TPI อดีตโรงกลั่น 100,000 ล้าน สู่ IRPC ของ ปตท.

TPI อดีตโรงกลั่น 100,000 ล้าน สู่ IRPC ของ ปตท.

20 ก.ย. 2022
TPI อดีตโรงกลั่น 100,000 ล้าน สู่ IRPC ของ ปตท. /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงระหว่างปี 2516 ถึงปี 2519 หรือเกือบ 50 ปีก่อน
ประเทศไทยของเราก็เจอเข้ากับวิกฤติน้ำมันโลก
ณ เวลานั้น ก็ถือเป็นจุดที่ทำให้ประเทศไทยมี ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมา
รวมถึงในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีอีกบริษัทปิโตรเคมีเอกชนรายใหญ่ของไทย ชื่อว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI
รู้หรือไม่ว่า TPI เป็นบริษัทที่เคยมีมูลค่ากว่า 130,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามากสุดอันดับต้น ๆ ในบ้านเรา
แล้ววันนี้ บริษัทแห่งนี้หายไปไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่า TPI ก่อตั้งโดยคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในปี 2521 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ภาครัฐเริ่มเห็นความสำคัญของพลังงาน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ประเทศไทย กำลังเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเบา ไปเป็นอุตสาหกรรมหนัก จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มีโครงการ Eastern Seaboard เป็นตัวดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ
ซึ่งบริษัท TPI ที่เพิ่งก่อตั้งบริษัทได้ไม่นาน ก็ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาอุตสาหกรรม
จนเติบโตกลายมาเป็น บริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้น
แต่ด้วยความที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
รวมถึงต้องดำเนินกิจการเป็นเวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน
บริษัทจึงต้องหาแหล่งเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก จากทั้งธนาคารภายในประเทศและต่างประเทศ
อีกทั้ง TPI ยังมีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนเพิ่มเติม
โดยนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการกลั่น ให้เพียงพอต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
โดยในช่วงเวลานั้น
GDP ประเทศไทย เติบโตจาก 1 ล้านล้านบาท ในปี 2528
เป็น 4.2 ล้านล้านบาท ในปี 2538
แต่ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วจนเกินไป
หลายธุรกิจในไทยจึงเลือกกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ภายในประเทศ จนส่งผลให้เกิดวิกฤติต้มยํากุ้งในปี 2540
ทันทีที่รัฐบาลตัดสินใจปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว
TPI เองก็เป็นหนึ่งในบริษัท ที่ได้รับผลกระทบด้วย
เพราะมีมูลค่าหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ มากกว่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
TPI จึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ในตอนนั้นบริษัทมีหนี้สินมากถึง 134,000 ล้านบาท และไม่สามารถชำระหนี้สินได้
ในที่สุด บริษัทก็ต้องประกาศหยุดชำระหนี้ และยื่นล้มละลายต่อศาลในที่สุด
หลังการล้มละลายของ TPI การต่อสู้ระหว่างคุณประชัย และเหล่าธนาคาร
เพื่อแย่งสิทธิในการบริหารแผนฟื้นฟูบริษัทก็เริ่มต้นขึ้น
ในด้านเจ้าหนี้นั้นเห็นว่าธุรกิจของ TPI ยังมีโอกาสพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้ สอดรับกับธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังมีความต้องการสูง
ทำให้เหล่าเจ้าหนี้อยากจะแปลงหนี้สินเป็นทุน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจนี้
ด้านคุณประชัยในฐานะลูกหนี้และผู้บริหาร ย่อมไม่เห็นด้วย
เพราะคิดว่าเหล่าเจ้าหนี้จะเข้ามาครอบงำบริษัท
จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันในชั้นศาล ซึ่งกินระยะเวลาหลายปี
จนกระทั่งในปี 2546 กระทรวงการคลัง ได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหนี้ เพราะ TPI ยังมีธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งมีความสำคัญต่อหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
อีกทั้งมูลค่าหนี้มหาศาลของบริษัท หากบริหารจัดการไม่ดี
ในระยะยาวจะส่งผลเสียเรื้อรังต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ในที่สุด ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยินยอม
กระทรวงการคลังจึงได้แต่งตั้งคณะผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปบริหารกิจการ
โดยมีเป้าหมายให้ TPI กลับมาทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง และพนักงานทั้งหมดจะต้องไม่ตกงาน
รวมไปถึงเจ้าหนี้ที่จะต้องได้รับเงินคืน และลูกหนี้ที่จะได้รับความเป็นธรรม
จึงนำมาสู่การปรับโครงสร้างทางการเงิน เริ่มตั้งแต่
- การลดทุน เพื่อล้างขาดทุนสะสม
- เพิ่มทุนเข้าไปใหม่จากพันธมิตร เพื่อนำไปชำระหนี้
โดยพันธมิตรที่ว่านี้ก็คือ ปตท., ธนาคารออมสิน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ซึ่งสำหรับในมุมของผู้ถือหุ้นแล้ว การเพิ่มทุนในครั้งนั้น ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TPI เปลี่ยนไปไม่ใช่คนเดิม แต่เป็น ปตท. ที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นอยู่ราว 45%
อีกทั้งบริษัทยังต้องขายหุ้นบริษัท ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL เพื่อชำระหนี้มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนหนี้ก้อนที่เหลืออยู่กว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ทางบริษัทจะทยอยใช้คืนจากกระแสเงินสดในการดำเนินงาน
ภายหลังจากการปรับโครงสร้างทั้งหมดนี้
ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในปี 2549
และบริษัทก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก TPI มาเป็น IRPC ที่เราอาจเคยได้ยินชื่อกันในวันนี้ นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
-56-1 ของบริษัท IRPC
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.