รู้จัก “Figma” สตาร์ตอัปดาวรุ่ง ที่ Adobe ยอมจ่าย 740,000 ล้าน

รู้จัก “Figma” สตาร์ตอัปดาวรุ่ง ที่ Adobe ยอมจ่าย 740,000 ล้าน

29 ก.ย. 2022
รู้จัก “Figma” สตาร์ตอัปดาวรุ่ง ที่ Adobe ยอมจ่าย 740,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนคงเห็นข่าวว่า Adobe ที่เป็นเจ้าของโปรแกรมอย่าง Photoshop, Illustrator, Premiere Pro, After Effects ยอมทุ่มเงินสูงถึง 7.4 แสนล้านบาท เพื่อซื้อสตาร์ตอัป ชื่อว่า “Figma” เข้ามาเสริมทัพอีกราย
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2022 Figma จะมีรายได้อยู่แค่ประมาณ 15,000 ล้านบาท
เท่ากับว่า Adobe ยอมจ่ายเงินซื้อกิจการที่ Price-to-Sales หรือมีมูลค่าต่อรายได้สูงเกือบ 50 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมากในการจ่ายเงินซื้อกิจการสตาร์ตอัป
แล้วทำไม Adobe ถึงซื้อกิจการ Figma ด้วยมูลค่ามากขนาดนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Figma เป็นแพลตฟอร์มให้บริการซอฟต์แวร์ ด้านการออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 โดยคุณ Dylan Field และคุณ Evan Wallace
เดิมทีคุณ Field ซีอีโอของ Figma เลือกเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยบราวน์
แต่ผ่านไปไม่นาน เขากลับเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเดินมาถูกทางหรือไม่
เขาจึงตัดสินใจหยุดเรียน ไปทดลองฝึกงานที่ LinkedIn แพลตฟอร์มสำหรับการทำงาน และ Flipboard แพลตฟอร์มด้านข่าวสาร
โดยในช่วงแรก คุณ Field ฝึกงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ก่อน
แต่ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้เขาค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบจริง ๆ นั่นคือ การออกแบบ
หลังจากนั้น เขาจึงไปชักชวนเพื่อนร่วมคณะอย่าง คุณ Wallace มาร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัปขึ้น
จนท้ายที่สุด ได้ข้อสรุปเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่ให้บริการเครื่องมือกราฟิกดิไซน์ สำหรับเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน หรือที่เรียกว่า UX/UI (User Experience และ User Interface)
ต่อมาทั้งคู่ได้สมัครเข้าโครงการ Thiel Fellowship ของคุณปีเตอร์ ธีล ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และนักลงทุนรายแรกของ Facebook ที่จะคัดเลือกและมอบเงินทุนให้วัยรุ่นไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ
ผลปรากฏว่า พวกเขาได้รับการคัดเลือก และคว้าเงินทุนไปราว 3.7 ล้านบาท
จึงได้ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยในปี 2012 เพื่อมาทำธุรกิจแบบเต็มตัว
และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Figma นับตั้งแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม คุณ Field ในฐานะซีอีโอของ Figma ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย
เพราะเขายังอายุน้อย และขาดประสบการณ์ในการบริหารองค์กร ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาซอฟต์แวร์ไปด้วย
ส่งผลให้พนักงานหลายคนไม่พอใจ และขอลาออกไป
ทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ของ Figma เป็นไปอย่างล่าช้า โดยใช้เวลานานถึง 4 ปี กว่าที่จะเปิดให้ทดลองใช้แพลตฟอร์มได้
นอกจากนั้น ในเรื่องการระดมทุนก็มีปัญหาเช่นกัน
เพราะคุณ Field ไม่สามารถโน้มน้าวนักลงทุน ให้เข้าใจโมเดลธุรกิจของ Figma ได้อย่างชัดเจน
จนทำให้ในช่วงแรกยังไม่ค่อยมีใครกล้าเข้ามาลงทุนด้วย
แต่นั่นก็กลายเป็นแรงผลักดันให้คุณ Field เรียนรู้และปรับปรุงแนวทางในการทำงาน
รวมทั้งพยายามรับฟังความคิดเห็นของพนักงานให้มากขึ้น และจ้างผู้จัดการเก่ง ๆ มาช่วยบริหารงาน
หลังจากนั้น Figma จึงดำเนินธุรกิจได้ราบรื่นขึ้น และได้เปิดตัวให้คนทั่วไปสมัครใช้บริการได้อย่างเป็นทางการ ในเดือนกันยายน ปี 2016
ซึ่งดูเหมือนว่า พวกเขาจะเข้าสู่ตลาด ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะพอดี
เพราะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบ UX/UI เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่ดึงดูดผู้บริโภคกันมากขึ้น
โดยหลายรายก็สนใจใช้บริการของ Figma เนื่องจากมีเครื่องมือออกแบบ ตกแต่ง และจัดเรียง UX/UI ที่ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับทั้งมือใหม่และผู้ที่เชี่ยวชาญแล้ว
อีกทั้งมีจุดเด่นสำคัญ คือ การใช้ฐานข้อมูลบนระบบคลาวด์
