CEO ผู้เปลี่ยน Adobe ให้เป็นจ่ายรายเดือน

CEO ผู้เปลี่ยน Adobe ให้เป็นจ่ายรายเดือน

17 ก.ย. 2022
CEO ผู้เปลี่ยน Adobe ให้เป็นจ่ายรายเดือน /โดย ลงทุนแมน
Adobe เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่งธุรกิจโปรแกรมการออกแบบ ตั้งแต่ภาพ วิดีโอ
ไปจนถึงการดิไซน์แอปพลิเคชัน ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว
จากการที่บริษัทได้ปรับโมเดลจากการขายขาด มาเป็นแบบจ่ายรายเดือน
แม้เรื่องนี้ จะทำให้เสียงของผู้ใช้งานแตกออกเป็น 2 ฝ่ายด้วยกัน นั่นคือ เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย
แต่ในมุมของบริษัท รายได้ประจำ ก็ได้ทำให้ Adobe กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเสือนอนกิน
ที่นักทำคอนเทนต์ ทำแอป ทุกคนต้องจ่าย
ในปีที่ผ่านมา Adobe มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
มากถึง 270,000 ล้านบาท มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
วันนี้ เรามาดูกันว่าใครกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Adobe ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวความสำเร็จนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากคนที่มีชื่อว่าคุณ “Shantanu Narayen”
ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่ง CEO ของ Adobe ตั้งแต่ปี 2007 หรือราว 15 ปีก่อน
โดยคุณ Shantanu Narayen เกิดและเติบโตที่ประเทศอินเดีย
ภายหลังได้ย้ายมาที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอายุ 59 ปี
โดยเขาจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร
จาก University College of Engineering, Osmania University
ปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จาก Bowling Green State University ในรัฐ Ohio
รวมถึงสาขา MBA จาก Haas School of Business, University of California, Berkeley
ภายหลังจากเรียนจบ เขาได้เลือกเริ่มทำงานที่บริษัทสตาร์ตอัปขนาดเล็กแห่งหนึ่ง
ชื่อว่า Measurex Automation Systems เป็นสตาร์ตอัปเกี่ยวกับการออกแบบระบบควบคุมสำหรับยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
หลังจากเรียนรู้งานต่าง ๆ มาสักพัก
คุณ Shantanu Narayen ก็ได้ย้ายมาทำงานในบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมอย่าง Apple และ Silicon Graphics, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้กับคอมพิวเตอร์
แม้จะมีโอกาสได้ทำงานที่บริษัทระดับโลกอย่าง Apple
แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในช่วงเวลานั้น
สตีฟ จอบส์ ถูกกรรมการบริษัทบีบให้ลาออก ทำให้ทั้งสองคนไม่ได้มีโอกาสร่วมงานกัน
ในเวลาเดียวกันนี้ เป็นช่วงที่ชาวอเมริกัน
เริ่มรู้จักกับนวัตกรรมใหม่อย่าง “อินเทอร์เน็ต”
หลังจากที่เว็บเบราว์เซอร์ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 1993
จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จาก 2.3% ของจำนวนประชากรในปี 1993 กลายเป็น 16.4% ในปี 1996
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ เขาจึงตัดสินใจออกจากงาน เพื่อมาก่อตั้งสตาร์ตอัป
ที่ชื่อ Pictra Inc. ร่วมกับเพื่อนร่วมงานจาก Silicon Graphics อีกสองคน
โดย Pictra เป็นถือสตาร์ตอัป บริษัทแรก ๆ ที่เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วโลก
สามารถเข้ามาอัปโหลดรูปภาพขึ้นสู่เว็บไซต์ จากนั้นก็สามารถแชร์ให้กับผู้อื่นได้
แต่นอกจากนี้แล้ว บริษัทยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวอื่น ที่เกี่ยวกับการปรับแต่งรูปภาพด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคิด ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเรื่องโมเดลการสร้างรายได้ของธุรกิจที่ไม่ชัดเจน หรือความเร็วของอินเทอร์เน็ตในตอนนั้น
เรื่องนี้ก็ทำให้บริษัทต้องปิดตัวลง หลังจากที่เพิ่งเริ่มต้นมาได้เพียง 1 ปี
แต่ความพยายามของเขาในครั้งนี้ ก็ไม่ได้ล้มเหลวไปเสียทีเดียว
เนื่องจากไอเดียในการทำธุรกิจของ Pictra ไปสะดุดตา Adobe เข้า
จุดนี้เองที่ทำให้บริษัท Adobe ได้รู้จักและติดต่อชักชวนให้คุณ Shantanu Narayen เข้าไปร่วมงาน
หลังจากเข้ามาทำงานที่ Adobe คุณ Shantanu Narayen ก็ได้สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเช่น ช่วยออกแบบ “Adobe Creative Suite”
ซึ่งเป็นการเอาโปรแกรมหลาย ๆ ตัว ของ Adobe มารวมเป็นเซตเดียว
ด้วยผลงานที่โดดเด่น ทำให้เขาสามารถไต่เต้าเลื่อนตำแหน่งได้อย่างรวดเร็ว
จนในปี 2007 คุณ Shantanu Narayen ในวัย 45 ปี ก็ได้ขึ้นเป็น CEO เต็มตัว
เราลองมาดูผลประกอบการของ Adobe
ก่อนที่คุณ Shantanu Narayen จะขึ้นเป็น CEO
เทียบกับปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ?
- ปี 2007 บริษัท Adobe มีรายได้ 117,000 ล้านบาท กำไร 28,000 ล้านบาท
- ปี 2021 บริษัท Adobe มีรายได้ 584,000 ล้านบาท กำไร 178,000 ล้านบาท
รายได้ คิดเป็นการเติบโตกว่า 5 เท่า
ส่วนกำไร คิดเป็นการเติบโตกว่า 6 เท่า
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เมื่อสิ้นปี 2007 บริษัท Adobe มีมูลค่าอยู่ที่ 0.9 ล้านล้านบาท
แต่ตอนนี้ บริษัทมีมูลค่ามากถึง 5.35 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเกือบ 6 เท่าเลยทีเดียว
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเริ่มมีคำถามกันแล้วว่า แล้วเขาเข้ามาใช้กลยุทธ์อะไร
บริษัทถึงได้มีการเติบโต ทั้งในด้านของผลประกอบการ และมูลค่าบริษัท
เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ข้อหลัก ๆ ด้วยกัน
1. ซื้อกิจการ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้กับโปรแกรมของ Adobe
โดยมีทั้งการซื้อกิจการของสตาร์ตอัป และกิจการของคู่แข่ง ที่มีธุรกิจในลักษณะคล้ายกัน
ยกตัวอย่างเช่น เข้าซื้อกิจการของ Omniture บริษัทวิเคราะห์การตลาดออนไลน์ ที่มีจุดเด่นด้านการวิเคราะห์ข้อมูลจากเว็บไซต์ จากนั้นนำมาปรับรวมเข้ากับ Adobe Marketing Cloud
รวมถึงดีลล่าสุดอย่างการซื้อ Figma ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปด้านการออกแบบ UX/UI
ซึ่งอาจพูดได้ว่า Figma เป็นคู่แข่งโดยตรงของ Adobe XD
2. ปรับโมเดลธุรกิจ จากการขายขาด เป็นระบบ Subscription รายเดือน
ในช่วงก่อนหน้านี้ Adobe ใช้วิธีขายโปรแกรมเพียงครั้งเดียว
ซึ่งหากใครยังพอจำได้ มันคือการที่เราจะจ่ายเงินซื้อเพียงแค่ครั้งเดียว
หลังจากนั้นจะได้รับ Serial Number ในการใช้งานโปรแกรมอย่างเต็มรูปแบบ

