รู้จัก ชายที่เคยเรียก ค่าไถ่หุ้น Disney จนบริษัทยอมจ่าย 30,000 ล้าน

รู้จัก ชายที่เคยเรียก ค่าไถ่หุ้น Disney จนบริษัทยอมจ่าย 30,000 ล้าน

รู้จัก ชายที่เคยเรียก ค่าไถ่หุ้น Disney จนบริษัทยอมจ่าย 30,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
เราจะยอมจ่ายเงินเท่าไร แลกกับการที่ใครคนหนึ่ง ยอมหยุดไล่ซื้อหุ้นบริษัทของเรา เพื่ออยากครอบงำกิจการ
สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน หรือไม่ยอมจ่ายแม้แต่สักบาทเดียว
รู้ไหมว่า เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นจริงในโลกธุรกิจกับ Disney ในปี 1984 ซึ่งยอมจ่ายเงิน 30,000 ล้านบาท แลกกับการให้ชายคนหนึ่งหยุดแผนไล่ซื้อหุ้นของ Disney
เรียกได้ว่า ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ชายคนนั้น ทำตัวเหมือนโจรการเงินที่เรียกค่าไถ่จาก Disney ได้สำเร็จ
ชายคนนั้นเป็นใครมาจากไหน
แล้วทำไม Disney ถึงต้องยอมจ่าย 30,000 ล้านบาท ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ชายคนนี้ มีชื่อว่า Saul Steinberg นักธุรกิจที่กลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,300 ล้านบาท ได้ก่อนอายุ 30 ปี
ด้วยการก่อตั้งบริษัทให้เช่าคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ก่อนเข้าซื้อบริษัทที่ใหญ่กว่า 10 เท่า โดยใช้การแลกหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมของแต่ละบริษัท
สุดท้ายดีลควบรวมนี้ก็สำเร็จไปด้วยดี ซึ่งลองคิดภาพตามว่า การซื้อบริษัทที่ใหญ่กว่าบริษัทเดิม 10 เท่า จะทำให้คนคนหนึ่ง มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน
ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น ทำให้เขามองหาบริษัทเป้าหมาย
ต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาเจอกับ Disney
ถ้าถามว่าทำไมต้อง Disney คำตอบก็เพราะว่า ตอนนั้นราคาหุ้น Disney ตกต่ำ จากปัญหารายได้ลดลงติดต่อกัน 3 ปี ภาพยนตร์ที่ล้มเหลว และต้นทุนสวนสนุกที่สูงมาก
แต่ด้วย Disney เป็นหุ้นที่มีเรื่องราวน่าสนใจมานาน
ทำให้ Saul Steinberg ตัดสินใจเริ่มซื้อหุ้นของ Disney ในช่วงต้นปี 1984 ทันที
เขาเริ่มต้นซื้อหุ้น Disney ในราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐ
จนภายใน 2 สัปดาห์ เขาสามารถถือหุ้นใน Disney
เพิ่มขึ้นเป็น 12.2%
ถ้าเป็นการซื้อหุ้นธรรมดาคงไม่เป็นไร แต่ชายคนนี้กลับประกาศที่จะซื้อหุ้น Disney ในสัดส่วนมากถึง 25%
การทำแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการประกาศสงครามกับ Disney ว่าต้องการมาเป็นผู้ถือหุ้นคนสำคัญของบริษัท
ฝั่ง Disney ที่เห็นแล้วว่าชายคนนี้กำลังมาฮุบบริษัทแบบไม่เป็นมิตร จึงตัดสินใจโต้ตอบพฤติกรรมแบบนี้ ด้วยการทำให้สัดส่วนหุ้นของ Saul Steinberg น้อยลงไปเรื่อย ๆ
แล้ว Disney ใช้ท่าไหน เพื่อทำให้สัดส่วนหุ้นของเขาลดลงไปเรื่อย ๆ ?
คำตอบคือ Disney ใช้วิธีเข้าซื้อกิจการบริษัทอื่น ๆ แล้วใช้การแลกหุ้นของตัวเองกับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทนั้น แทนที่จะใช้เงินสดของตัวเองจ่าย
ไล่ตั้งแต่การเข้าซื้อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Arvida ด้วยการแลกหุ้น 3.3 ล้านหุ้น หรือราว 10% ของหุ้น Disney ทั้งหมด
และซื้อกิจการ Gibson Greetings บริษัทผลิตการ์ดและกระดาษห่อของขวัญ แลกกับหุ้น Disney 6.2 ล้านหุ้น
ทั้งหมดนี้ ทำให้ภายในเวลาไม่นาน หุ้นของ Saul Steinberg ลดเหลือไม่ถึง 10% จากเดิมที่เคยมีอยู่ถึง 12.2% ของทั้งหมด
ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็ไม่ยอมให้ Disney ทำแบบนี้ได้ง่าย ๆ
จึงตัดสินใจฟ้องศาลในข้อหาการตัดสินใจทางธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง แต่สุดท้ายศาลก็ยกฟ้องคดีนี้ตกไป
แม้จะแพ้คดีกับทาง Disney แต่เขาก็เป็นคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ เพราะหลังจากนั้น เขาตัดสินใจตั้งบริษัทโฮลดิงขึ้นมาชื่อว่า MM Acquisition
ถ้าลองสังเกตจากชื่อดี ๆ การที่เขาตั้งชื่อว่า MM ก็มาจาก Mickey Mouse ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของ Disney มาอย่างยาวนาน..
