ปตท. เห็นอะไร ในอุตสาหกรรมอาหารจากพืช ?

ปตท. เห็นอะไร ในอุตสาหกรรมอาหารจากพืช ?

27 ก.ย. 2022
ปตท. เห็นอะไร ในอุตสาหกรรมอาหารจากพืช ?
ปตท. x ลงทุนแมน
ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม
ทั้งธุรกิจพลังงาน ที่ประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือก
รวมถึง “อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ”
ที่ ณ วันนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายคน
เริ่มหันมามองผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพกันมากขึ้น
โดยหนึ่งในธุรกิจเพื่อสุขภาพ ที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด
ก็คือ ธุรกิจอาหาร Plant-based หรืออาหารที่ทำมาจากพืช ผัก ผลไม้ เห็ดต่าง ๆ
รวมไปถึงธัญพืช ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์
ที่บอกว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดนั้น ก็เพราะว่าในปี 2020
ธุรกิจอาหารจากพืชทั่วโลก มีมูลค่าอยู่ราว 1.1 ล้านล้านบาท
ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 5.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย สูงถึง 18% ต่อปี
จุดนี้เอง ที่ทำให้หลายบริษัททั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและไม่ได้อยู่หันมาลงทุนในธุรกิจนี้
โดยในประเทศไทยก็จะมีบริษัทพลังงานแห่งชาติอย่าง ปตท. รุกเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ด้วย
แล้ว ปตท. เห็นอะไร ในอุตสาหกรรมอาหารจากพืช ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ที่ผ่านมา เทรนด์รักสุขภาพได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 สะท้อนให้เห็นจากทั้งพฤติกรรมการกิน
ที่เราหันมาใส่ใจในคุณค่าทางอาหาร รวมถึงหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น
โดยอีกหนึ่งเรื่องที่โลกให้ความสำคัญก็คือ “ความมั่นคงทางอาหาร”
ซึ่งกลายมาเป็น วิกฤติ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
นับตั้งแต่ช่วงปี 2014 หรือต่อเนื่องมายาวนานกว่า 8 ปีแล้ว
เหตุผลสำคัญมาจากประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
และภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดการลดลงของพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์
ส่งผลให้ประชากรราว 2 พันล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรโลก เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร
โดยพื้นที่ที่เผชิญกับวิกฤตินี้มากที่สุดก็คือ “ทวีปแอฟริกา” ที่มีประชากรราว 51.6% หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งในทวีป ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้
โดยทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไอเดียธุรกิจ Plant-based หรือธุรกิจที่ผลิตเนื้อเทียมจากพืชเกิดขึ้น และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ในช่วงที่ผ่านมา
ตัวอย่างผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ “Impossible Foods” บริษัทสตาร์ตอัปอเมริกัน
ที่วางกรอบธุรกิจไว้ว่า จะตัดความต้องการเนื้อสัตว์ออกไปด้วยเทคโนโลยีผลิตอาหาร
ภายในปี 2035 หรืออีกเพียง 13 ปีนับจากวันนี้
โดย Impossible Foods จะทำธุรกิจ เน้นไปที่การวิจัยและพัฒนานำพืชมาผลิตเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ไปจนถึงเนื้อปลา เพื่อรองรับความขาดแคลนทางอาหาร และลดการฆ่าสัตว์เพื่ออนุรักษ์โลกของเราไปพร้อม ๆ กัน
ปัจจุบัน Impossible Foods ถูกประเมินมูลค่าอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท
โดยผู้ที่เข้ามาร่วมให้เงินระดมทุนกับบริษัท ต่างเป็นบริษัทชั้นนำและมหาเศรษฐีระดับโลก
เช่น Google และ Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft
อีกตัวอย่างที่เราน่าจะเคยเห็นแบรนด์ผ่านตากันมาบ้าง
ก็น่าจะเป็นแบรนด์ “Beyond Meat” อีกหนึ่งผู้ผลิตเนื้อเทียมเบอร์ต้น ๆ ของโลก
ที่มีนวัตกรรม นำส่วนประกอบหลักจากพืช มาผลิตเป็นเนื้อเทียม
ปัจจุบัน Beyond Meat เป็นซัปพลายเออร์ผู้ผลิตเนื้อเทียม
ให้กับบริษัทอาหารชั้นนำหลายราย เช่น PepsiCo, Starbucks, Yum! Brands เจ้าของ KFC, Taco Bell และ Pizza Hut
โดยบริษัทอาหารเหล่านี้ก็ได้นำเนื้อเทียม ไปทำเมนูทางเลือกให้กับคนที่ไม่อยากกินเนื้อสัตว์
เช่น ไก่ทอดเนื้อเทียม Beyond Fried Chicken ของ KFC หรือแซนด์วิชเนื้อเทียมของ Starbucks
ปัจจุบัน ได้จดทะเบียนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาแล้ว มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท
ทีนี้กลับมาที่ประเทศไทย และ ปตท.
คำถามแรกเลยก็คือ ทำไม ปตท. ต้องลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ?
ก็ต้องเล่าในภาพใหญ่ก่อนว่า ปตท. มีการวางกรอบวิสัยทัศน์ของบริษัทครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปี
โดยจะโฟกัสการเติบโตไปกับ 2 ธุรกิจหลัก
- ธุรกิจกลุ่ม Future Energy หรือพลังงานแห่งอนาคต
เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า
- ธุรกิจกลุ่ม Beyond หรือธุรกิจใหม่ ที่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน
เช่น ธุรกิจ High Value ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงธุรกิจ “Life Science”
เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหารสุขภาพและโภชนาการ
ครอบคลุมการลงทุนในธุรกิจ Plant-based
สำหรับธุรกิจ Plant-based ของ ปตท. จะขับเคลื่อนโดย บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เกิดขึ้นจากการร่วมทุนเท่า ๆ กัน ระหว่าง
- บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้น 100%
- บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งมี NRF เป็นผู้หุ้น 100%
จัดตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจพัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชโดยเฉพาะ
ซึ่งล่าสุด ก็ได้มีการร่วมทุนกับบริษัท Plant & Bean จากสหราชอาณาจักร
เพื่อก่อสร้างโรงงาน ที่จะมีกำลังการผลิตเนื้อจากพืชราว 3,000 ล้านตันต่อปี
ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดการณ์ว่าจะให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในกลางปีหน้า โดยวางกรอบให้เป็นธุรกิจต้นน้ำ เพื่อส่งออกให้กับผู้ผลิตอาหารทางเลือกทั่วโลก
ทั้งยังมีการเปิดคอมมิวนิตีอาหาร Plant-based เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การบริโภคของเราในอนาคต ร่วมกับแสนสิริอีกด้วย
หากมองจากมุมนี้ ถ้าถามว่า ปตท. เห็นอะไรอีก
นอกจากการเติบโตไปกับเมกะเทรนด์อย่าง Plant-based
ก็คงตอบได้ว่าเป็นเรื่องของความยั่งยืน
เพราะทุกวันนี้ โลกของเรากำลังเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร
ธุรกิจ Plant-based จะเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้โดยตรง
หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ
ยิ่งธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตและกระจายไปในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก ได้มากเท่าไร
ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารของประชากรทั้งโลก ก็น่าจะลดลงได้ มากเท่านั้น..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.