ่งขึ้นเป็น 24 ช่องทันที
มองผิวเผิน การแข่งขันที่มากขึ้นนี้ น่าจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะมีทางเลือกมากขึ้น
แต่เพราะตลาดนี้ไม่ได้เติบโตเร็วเท่ากับจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น
จึงบีบให้ธุรกิจทีวี ต้องแข่งกันในเรื่องต้นทุนเป็นอันดับแรก เพื่อความอยู่รอด..
และต้นทุนหลักของธุรกิจนี้ ก็คือ “คน” ซึ่งเมื่อจำเป็นต้องลดต้นทุนในส่วนนี้ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่คุณภาพของสื่อ จะลดลงตามไปด้วย..
สุดท้ายแล้ว แทนที่คาดว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ก็อาจเสียประโยชน์แทน..
พูดง่าย ๆ ว่า ทฤษฎีการมีผู้เล่นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี บางครั้งอาจใช้ไม่ได้ในบางธุรกิจ
หากมันไปทำลายความเข้มแข็งของผู้ให้บริการ จนผู้เล่นในตลาดมองเรื่องคุณภาพเป็นอันดับสุดท้าย และไม่ได้มอบสิ่งที่ดีให้กับผู้บริโภค
มิหนำซ้ำ ธุรกิจทีวี ยังเผชิญกับการมาของคู่แข่งนอกวงการ อย่างเช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย, แพลตฟอร์มสตรีมมิง กลายเป็นถนนคอนเทนต์อีกหลายสาย มาแข่งขันกัน
เมื่อเจอการ Disrupt รอบด้านขนาดนี้ แล้วคนทำทีวี ต้องปรับตัวอย่างไร ?
อันดับแรก คนทำทีวีและสื่อ ต้องทำความเข้าใจว่า ตัวเองคือ “ผู้ให้บริการคอนเทนต์” ที่พร้อมให้บริการในทุกแพลตฟอร์ม และทีวีเป็นแค่หนึ่งแพลตฟอร์มเท่านั้น อย่าไปยึดติดกับสิ่งเก่า ๆ
และควรตระหนักถึง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และใช้ให้เป็นประโยชน์
เข้าใจแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงเข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้ชมแต่ละแพลตฟอร์ม
ที่น่าสนใจก็คือ การตั้งต้นว่า “คอนเทนต์” เป็นศูนย์กลาง ส่วนแพลตฟอร์มเป็นตัวช่วย
ที่จะส่งมอบคอนเทนต์ไปสู่ผู้ชมเป้าหมาย ที่เหมาะของแต่ละแพลตฟอร์ม
รวมถึง การหันมาโฟกัสกับเรื่อง “คุณภาพ” ของคอนเทนต์มากขึ้น
โดยตั้งคำถามว่า คนอ่าน/ชม อยากรู้อะไร เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่แตกต่าง
ถ้าเราทำคอนเทนต์ที่ดีออกมาได้บ่อย ๆ เดี๋ยวคนเสพ ก็จะมาหาเราเอง
ตัวอย่างต่อมาคือ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่เผชิญศึกหนักจากวิกฤติโควิด 19 จนต้องปิดให้บริการชั่วคราว
ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะทางเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เผยว่าหลังจากวิกฤติโควิด 19 ก็เห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
โดยที่ผ่านมา ตลาดสตรีมมิงเติบโตอย่างมาก จนสตูดิโอทั่วโลก ต้องลองนำหนังของตัวเองไปฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิง พร้อมโรงหนัง หรือฉายบนสตรีมมิงอย่างเดียว
แต่ก็พบว่า วิธีนี้กลับสร้างรายได้ไม่คุ้มเท่ากับฉายในโรงหนังเหมือนเดิม
ดังนั้น โรงหนังจึงยังเป็นแหล่งสร้างเม็ดเงินหลัก และมีอำนาจต่อรองสูงอยู่
ในขณะเดียวกัน โรงหนังก็เป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มสตรีมมิง หรือผู้ให้บริการ OTT
เพื่อทำงานร่วมกัน และช่วยทำให้อุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้น
ซึ่งหนังบางเรื่องที่ฉายในโรงหนัง ก็จะนำไปฉายต่อที่แพลตฟอร์มสตรีมมิง
จึงเป็นการส่งหนังไทยออกสู่ตลาดโลก ทำให้มีรายได้กลับมาเป็นทุนสร้างหนังไทยที่งบและคุณภาพสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ เมเจอร์ฯ​ ยังทรานส์ฟอร์มตัวเองให้เป็นมากกว่าโรงภาพยนตร์ เช่น เพิ่มบริการฉายคอนเสิร์ต, ฉายกีฬา, ฉายการประชุม
รวมถึงพัฒนาแหล่งรายได้ใหม่ เช่น การขายพ็อปคอร์น ผ่านช่องทางต่าง ๆ นอกจากหน้าโรงภาพยนตร์
ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดี และในอนาคตอาจต่อยอดไปสู่การขายแฟรนไชส์พ็อปคอร์นได้..
