กรณีศึกษา รถไฟญี่ปุ่น ติดหนี้ท่วมหัว แต่เอาตัวรอดได้

กรณีศึกษา รถไฟญี่ปุ่น ติดหนี้ท่วมหัว แต่เอาตัวรอดได้

4 ต.ค. 2022
กรณีศึกษา รถไฟญี่ปุ่น ติดหนี้ท่วมหัว แต่เอาตัวรอดได้ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ก่อนจะกลายเป็นบริษัทเอกชน ที่ขนส่งผู้คนทั่วประเทศอย่างในวันนี้ รถไฟญี่ปุ่น หรือ JR Group เคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้มากกว่า 9,700,000 ล้านบาท
อะไรที่ทำให้รัฐวิสาหกิจที่เคยมีหนี้สินมหาศาล
แปรรูปมาเป็นเอกชน จนพลิกฟื้นกลับมามีกำไร
และสามารถดำเนินธุรกิจ มาจนถึงปัจจุบันได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
รู้ไหมว่า เส้นทางเดินรถไฟสายแรกของญี่ปุ่นนั้น เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลญี่ปุ่น และวิศวกรจากอังกฤษที่แบ่งปันเทคโนโลยี จนญี่ปุ่นสามารถเดินรถไฟสายแรกได้ในปี 1872
หลังจากนั้นไม่นาน ชาวญี่ปุ่นก็เริ่มเรียนรู้และพัฒนาระบบรถไฟ เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างชาติ จนสามารถสร้างรถจักรและขยายเส้นทางเดินรถไฟภายในประเทศได้ด้วยตัวเอง
เมื่อรวมกับการสนับสนุนของภาครัฐ ที่ให้สัมปทานในการเดินรถไฟแก่เอกชน ตามเส้นทางหัวเมืองต่าง ๆ
ทำให้รถไฟในญี่ปุ่นมีจำนวนเส้นทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งเส้นทางที่ดำเนินการโดยรัฐและเอกชน
แต่หลังจากปี 1906 รัฐบาลได้ออกกฎหมาย “รถไฟแห่งชาติ” ทำให้เกิดการควบรวมกิจการรถไฟ
ของเอกชนกว่า 17 เส้นทางมาเป็นของรัฐ
ต่อมาประเทศญี่ปุ่นได้ขยายอิทธิพลของจักรวรรดิ ไปยังประเทศใกล้เคียง รวมถึงการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ในช่วงเวลานั้น รถไฟญี่ปุ่นแทบจะกลายเป็นของกองทัพ เพื่อใช้สำหรับการลำเลียงทหารและเสบียง
แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ผลของสงครามทำให้เส้นทางเดินรถไฟส่วนใหญ่ถูกทำลายลง
สหรัฐอเมริกาจึงได้เข้ามาวางรากฐานให้กับญี่ปุ่นยุคใหม่ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ
ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรถไฟเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยการฟื้นฟูความเสียหาย และแปรรูปรถไฟ
ให้กลายเป็น รัฐวิสาหกิจ ในชื่อ Japanese National Railways หรือ JNR ในปี 1949
ภายหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 JNR ก็เริ่มขยายเส้นทางเดินรถไฟ
และรถไฟความเร็วสูง หรือชินคันเซ็นออกไปมากขึ้น เพื่อให้รองรับกับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่ผลลัพธ์ของการขยายเส้นทางรถไฟในครั้งนี้ กลับทำให้ JNR เริ่มขาดทุนตั้งแต่ปี 1964
จนกระทั่งในปี 1987 JNR มีหนี้สะสมถึง 9,700,000 ล้านบาท
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ JNR ขาดทุน ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังเติบโต ?
ปัจจัยแรกคือ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ประชาชน มีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์หรือเครื่องบิน ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารของ JNR เริ่มลดลง
ปัจจัยถัดมาคือ ค่าใช้จ่ายจากการขยายเส้นทางใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบางเส้นทางที่เปิดเดินรถแล้วขาดทุน ก็ยังต้องเปิดให้บริการตามนโยบายของภาครัฐ ทำให้ JNR มีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี
ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ ขนาดขององค์กรที่ใหญ่จนเกินไป ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 400,000 คน ทำให้ JNR มีค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร ที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
จนในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินใจปฏิรูป JNR ด้วยการลดขนาดองค์กร
โดยการแบ่ง JNR ออกเป็น 6 บริษัทเดินรถเอกชน ได้แก่
- JR East
- JR West
- JR Central
- JR Hokkaido
- JR Shikoku
- JR Kyushu
และ 1 บริษัทขนส่ง JR Freight ซึ่งรวมกันเป็น JR Group อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
ซึ่งการแปรรูปกลายเป็นบริษัทเอกชนนั้น มีข้อดีคือ สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างอิสระมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่การเดินรถไฟเพียงอย่างเดียว

โดยที่ JR ทั้ง 6 แห่ง มีสิทธิ์ดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในทรัพย์สินของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหรือให้เช่าห้างสรรพสินค้า, โรงแรม, ฟิตเนส ไปจนถึงสำนักงานรอบ ๆ สถานีรถไฟของตัวเอง
อีกทั้งการลดขนาดองค์กรเป็น 7 บริษัทย่อย ส่งผลให้จำนวนพนักงานลดลง
แต่การบริหารมีความคล่องตัวมากขึ้น จนสามารถแข่งขันกับบริษัทรถไฟรายอื่นได้
ซึ่งก็ทำให้คุณภาพของรถไฟญี่ปุ่นดีขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่น้อยลง
ราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม ไปจนถึงการมาถึงตรงเวลา
โดยในปัจจุบัน 4 บริษัทใน 7 บริษัทอย่าง JR East, JR Central, JR West และ JR Kyushu
กลับมามีกำไรและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น โดยมีรายได้หลักมาจากทั้งค่าบริการรถไฟ และค่าเช่ารอบสถานีรถไฟ
จากรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้สินมหาศาล แต่ด้วยการแปรรูปและปรับโครงสร้าง รวมถึงการลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจลง ส่งผลให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และไม่ตกอยู่ภายใต้นโยบายทางการเมือง
จนสามารถนำทรัพย์สิน ไปสร้างผลตอบแทนให้กลับมามีกำไร
และที่สำคัญคือ JR กลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ด้วยการขนส่งผู้โดยสารกว่า 9,500 ล้านครั้งต่อปี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://edoc.mrta.co.th/HRD/Attach/1501478708_1.pdf
-https://www.adb.org/sites/default/files/publication/539746/adbi-wp1039.pdf
-https://www.tokyoreview.net/2018/10/japan-railway-privatization/
-https://factsanddetails.com/japan/cat23/sub153/item853.html
-https://www.network-industries.org/wp-content/uploads/2019/07/Reform-of-the-Japanese-National-Railways-JNR.pdf
-https://www.ihra-hsr.org/en/hsr/_pdf/jnr_reform.pdf
-https://www.youtube.com/watch?v=NkDz5tNKXNA
-https://www.statista.com/statistics/627142/japan-number-jr-passengers/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.