“ขาดทุนสะสม” คืออะไร ?

“ขาดทุนสะสม” คืออะไร ?

13 ก.ย. 2022
[ประเด็นสำคัญ] ขาดทุนสะสม คือ ผลรวมของทั้งกำไรและขาดทุนที่สะสมมาตั้งแต่วันแรกที่กิจการเริ่มประกอบธุรกิจ โดยที่ผลรวมดังกล่าวมีค่าเป็นลบ
หากเราเป็นเจ้าของบริษัท ทำธุรกิจมีกำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง
ผลรวมของกำไรขาดทุนของเรา หากเรายังไม่ได้เอาไปทำอะไร
เราจะเรียกเงินทั้งก้อนรวม ๆ กันว่า “กำไรสะสม”
ทีนี้ หากธุรกิจขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น โรคระบาด
จากกำไรสะสม ก็อาจจะกลายมาเป็นผลลบ หรือเราเรียกอีกอย่างว่า “ขาดทุนสะสม” ได้เหมือนกัน
วันนี้เรามาดูกันว่าขาดทุนสะสม คำนวณอย่างไร
กระทบอะไรต่อธุรกิจ และเราจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ?
เราลองมาดูงบแสดงฐานะทางการเงินกันก่อน
งบแสดงฐานะทางการเงิน ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น
สามารถแทนเป็นสมการง่าย ๆ คือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
ซึ่งส่วนของผู้ถือหุ้น ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว
- ส่วนเกิน (ต่ำกว่า) มูลค่าหุ้น
- กำไร (ขาดทุน) สะสม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมติว่า บริษัท A มีจำนวน 20,000,000 หุ้น ราคาพาร์ 0.50 บาท
แสดงว่า บริษัท A มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท ซึ่งผู้ถือหุ้นได้ชำระค่าหุ้นทั้งหมด เพื่อให้บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น บริษัท A จะมีเงินทุนเริ่มต้น 10,000,000 บาท
ตรงนี้จะเรียกว่า ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว
ซึ่งเมื่อบริษัทได้เริ่มต้นธุรกิจ แล้วสามารถสร้างกำไร หรือขาดทุนก็ตาม
ตรงนี้ จะถูกบันทึกในส่วนของ กำไร (ขาดทุน) สะสม ด้วย
ถ้าบริษัททำธุรกิจแล้วมีกำไร จะทำให้ กำไร (ขาดทุน) สะสม เพิ่มขึ้น
กลับกัน ถ้าขาดทุน จะทำให้ กำไร (ขาดทุน) สะสม ลดลง
ผ่านมา 2 ปี บริษัท A สามารถทำผลกำไรได้ปีละ 1,000,000 บาท
ดังนั้น บริษัท A จะมีกำไรสะสมอยู่ที่ 2,000,000 บาท
เมื่อรวมทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว กับกำไรสะสม
จะได้ว่า บริษัท A มีส่วนของผู้ถือหุ้น 12,000,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ปีที่ 3 บริษัทดันเกิดขาดทุนอย่างหนัก 7,000,000 บาท
แปลว่า จากที่บริษัทมีกำไรสะสมอยู่ที่ 2,000,000 บาท จะกลายเป็นขาดทุนสะสม 5,000,000 บาท
ในขณะที่ ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ ปีที่ 3 จะลดลงเหลือ 5,000,000 บาท
โดยเกิดจาก ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 10,000,000 บาท หักกับขาดทุนสะสม 5,000,000 บาท นั่นเอง