ทีนี้ ก้าวออกมาจากธุรกิจสื่อ มาดูกรณีศึกษาของธุรกิจโทรคมนาคมกันบ้าง เพราะต้องเจอกับการ Disrupt ครั้งสำคัญเช่นเดียวกัน
ทุกวันนี้ ในทุก ๆ ครั้งที่เราหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมา จะพบแอปพลิเคชันมากมายจากทั่วทุกมุมโลก
ที่มาตอบสนองความต้องการของเรา ไม่ว่าจะเป็น การช็อปปิง, ท่องเที่ยว, การทำงาน-เรียน, ความบันเทิง, สุขภาพ ฯลฯ
แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือ ผู้ให้บริการเหล่านี้ส่วนใหญ่ มาจากต่างชาติ..
ซึ่งถ้ายังปล่อยไว้แบบนี้ ไทยก็จะยังเป็นแค่เมืองขึ้นทางเทคโนโลยีของต่างชาติอยู่วันยังค่ำ
ในธุรกิจโทรคมนาคม หลายคนยังมองว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหลัก ๆ มีอยู่ 3-4 ราย
แต่ความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้บริบทและสภาพการแข่งขันได้เปลี่ยนไป
เพราะบริษัทโทรคมนาคม ไม่ใช่แค่ต้องแข่งขันกับบริษัทโทรคมนาคม ด้วยกันเท่านั้น
แต่ต้องแข่งกับบริษัท Tech หรือผู้เล่นดิจิทัลในระดับโลกด้วย จากการเชื่อมต่อทั่วโลก และอุตสาหกรรมเกิดการเหลื่อมกันมากขึ้น
พอความท้าทายเพิ่มมากขึ้น โจทย์ใหญ่ที่ตามมาคือ..
จะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยเข้มแข็งมากขึ้น และไม่ตกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีจากต่างชาติ
หนึ่งคำตอบก็คือ บริษัทไทยต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ด้วย
เพื่อสร้างทางเลือกในบริการของคนไทยเอง ที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น
ไม่อย่างนั้นเม็ดเงินและข้อมูลของคนไทย ก็จะไหลไปต่างประเทศหมด..
ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงขยายธุรกิจมายัง Layer บนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
ทั้งด้านแพลตฟอร์ม, คอนเทนต์, Data เช่น พวก True ID, โซลูชันด้านความบันเทิง, แอป MorDee ฯลฯ
นอกจากธุรกิจเดิมที่อยู่ใน Layer ล่าง อย่างโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม (3G, 4G และ 5G)
แต่เมื่อผู้เล่นในวงการ Tech มีอยู่เป็นร้อยราย และยังมีบริษัทระดับโลกที่ตัวใหญ่กว่าเราเยอะ
แถมบริษัทเหล่านี้ ยังอยู่นอกเหนือขอบเขตการกำกับดูแลของภาครัฐ ทำให้มีความได้เปรียบบางอย่าง..
คำถามก็คือ ทรู จะสู้กับยักษ์ใหญ่ในเวทีโลก อย่างไร ?