แต่หลังจากที่คุณ Shantanu Narayen ปรับโมเดลธุรกิจ
ทำให้ตอนนี้โปรแกรมของ Adobe ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นระบบ Subscription ซึ่งผู้ใช้งานโปรแกรม จะต้องจ่ายเงินในทุก ๆ เดือนเท่านั้น เพื่อเข้าถึงโปรแกรมของบริษัท
ผลลัพธ์จากทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ ทำให้ Adobe มีคู่แข่งทางธุรกิจที่น้อยลง
ในขณะเดียวกันก็ทำให้โปรแกรมของ Adobe มีความหลากหลาย และครอบคลุมผู้ใช้งานในกลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น
และสำหรับการปรับโมเดลเป็นแบบ Subscription นอกจากจะช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอมากยิ่งขึ้นแล้ว
การเก็บเงินแบบ Subscription ในทางบัญชีแล้ว จะถือเป็นรายรับล่วงหน้า
ช่วยให้วงจรเงินสด หรือก็คือรอบระยะเวลาที่บริษัทได้รับเงินจากลูกค้า
เทียบกับระยะเวลาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้การค้าสั้นลง
ซึ่งหากเราลองมาดู วงจรเงินสด ของบริษัทในปี 2013
ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ ที่ Adobe เริ่มใช้โมเดล Subscription เทียบกับปัจจุบัน ก็จะพบว่า
- ปี 2013 บริษัทมีรายได้จาก Subscription 28% มีวงจรเงินสด 16 วัน
- ปี 2021 บริษัทมีรายได้จาก Subscription 92% มีวงจรเงินสด -23 วัน
อธิบายง่าย ๆ คือ หลังจากบริษัทได้รับเงินจากลูกค้าแล้ว จะมีเวลานำเงินสดไปหมุนได้อีกยาวนานถึง 23 วัน แล้วค่อยจ่ายเงินให้กับทางเจ้าหนี้การค้า
ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Adobe มีผลิตภัณฑ์สำหรับการทำกราฟิกครบวงจร
ยิ่งในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างมากองรวมอยู่บนหน้าจอสมาร์ตโฟน
ผ่านคอนเทนต์ประเภทภาพ เสียง วิดีโอ และแอปพลิเคชัน
Adobe ผู้เป็นกลไกสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้
จึงเติบโตแบบก้าวกระโดด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
เพราะบริษัทสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน
ที่นักออกแบบ และนักดิไซน์ทุกคนต้องจ่าย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดนี้ ก็ถูกขับเคลื่อนมาโดย CEO ชาวอินเดีย ที่ชื่อว่าคุณ Shantanu Narayen นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://insider.finology.in/success-stories/shantanu-narayen-adobe
-https://blog.datacaptive.com/success-journey-of-shantanu-narayen/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Adobe_Inc.
-https://producthabits.com/adobe-95-billion-saas-company/
-https://news.adobe.com/news/news-details/2022/Adobe-to-Acquire-Figma/default.aspx
-https://www.jitta.com/stock/nasdaq:adbe/factsheet
-https://companiesmarketcap.com/adobe/marketcap/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Omniture
- Adobe Inc. Annual Report 2007, 2013, 2021
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.