ที่ทำให้สามารถพูดคุย และปรับแก้งานไปพร้อมกันได้แบบเรียลไทม์
ส่งผลให้การทำงานเป็นทีม มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมมาก
โดยเฉพาะในช่วง Work from home ตอนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19
Figma จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีลูกค้า เช่น Microsoft, Airbnb, Zoom, Uber รวมไปถึงบรรดาแพลตฟอร์มหน้าใหม่มาใช้บริการ
พอเป็นเช่นนี้ นักลงทุนก็มีความมั่นใจในกิจการมากขึ้น ทำให้ Figma ประสบความสำเร็จในการระดมทุนทั้งหมด 6 รอบ คิดเป็นเงินมูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท
โดยในการระดมทุนรอบล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 บริษัทถูกประเมินมูลค่าไว้กว่า 3.7 แสนล้านบาท
โดยจากผลการสำรวจของเว็บไซต์ uxtools.com พบว่า ในปี 2021 Figma เป็นบริการกราฟิกดิไซน์ UX/UI ยอดนิยมอันดับ 1 ที่มีผู้ใช้งานราว 77% ขณะที่โปรแกรม XD ของ Adobe ที่มีบริการในลักษณะคล้ายกัน มีผู้ใช้งานต่ำกว่า 25%
ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้นำตลาดซอฟต์แวร์กราฟิกดิไซน์อย่าง Adobe ไม่อาจเพิกเฉยได้
Adobe จึงตัดสินใจประกาศขอซื้อกิจการ Figma ด้วยราคาสูงถึง 7.4 แสนล้านบาท ในเดือนกันยายน ปี 2022 ที่ผ่านมา
ซึ่งสิ่งที่ Adobe คาดหวังไว้ คงเป็นการขยายฐานลูกค้าตลาด UX/UI โดยเฉพาะกลุ่มแพลตฟอร์มรายย่อย พร้อมทั้งเปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นธุรกิจในกลุ่มตัวเองแทน เพื่อครองตลาดกราฟิกดิไซน์ต่อไปในระยะยาว
โดยทั้งคู่น่าจะนำฟีเชอร์ของอีกฝ่าย มาช่วยเสริมบริการให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เช่น Figma อาจเชื่อมต่อกับเครื่องมือตัดต่อต่าง ๆ ในเครือ Adobe
ส่วน Adobe ก็อาจประยุกต์แนวทางการให้บริการคลาวด์ของ Figma ที่ผู้บริโภคชื่นชอบ มาต่อยอดกับโปรแกรมอื่น
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักลงทุน กลับมีความกังวลว่า Adobe จ่ายเงินซื้อ Figma แพงเกินไปหรือไม่
เพราะมีการคาดการณ์ว่า Figma จะมีรายได้อยู่ที่แค่ประมาณ 15,000 ล้านบาท ในปี 2022
เท่ากับว่า Adobe ประเมินมูลค่ากิจการของ Figma สูงกว่ารายได้เกือบ 50 เท่า ซึ่งถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับการซื้อกิจการอื่น ๆ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หุ้นของ Adobe ถูกเทขายจนติดลบไปราว 16% ในวันที่ประกาศข่าวซื้อกิจการ Figma หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 1 ล้านล้านบาท
แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่ได้ประโยชน์ไปก่อนแล้ว คงหนีไม่พ้น ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Figma อย่างคุณ Dylan Field โดยเขาถือหุ้นของบริษัทอยู่ในสัดส่วน 10%
จึงทำให้ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินมูลค่าราว 74,000 ล้านบาท กลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยในทันที
ถึงตรงนี้ จากเรื่องราวของ Figma จะเห็นได้ว่า
แม้ในบางตลาดจะมีผู้นำที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่มันก็อาจจะยังมีช่องว่าง ให้ธุรกิจที่เล็กกว่า ในการเข้าไปพัฒนาสินค้าหรือบริการ จนสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
หรือในมุมของผู้นำตลาดเอง บางครั้งก็อาจต้องการตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการซื้อกิจการดาวรุ่งพุ่งแรง เหมือนกรณีที่ Adobe ยอมทุ่มเงินมหาศาล เพื่อซื้อ Figma มาครอบครองไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ก็น่าติดตามต่อเหมือนกันว่า การเดินเกมเข้าซื้อ Figma ในครั้งนี้ จะเป็นดีลที่คุ้มค่าสำหรับ Adobe มากน้อยแค่ไหน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.businessinsider.com/figma-ceo-dylan-field-design-software-startup-2020-10
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Figma_(software)
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Dylan_Field
-https://www.theverge.com/2022/9/17/23357404/adobe-figma-acquisition-20-billion-bet-control-creative-market-antitrust
-https://www.crunchbase.com/organization/figma/company_financials
-https://www.cnbc.com/2022/09/15/figma-investors-score-historic-coup-with-adobe-deal-in-down-year-.html
-https://uxtools.co/survey-2021#toolkit
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.