เรื่องนี้ทำให้ ทรู ต้องมุ่งสู่ดิจิทัลเต็มตัว และทรานส์ฟอร์มตัวเองไปเป็นบริษัท Tech หรือ Tech Telecom
ไม่ใช่บริษัทโทรคมนาคม อย่างเดิมอีกต่อไป
ซึ่งดีลการควบรวมกิจการกับ ดีแทค ก็เป็นอีกขั้นบันไดสู่เส้นทางการพลิกโฉมเป็น Tech Company
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้วดีลนี้ไม่ได้มีใครซื้อกิจการใคร
แต่เป็นการควบรวมกิจการ ที่ทรู-ดีแทค ต้องการเป็นพันธมิตรกันอย่างเท่าเทียม
พูดง่าย ๆ ว่าดีลนี้ น่าจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรับมือกับยุค Digital Disruption ครั้งใหม่เลยทีเดียว
ผลที่ตามมาก็คือ การนำศักยภาพของทั้งสองบริษัทมา Synergy กัน เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ
รวมถึงพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้ดีกว่าเดิม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
เช่น สัญญาณเครือข่ายมือถือที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น, การมอบบริการและสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น และการนำเทคโนโลยีมาสร้างโซลูชันใหม่ที่เหมาะกับยุคดิจิทัล
ส่วนในมุมของผู้บริโภค หลายคนอาจจะรู้สึกกังวลในเรื่อง “ค่าบริการจะแพงขึ้น”
แต่ความเป็นจริงแล้ว ในประเทศไทยมี กสทช. คอยกำกับดูแลค่าบริการมาโดยตลอด
เท่ากับว่า ยังมีข้อจำกัดในการขึ้นค่าบริการอยู่ ไม่ใช่อยากจะขึ้นเท่าไรก็ได้
ถึงตรงนี้ ก็คงสรุปง่าย ๆ ว่า เป้าหมายของดีลระหว่างทรู-ดีแทค
คือการรวมพลังกัน แล้วติดอาวุธที่ใหญ่ขึ้น ครบมือมากขึ้น เพื่อให้แข็งแรงพอที่จะสามารถแข่งขันในเวทีระดับภูมิภาคได้
รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก, ดึงดูด Talent และเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ
ซึ่งจะขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างประโยชน์ให้กับคนไทย และความสามารถในการแข่งขันของไทย ให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า
มาถึงตัวอย่างสุดท้ายคือ ธุรกิจธนาคาร ที่โดน Disrupt ไม่ต่างกัน
โดยกลุ่ม SCB มองเห็นว่า ตัวเองจะถูก Disrupt มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว
จึงทดลองตั้งหน่วยงานเล็ก ๆ เช่น Digital Ventures จนเห็นแนวทางความเป็นไปได้ เลยตั้ง SCB 10X ขึ้นมา
เพื่อให้ SCB มองว่าตัวเองไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็นผู้ให้บริการทางการเงิน เพราะบริการทางการเงินยังจำเป็น แต่ธนาคารไม่จำเป็น
รวมถึงขยายขอบเขตธุรกิจไปนอกเหนือจากธุรกิจธนาคาร เช่น แพลตฟอร์ม Robinhood ที่ให้บริการฟูดดิลิเวอรี และจองที่พัก
เพื่อให้ประโยชน์จาก Data ของลูกค้า นำไปต่อยอดธุรกิจในมิติต่าง ๆ เช่น การพิจารณาปล่อยสินเชื่อ
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ล่าสุด SCB ก็ทรานส์ฟอร์มตัวเองอีกครั้ง
ด้วยการตั้งยานแม่ SCBX มุ่งสู่การเป็นบริษัท FinTech ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มตัว
ที่สำคัญ​ SCBX ไม่ได้ Disrupt ตัวเอง เพื่อเตรียมต่อกรกับบริษัท FinTech ต่างชาติที่เข้ามาตีตลาดในไทยเท่านั้น
แต่ยังมองโอกาสที่ตัวเองจะไปตีตลาดในระดับภูมิภาคด้วย โดยตั้งเป้ามีลูกค้า 100 ล้านคน..
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจชัดเจนแล้วว่า ทำไมองค์กรต่าง ๆ จึงต้องมีการปรับโครงสร้าง และทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption
อย่าง “ทรู” ที่ไม่ได้มองตัวเองเป็นเพียงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อีกต่อไป
และอย่าง “SCBX” ก็ไม่ได้มองตัวเองเป็นธนาคาร อีกต่อไป
เพราะถึงแม้โควิด 19 และสงคราม จะจบลง
แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี ก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
ถ้าธุรกิจไม่เตรียมพร้อม เพื่อพลิกโฉมสู่อนาคต อนาคตก็จะพลิกชะตาชีวิตของธุรกิจแทน..