นั่นแปลว่า เขาเอาจริงเอาจังกับการที่อยากครอบครองกิจการของ Disney ให้ได้
แต่ครั้งนี้เขาไม่ได้ทำคนเดียว เพราะยังไปชวนเศรษฐีอย่าง Kirk Kerkorian ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสื่อบันเทิงและอสังหาริมทรัพย์จากนิวยอร์ก มาร่วมวงด้วย
โดยหว่านล้อมให้พาร์ตเนอร์คนใหม่นี้ ยอมถือหุ้นในบริษัทโฮลดิงที่เขาตั้งขึ้นมาใหม่ แลกกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ใน Disney หากดีลฮุบกิจการนี้สำเร็จ
ไล่ตั้งแต่การให้สิทธิ์เลือกซื้อสตูดิโอและคลังภาพยนตร์ต่าง ๆ ในเครือของ Disney
รวมไปถึงการมีสิทธิพิเศษในการพัฒนาที่ดินใกล้ ๆ Walt Disney World, Epcot Center ในฟลอริดา และ Disneyland ในแคลิฟอร์เนียอีกด้วย
หลังจากที่ได้พาร์ตเนอร์มาแล้ว Saul Steinberg ก็เสนอให้บริษัทใหม่ของเขาอย่าง MM Acquisition เสนอซื้อหุ้น Disney 37.9% ในราคาหุ้นละ 67.5 ดอลลาร์สหรัฐ
ถ้ายังจำได้ ก่อนหน้านี้ เขาเคยซื้อหุ้น Disney ในตลาดเพียงหุ้นละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ นั่นแปลว่า เขากำลังซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่าเดิมพอสมควร
สุดท้าย Disney เลยยอมเจรจากับเขาเพื่อไม่ให้เขาไล่ซื้อหุ้นของบริษัทตัวเอง ด้วยการที่ Disney ยอมซื้อหุ้นคืนจากเขาในราคาหุ้นละ 70.8 ดอลลาร์สหรัฐ
โดยคิดเป็นเงินที่ Disney ต้องจ่ายมากถึง 297 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินปัจจุบันเกือบ 30,000
ล้านบาทเลยทีเดียว
เท่านั้นยังไม่พอ Disney ยอมจ่ายเงินให้กับเขาอีก 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการที่เขาจะไม่ซื้อหุ้น Disney อีกเป็นเวลา 10 ปีต่อจากนั้น..
แต่แน่นอนว่า การทำแบบนี้ทำให้นักลงทุนคนอื่นไม่พอใจมาก เพราะอยู่ดี ๆ ทำไม Saul Steinberg ถึงได้สิทธิพิเศษในการที่ Disney ซื้อหุ้นคืนเพียงคนเดียว
และไม่ใช่แค่เสียงวิจารณ์จากนักลงทุนเท่านั้น แต่การที่ Disney ซื้อบริษัท Arvida และ Gibson Greetings เข้ามา
ทำให้หนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
รวมไปถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพราะตอนนั้นยังไม่มีเงื่อนไขชัดเจนในการซื้อหุ้นคืนของบริษัท
ทำให้สุดท้าย แม้ Disney สามารถหยุดยั้งการกระทำของ Saul Steinberg ไว้ได้ แต่ตัวเองก็เจ็บช้ำอยู่ไม่น้อยแทน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกลยุทธ์ที่เขาใช้กับ Disney ซึ่งเรียกกันว่า Greenmail ก็ทำได้ยากขึ้น เพราะต้องถูกบังคับให้จ่ายภาษีมากถึง 50% ของกำไรที่ได้จากการทำแบบนี้
ทำให้ในปัจจุบัน ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์แบบที่ Disney เคยเจออีกแล้ว และบริษัทต่าง ๆ ก็มีเครื่องมือทางการเงินมากขึ้น ในการต่อสู้กับความพยายามไล่ซื้อกิจการของคนนอก
แต่เรื่องราวนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า Disney เคยเกือบถูกซื้อกิจการโดยคนอื่นไปแล้ว หากไม่ยอมจ่ายเงินค่าไถ่คืนเกือบ 30,000 ล้านบาทให้กับ Saul Steinberg
ซึ่งก็น่าคิดต่อเหมือนกันว่า ถ้า Disney ไม่ใช้วิธีซื้อหุ้นคืนจาก Saul Steinberg ที่ต้องใช้เงินหลักหมื่นล้านบาท Disney จะใช้วิธีไหนได้อีกบ้าง
หรือจริง ๆ แล้ว การใช้เงินหลักหมื่นล้านบาทเพื่อไถ่หุ้นบริษัทตัวเองคืน ก็อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ Disney สามารถทำได้ในเวลานั้นแล้ว..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon