Disney อาจก้าวพลาด เพราะเร่งผลิตคอนเทนต์ มากเกินไป

Disney อาจก้าวพลาด เพราะเร่งผลิตคอนเทนต์ มากเกินไป

5 ส.ค. 2022
Disney อาจก้าวพลาด เพราะเร่งผลิตคอนเทนต์ มากเกินไป /โดย ลงทุนแมน
หากถามว่าใคร คือผู้นำในตลาดภาพยนตร์ใน 3 ปีก่อนหน้านี้
คำตอบก็คือ “Disney” ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด มากถึง 35%
โดยหนึ่งในวิธีที่ Disney ใช้คือ การปรับกลยุทธ์จาก การเร่งผลิตภาพยนตร์ในปริมาณมาก
มาเป็นการสร้างภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่อง ที่มีคุณภาพแทน
แต่หากลองมาดูจำนวนภาพยนตร์ และแอนิเมชันที่ Disney ผลิต ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จะพบว่า Disney เริ่มปรับกลยุทธ์เร่งสร้างภาพยนตร์ รวมถึงแอนิเมชัน และซีรีส์ให้มากขึ้น
แล้วทำไมในวันนี้บริษัท Disney ถึงเลือกที่จะกลับไปใช้กลยุทธ์เดิม ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2000-2004 Disney ยังคงใช้กลยุทธ์เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด ด้วยการเร่งผลิตภาพยนตร์ในปริมาณมาก
โดยช่วงเวลาดังกล่าว Disney มีการผลิตภาพยนตร์อยู่ที่ประมาณ 40-50 เรื่องต่อปี เลยทีเดียว
ในขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างบริษัทผลิตภาพยนตร์ชั้นนำ 7 บริษัท หรือที่เราเรียกกันว่า กลุ่ม BIG7
เช่น Universal Pictures, Paramount Pictures, Warner Bros. มีค่าเฉลี่ยในการผลิตภาพยนตร์ อยู่ที่ประมาณ 30 เรื่องต่อปี
แม้ว่า Disney จะสามารถผลิตภาพยนตร์ได้มากกว่าคู่แข่งก็ตาม
แต่ส่วนแบ่งการตลาดของ Disney กลับทำได้เพียง 13.5%
แต่แล้วเรื่องราวก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อคุณ Bob Iger ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของ Disney ในปี 2005
สิ่งที่คุณ Bob Iger เข้ามาเปลี่ยนแปลงในตอนนั้นคือ ลดจำนวนการผลิตภาพยนตร์
จากเดิมที่เคยผลิตมากถึง 40-50 เรื่อง เหลือเพียง 15 เรื่อง
โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อให้สามารถโฟกัสในการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องได้ดียิ่งขึ้น
หรือพูดง่าย ๆ คือ เน้นไปที่คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ
นอกจากนี้ เขายังได้ใช้กลยุทธ์ทำการควบรวมกิจการ บริษัทสตูดิโอและแฟรนไชส์ภาพยนตร์มากมาย
ไม่ว่าจะเป็น Pixar, Marvel, Lucasfilm และ 20th Century Studios
ซึ่งเรื่องนี้ ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Disney ค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2019 ส่วนแบ่งการตลาดของ Disney เพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับ 35%
เรียกได้ว่า เป็นส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดของ Disney ในรอบ 20 ปีเลยทีเดียว
แต่เรื่องราวความสำเร็จนี้ ก็ต้องเปลี่ยนไปอีกครั้ง
เมื่อปลายปี 2019 Disney ได้ทำการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง เป็นของตัวเองอย่าง Disney+
จากที่แต่ก่อนเคยเป็นพาร์ตเนอร์ กับแพลตฟอร์มที่เราคุ้นเคยกันอย่าง Netflix
เนื่องจาก Disney มีฐานแฟนคลับจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ระดับตำนาน
ที่ประสบความสำเร็จอย่าง Star Wars, Marvel เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ทำให้ในช่วงแรก Disney สามารถดึงผู้ใช้งานจำนวนมาก ให้เข้ามาอยู่บน Disney+ ได้อย่างรวดเร็ว
โดยระยะเวลาเพียง 1 ปี มีผู้ใช้งานบน Disney+ มากถึง 87 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า ความต่อเนื่องของคอนเทนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งในหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ที่ทำให้ผู้ใช้งานยังคงยอมจ่ายค่าสมัครสมาชิกในทุก ๆ เดือน
ซึ่งการที่ Disney ผลิตภาพยนตร์เพียงปีละ 15 เรื่อง อาจไม่เพียงพอที่จะดึงให้ผู้ใช้งาน อยู่บนแพลตฟอร์มได้ตลอด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา Disney จึงเริ่มปรับกลยุทธ์ เร่งผลิตคอนเทนต์ภาพยนตร์ รวมถึงแอนิเมชันและซีรีส์ให้มากขึ้น