และที่สำคัญ นอกจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ จะทำให้บริษัทอยู่รอดในโลกที่ไม่แน่นอนแล้ว
ยังช่วยสร้างพลังการแข่งขัน และนวัตกรรมช่วยให้ประเทศไทยเข้มแข็งมากขึ้น และผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะขึ้น
คำถามสุดท้ายคือ แล้วประเทศไทยควรจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อเป็น Hub เศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาค
เพื่อให้ไทย ไม่ได้เป็นเพียงฝ่ายบริโภคอย่างเดียว แต่ต้องสร้างและส่งออกเทคโนโลยีด้วย
ในมุมมองของบริษัท Telenor ที่ลงทุนในเอเชียมากว่า 25 ปี รวมถึงประเทศไทย
และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ
ทั้งคู่มองว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญ และมีศักยภาพมาก
โดยทาง Telenor เล็งเห็นโอกาสต่าง ๆ เช่น การมาของเทคโนโลยี 5G จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในไทย และโควิด 19 ก็เป็นตัวเร่งให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัวเร็วขึ้น
Telenor ต้องการเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ให้ประเทศไทย
จึงมีแผนที่จะลงทุนในไทยต่อไปอย่างแน่นอน
ซึ่ง Telenor จะใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค มาสร้างความได้เปรียบ และประโยชน์ในไทย เช่น ชื่อเสียง, Data, นวัตกรรมเทคโนโลยี, เครือข่ายพันธมิตร
อีกทั้งบริษัทจะโฟกัสกับเทคโนโลยีอนาคต เช่น AI เพื่อช่วยลูกค้าและพันธมิตรดึงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยดึงดูด Talent เก่ง ๆ เข้าประเทศ อีกต่อหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญแรก ๆ ที่บริษัทพิจารณาเพื่อจะตัดสินใจเข้ามาลงทุน นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว
เรื่องของกฎระเบียบ ก็ต้องเอื้อต่อการลงทุนด้วย คือ กฎหมายต้องมีความชัดเจน แน่นอน และเป็นธรรมต่อนักลงทุนและผู้บริโภค
หรือก็คือ Telenor มองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวไปข้างหน้า เพียงแต่กฎกติกาต้องเป็นธรรม และต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ส่วนทางบริษัท บี.กริม กล่าวเสริมว่า ถ้าอยากให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้
ด้านนโยบายของรัฐบาล ต้องสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องศึกษาความเป็นไปได้ สร้างนโยบายหรือแนวทางต่าง ๆ ที่เอื้อให้การจัดการต่าง ๆ เดินหน้าต่อไปได้
ให้เกิดการพัฒนา เกิดการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
สร้างสภาพแวดล้อม และกฎเกณฑ์ที่ส่งเสริมธุรกิจในไทย และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
อย่างเรื่องกฎกติกาในไทย ก็มีโจทย์ มีการบ้านที่ต้องทำอีกเยอะ และต้องใช้เวลา เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย แต่การแก้กฎเกณฑ์บางเรื่อง ก็กำลังไปได้ดี เช่น
- Human Capital หรือทรัพยากรมนุษย์ ให้คนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศ อยากกลับมาทำงาน หรือทำธุรกิจในไทย
- Employee Stock เพื่อดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาในประเทศ และปลุกปั้นธุรกิจ เพราะถ้าไม่มี Talent นวัตกรรมก็จะไม่เกิด
- เรื่องผ่อนกฎเกณฑ์การทำ IPO ให้หลาย ๆ บริษัทที่กำลังขาดทุน แต่มีศักยภาพในการเติบโต สามารถเข้าตลาดได้
แต่ทั้งนี้ ภาครัฐต้องสร้างกฎเกณฑ์ ที่สมดุลระหว่างการเอื้อให้ธุรกิจเติบโต และการควบคุมความเสี่ยงด้วย
ปิดท้ายด้วยข้อคิดที่ได้จากงาน “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต”
การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อก้าวไปข้างหน้า ต้องเริ่มจาก Mindset ให้กล้าเปิดรับการเปลี่ยนแปลง
โดยการตั้งคำถามถึงอนาคตที่ตระหนักว่า เราต้องเปลี่ยนแปลง และลูกค้าต้องการอะไร และต้องการอะไรในอนาคต ไม่ใช่มองเพียงผลกำไรในระยะสั้น ๆ
ถึงแม้อนาคตจะเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน และเส้นทางสู่นวัตกรรม มักไม่ชัดเจน
แต่เราต้องกล้าที่จะเดินหน้าไป
โดยธุรกิจต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการระดมความคิด เพื่อคาดการณ์ถึงสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือ
หากประเทศไทย อยากเป็นส่วนหนึ่งของเวทีโลก ไม่อยากเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีของต่างชาติ
ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้อง Disrupt และทรานส์ฟอร์มตัวเองตอนนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป
เพราะวันนี้จะทำธุรกิจเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว
บริษัทไทยต้องก้าวสู่ยุคใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นอาวุธสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ
อีกทั้ง การแข่งขันทางธุรกิจในยุคนี้ และอนาคต
แต่ละบริษัทจะทำธุรกิจแบบลำพัง เดินอย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้..
โดยต้องจับมือกัน เพื่อความสร้างเข้มแข็งให้พร้อมรับมือกับโลกการแข่งขันที่ไร้พรมแดน
รวมถึงภาครัฐ ก็ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และกฎเกณฑ์สากล
ซึ่งหากทุกฝ่ายตั้งใจและร่วมมือกัน อนาคตของประเทศ ก็อาจจะสดใสกว่าที่คิด
เพราะอย่าลืมว่าประเทศไทยเอง ก็มี Soft Power และ Talent ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.