Hyperinflation ปรากฏการณ์เงินเฟ้อรุนแรง ที่เราควรรู้

Hyperinflation ปรากฏการณ์เงินเฟ้อรุนแรง ที่เราควรรู้

8 ส.ค. 2022
Hyperinflation ปรากฏการณ์เงินเฟ้อรุนแรง ที่เราควรรู้ /โดย ลงทุนแมน
ปีนี้ ปัญหาเงินเฟ้อ กลายมาเป็นความท้าทายต่อธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลก
แต่รู้หรือไม่ว่าในอดีต บางประเทศเคยเผชิญกับปรากฏการณ์ ที่ระดับราคาสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นเร็วราวกับติดจรวด แถมยังรุนแรงเป็นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปีนี้
เราเรียกมันว่า “Hyperinflation”
Hyperinflation คืออะไร
เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลกระทบรุนแรงขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Hyperinflation คือ ปรากฏการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการ เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 50% ต่อเดือน
เทียบให้เห็นภาพเลยก็คือ
หากเมื่อเดือนที่แล้ว เรากินข้าวราดแกง ราคาจานละ 50 บาท
เดือนนี้ ข้าวราดแกงจานเดิม จะมีราคาจานละ 75 บาท..
แล้วในอดีตนั้น ปรากฏการณ์ Hyperinflation เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
ก็ต้องบอกว่าเหตุการณ์ Hyperinflation ของหลายประเทศในอดีต
มีต้นตอมาจากการใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลอย่างมหาศาลของรัฐบาล
โดยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลนั้น
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ภาครัฐใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ที่หามาได้จากการเก็บภาษีจากประชากรในประเทศ ซึ่งที่มาของค่าใช้จ่ายมหาศาลของภาครัฐ ในหลาย ๆ ครั้ง เกิดจากการพิมพ์เงิน เพื่ออัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของตัวเอง
โดยสาเหตุที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณขาดดุล ก็เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อาจเกิดจาก
- ภาวะสงคราม
- ภัยพิบัติจากธรรมชาติ
- ความวุ่นวายทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม วิธีการพิมพ์เงินออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น
จริงอยู่ว่าในระยะสั้น อาจจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้
แต่ในระยะยาว ปริมาณเงินที่มากเกินไป จนธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมได้
สุดท้ายแล้ว จึงนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นฉับพลัน
แล้วผลกระทบที่ตามมา หลังจากปรากฏการณ์ Hyperinflation มีอะไรบ้าง ?
- ค่าเงินของประเทศที่เกิดปรากฏการณ์ Hyperinflation จะถูกเทขายอย่างหนัก จนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนไม่อยากถือเงินสกุลนั้นแล้ว และต้องการลดการถือครองสกุลเงินที่กำลังมีมูลค่าลดลง
- ค่าเงินอ่อนลง ยิ่งทำให้สินค้านำเข้านั้นมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าในประเทศก็ปรับขึ้นตาม และยิ่งเป็นการไปทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปอีก
- ทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่เกิด Hyperinflation ลดลงอย่างรวดเร็ว จากค่าใช้จ่ายของมูลค่าสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำเข้าสินค้าบางอย่าง นำไปสู่ปัญหาความขาดแคลน
- เมื่อประชาชนรู้ว่าสินค้ากำลังมีราคาพุ่งสูงขึ้น จะเกิดการกักตุนสินค้าเอาไว้ เพื่อขายในอนาคต
โดยหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เราพบเห็นกันเป็นประจำ
สำหรับประเทศที่เจอปรากฏการณ์ Hyperinflation เล่นงาน
คือ ประชาชนในประเทศต้องหอบเงินเป็นปึกเพื่อไปซื้อของ
แบบเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา และซิมบับเว เมื่อไม่กี่ปีก่อน
ในอดีตที่ผ่านมา ก็มีหลายประเทศที่ประสบกับปรากฏการณ์ Hyperinflation
อย่างเช่นในเยอรมนี เมื่อปี 1923 ซึ่งถือเป็นภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ
เนื่องจากในตอนนั้น หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1
เยอรมนีเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลก และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม
ให้แก่กลุ่มประเทศสัมพันธมิตร เป็นเงินที่มีมูลค่าสูงถึง 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือตีเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน มากถึง 20 ล้านล้านบาท
ดังนั้น เยอรมนีในสมัยนั้น จึงเลือกที่จะพิมพ์เงินออกมา เพื่อพยุงเศรษฐกิจและใช้หนี้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหา Hyperinflation ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น
ปริมาณเงินมาร์คที่มากขึ้น ทำให้เงินมาร์คอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
ถึงขนาดอ่อนค่าลงมากสุดที่ 4,200,000,000,000 มาร์คต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้ง ๆ ที่ช่วงก่อนสงครามนั้น ค่าเงินมาร์คอยู่ที่ประมาณ 4.2 มาร์คต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น
ซึ่งผลกระทบจาก Hyperinflation ส่งผลให้เงินมาร์คมีค่าไม่ต่างจากเศษกระดาษที่ไร้ค่าไปโดยปริยาย
มูลค่าของเงินมาร์คนั้น ลดลงแทบจะเป็นรายชั่วโมง
ผู้คนชาวเยอรมันที่ได้รับเงินมา ก็ต้องรีบนำเงินออกไปซื้อสินค้า
เพราะสินค้านั้น มีราคาแพงขึ้นในทุก ๆ วัน อย่างเช่น ราคาขนมปัง 1 ก้อน ซึ่งมีราคา 250 มาร์ค ในเดือนมกราคม ปี 1923 เพิ่มขึ้นเป็น 200,000 มาร์ค ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน..

เรียกได้ว่า ในช่วงเวลานั้น ชาวเยอรมันจำนวนมาก ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก
คนเยอรมันหลายสิบล้านคน หมดหวังกับอนาคต และมีชีวิตอยู่เพียงไปวัน ๆ
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้าน และแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล
จนต้องการยึดอำนาจมาจากรัฐบาล
โดยหนึ่งในนั้น มีกลุ่มคนที่มาจากพรรคการเมือง ที่มีแนวคิดสุดโต่งอย่าง พรรคนาซี ที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นผู้จุดชนวนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมานั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bot.or.th/App/FinancialLiteracy/ExchangeRate/01_01_contentdownload_inflation.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperinflation
-https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperinflation_in_the_Weimar_Republic
-https://www.in2013dollars.com/us/inflation/1921?amount=1#:~:text=Value%20of%20%241%20from%201921,cumulative%20price%20increase%20of%201%2C555.37%25.
-https://en.wikipedia.org/wiki/Nazi_Party
-https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/z9y64j6/revision/5
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.