หากเราลองมาดูจำนวนภาพยนตร์ และแอนิเมชันที่ Disney ผลิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่า
- ปี 2018 ผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน 14 เรื่อง
- ปี 2019 ผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน 35 เรื่อง
- ปี 2020 ผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน 31 เรื่อง
- ปี 2021 ผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน 34 เรื่อง
เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2019 Disney ทำการเร่งผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้น จากช่วงก่อนหน้า มากเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว และมาในปี 2022 เพียงระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้ผลิตภาพยนตร์ และแอนิเมชันไปแล้วกว่า 28 เรื่อง
แต่แน่นอนว่า เรื่องราวมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
เมื่อการเร่งผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้น ทำให้คอนเทนต์ภาพยนตร์ และซีรีส์บางเรื่อง เริ่มมีคุณภาพที่ต่ำลงกว่ามาตรฐานเดิมของ Disney ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
อย่างภาพยนตร์เรื่อง Black Widow ที่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากแฟน Marvel เป็นอย่างหนัก
ในเรื่องกราฟิกที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หากเทียบกับภาพยนตร์ในจักรวาล Marvel เรื่องก่อน ๆ
หรือแม้แต่ซีรีส์เรื่อง Obi-Wan Kenobi ที่ทำเอาเหล่าแฟน ๆ Star Wars ผิดหวังกับบท และการดำเนินเรื่องที่ไม่ราบรื่น และไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร
ซึ่งหากเราลองมาวิเคราะห์ ความท้าทายที่ Disney กำลังเจอในตอนนี้ ก็จะพบว่า
หากบริษัทเลือกที่จะเน้นผลิตคอนเทนต์ในปริมาณที่มาก โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ
ก็จะส่งผลให้ผลงานที่ออกมา มีคุณภาพโดยเฉลี่ยตกต่ำลงกว่าที่เคยเป็น
แต่หากโฟกัสไปที่คุณภาพ
ก็อาจส่งผลให้ความต่อเนื่องของคอนเทนต์ที่ต้องรองรับในแพลตฟอร์ม Disney+ หายไป
ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็ย่อมส่งผลกระทบมายังผู้ใช้งานของแพลตฟอร์ม
ลองนึกภาพว่า หากหนังที่เราดูไม่สนุกเหมือนแต่ก่อน หรือไม่มีหนังใหม่ ๆ เข้ามาให้ชม
เราก็คงไม่อยากจ่ายค่าสมัครสมาชิกต่อ
ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ Disney เท่านั้น เหล่าคู่แข่งในตลาดวิดีโอสตรีมมิงรายอื่น ๆ อย่างเช่น Netflix เอง ก็กำลังพบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน
ในวันที่การแข่งขันได้เปลี่ยนไป
จากแต่ก่อนที่เน้นการสร้างภาพยนตร์ เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์เป็นหลัก ซึ่งบริษัทสามารถโฟกัสไปที่การสร้างภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ โดยไม่ต้องคำนึงถึงปริมาณมากนัก
แต่ในวันนี้ จากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง
ทำให้ Disney ต้องเจอกับโจทย์ใหม่ซึ่งก็คือ ปริมาณความต่อเนื่องของคอนเทนต์
เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า กลยุทธ์ของ Disney จะก้าวพลาด เหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้านี้ หรือไม่..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.statista.com/statistics/187171/market-share-of-film-studios-in-north-america-2010/
-https://www.statista.com/statistics/243180/leading-box-office-markets-workdwide-by-revenue/
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Walt_Disney_Studios_films_(2010–2019)
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Walt_Disney_Studios_films_(2020–2029)
-https://en.wikipedia.org/wiki/Free_Guy
-https://www.fiercevideo.com/video/disney-has-86-8-million-subscribers-one-year-after-launch
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.