รู้จัก บสย. ผู้ทำหน้าที่ ค้ำเงินกู้ให้ SMEs

รู้จัก บสย. ผู้ทำหน้าที่ ค้ำเงินกู้ให้ SMEs

31 ก.ค. 2022
รู้จัก บสย. ผู้ทำหน้าที่ ค้ำเงินกู้ให้ SMEs /โดย ลงทุนแมน
ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับ SMEs หลายราย ก็คือ การเข้าถึงแหล่งกู้ยืมเงิน
เนื่องจากธุรกิจ SMEs เอง มักมีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งยังไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันเหมือนบริษัทรายใหญ่
แต่รู้ไหมว่า มีหน่วยงานของภาครัฐที่ชื่อ “บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม” หรือ “บสย.”
คอยช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
แล้ว บสย. เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจกลุ่มนี้ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติแล้ว แหล่งเงินทุนของการทำธุรกิจจะมาจาก 2 ส่วนหลัก
- ส่วนเงินทุนของเจ้าของ
- ส่วนที่กู้ยืมสินเชื่อ จากทางสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่าง ๆ
ซึ่งการกู้ยืมนั้น เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ หรือแม้แต่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินทุนของเจ้าของเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม การที่สถาบันการเงินหรือธนาคารต่าง ๆ จะอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจหรือไม่นั้น ก็ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงด้วยเหมือนกัน
โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งมักจะมีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ รวมถึงขาดความน่าเชื่อถือของบุคคล หรือนิติบุคคลที่มาค้ำประกันสินเชื่อ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs
โดย บสย. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 หรือราว 31 ปีก่อน
ในปี 2535 ได้รับโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดชอบจากกองทุนประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ กสย. ให้เข้ามาดูแลและบริหารจัดการเองทั้งหมด
จุดประสงค์หลักของ บสย. ก็เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น
ผ่านการช่วยค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่าง ๆ ในการอนุมัติปล่อยสินเชื่อ
โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้น ก็จะเป็น
- กระทรวงการคลัง 95.5%
- และอื่น ๆ 4.5% เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย
ปัจจุบัน บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจ SMEs ไปแล้วกว่า 7.4 แสนราย
คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.7 ล้านล้านบาท
ลองมาดูผลประกอบการของ บสย. ที่ผ่านมากันบ้าง
ปี 2563 รายได้ 799 ล้านบาท กำไร 253 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,416 ล้านบาท กำไร 818 ล้านบาท
3 เดือนแรก ปี 2565 รายได้ 265 ล้านบาท กำไร 112 ล้านบาท
หลายคนน่าจะมีคำถามต่อว่า แล้ว บสย. มีวิธีหารายได้และกำไรอย่างไร ?
โดยรายได้ของ บสย. จะมาจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าดำเนินการในการค้ำประกันสินเชื่อ
ทั้งจากฝั่งธุรกิจ SMEs ที่เป็นผู้กู้ และสถาบันการเงินหรือธนาคารต่าง ๆ ที่เป็นผู้ปล่อยกู้
รวมถึง บสย. เองก็มีการนำเงินที่ได้รับมา ไปลงทุนต่อยอดในหลักทรัพย์ต่าง ๆ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ และตราสารทุนอีกด้วย
ก็นับว่า โมเดลธุรกิจของ บสย. เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
สร้างรายได้จากการกินค่าธรรมเนียม และจากการจัดการเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อ
ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดการส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่
ซึ่งหากค่าธรรมเนียมที่ได้รับ เท่ากับค่าใช้จ่ายแล้ว
ทุก ๆ ค่าธรรมเนียมที่ได้รับเพิ่มขึ้นมา ก็จะกลายเป็นส่วนที่เป็นกำไรแทบจะทั้งหมด
และด้วยโมเดลธุรกิจเอง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่สูงมาก
ทำให้มีเงินสดเหลือไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนอีกทางหนึ่งได้อีกด้วย
อีกทั้งยังเป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่น่าจะมีใครลอกเลียนแบบได้
เพราะว่า คนค้ำประกันเงินกู้ที่มีความน่าเชื่อถือในสายตาของทั้งผู้กู้ และผู้ปล่อยกู้มากที่สุด
ก็คงหนีไม่พ้น บสย. ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของรัฐบาลนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม บสย. ก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย หากธุรกิจ SMEs เกิดผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา
บสย. ในฐานะผู้ค้ำประกัน ก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหาย ที่เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน
ถึงตรงนี้ ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจ บสย. ได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจ
หากวันหนึ่งธุรกิจของเราต้องการกู้ยืมเงิน เพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือขยายธุรกิจขึ้นมา
ชื่อผู้ค้ำประกันที่เป็น บสย. ก็อาจจะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.tcg.or.th/aboutus.php
-https://www.tcg.or.th/shareholder.php
-https://www.tcg.or.th/uploads/file/updatewebsite%20TCG%202022-06.pdf
-https://www.tcg.or.th/uploads/file
-https://www.tcg.or.th/fee_rate.php
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.