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วการขาดทุนสะสม จะส่งผลอย่างไรต่อบริษัทบ้าง ?
ตามกฎหมาย แม้ว่าบริษัทจะขาดทุนในปีนั้น ๆ
ถ้ายังคงมีกำไรสะสมอยู่ บริษัทก็ยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้
แต่ถ้าบริษัทมีขาดทุนสะสม บริษัทจะต้องมีการล้างขาดทุนสะสมให้หมดเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ในหลายบริษัท กว่าจะสามารถนำกำไร มาล้างขาดทุนสะสมจนหมดได้ อาจต้องใช้เวลานานหลายปี
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงเกิดแนวคิด นำส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาล้างขาดทุนสะสม
ซึ่งส่วนเกินมูลค่าหุ้น คือ ส่วนต่างของราคาหุ้นกับราคาพาร์ ที่บริษัทได้มีการระดมทุนเพิ่ม
ถ้าบริษัทสามารถระดมทุนที่ราคาหุ้นสูงกว่าราคาพาร์ จะทำให้เกิดส่วนเกิน (ต่ำกว่า) มูลค่าหุ้น เพิ่มขึ้น
กลับกัน ถ้าระดมทุนที่ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาพาร์ จะทำให้ส่วนเกิน (ต่ำกว่า) มูลค่าหุ้น ลดลง
แล้วส่วนเกินมูลค่าหุ้น มาล้างขาดทุนสะสมได้อย่างไร ?
กลับมาที่ บริษัท A ได้มีการระดมทุนเพิ่มทุน 10,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ที่ราคาพาร์ 0.50 บาท
แปลว่า บริษัทมีเงินทุนเพิ่มเข้ามา 10,000,000 บาท แบ่งได้เป็น
ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 5,000,000 บาท และส่วนเกินมูลค่าหุ้น 5,000,000 บาท
ดังนั้น บริษัทจากที่มี 20,000,000 หุ้น กลายเป็น 30,000,000 หุ้น
ส่วนผู้ถือหุ้นจาก 5,000,000 บาท กลายเป็น 15,000,000 บาท ตรงนี้จะแบ่งได้เป็น
- ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 15,000,000 บาท
- ส่วนเกิน (ต่ำกว่า) มูลค่าหุ้น 5,000,000 บาท
- กำไร (ขาดทุน) สะสม -5,000,000 บาท
จะเห็นได้ว่า ส่วนเกินมูลค่าหุ้นทั้งหมด สามารถนำไปล้างขาดทุนสะสม ได้หมดพอดี
หรือในกรณีบริษัทไม่มีส่วนเกินมูลค่าหุ้น เราอาจจะเห็นการใช้วิธีลดทุนจดทะเบียนได้เช่นกัน โดยจะมี 2 วิธี คือ
1. การลดจำนวนหุ้น
2. การลดราคาพาร์
คราวนี้ บริษัท A ตัดสินใจล้างขาดทุนสะสม 5,000,000 บาท ด้วยวิธีลดทุนจดทะเบียน
เมื่อบริษัทเลือกที่จะใช้วิธีที่ 1 คือ ลดจำนวนหุ้นลงจาก 20,000,000 หุ้น เหลือ 10,000,000 หุ้น แต่ราคาพาร์ยังคงไว้ที่หุ้นละ 0.50 บาท
หรือกรณีใช้วิธีที่ 2 บริษัทเลือกลดราคาพาร์ จาก 0.50 บาท เหลือ 0.25 บาท แต่จำนวนหุ้นยังคงไว้ 20,000,000 หุ้น
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 วิธี จะทำให้เกิดส่วนเกินทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วขึ้นมา 5,000,000 บาท ซึ่งสามารถนำส่วนเกินทุนนี้ ไปล้างขาดทุนสะสมได้หมดพอดี
ดังนั้น ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท A หลังเกิดการลดทุนจดทะเบียน จะอยู่ที่ 5,000,000 บาท
โดยเกิดจาก ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัท A จาก 10,000,000 บาท ลดลงเหลือ 5,000,000 บาท ซึ่ง 5,000,000 บาทที่หายไปนั้น จะถูกนำไปล้างขาดทุนสะสม
สุดท้าย ทั้งการใช้ส่วนเกินมูลค่าหุ้น และการลดทุนจดทะเบียน ก็สามารถทำให้บริษัท A ล้างขาดทุนสะสมได้เช่นกัน
ถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า การล้างขาดทุนสะสม ด้วยวิธีดังกล่าว เป็นเทคนิคทางบัญชีอย่างหนึ่ง
โดยเป็นเพียงการย้ายรายการต่าง ๆ ที่อยู่ภายในส่วนของผู้ถือหุ้นเท่านั้น
ซึ่งเมื่อตัวเลขขาดทุนสะสมถูกล้างจนหมด และบริษัทเริ่มมีกำไร
ก็จะสามารถจ่ายปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้นได้ในอนาคตนั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.