ทำไม ราคาน้ำมันในไทย ถึงแพงกว่า มาเลเซีย ?

ทำไม ราคาน้ำมันในไทย ถึงแพงกว่า มาเลเซีย ?

7 พ.ย. 2022
ทำไม ราคาน้ำมันในไทย ถึงแพงกว่า มาเลเซีย ? /โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในประเด็นเรื่องพลังงาน ที่มักจะถูกนำมาเปรียบเทียบระหว่างไทย และเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง
ทำไม ราคาน้ำมันในไทย ถึงแพงกว่า มาเลเซีย ?
สะท้อนผ่านราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2022
- ประเทศไทย อยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร
- ประเทศมาเลเซีย อยู่ที่ 2.15 ริงกิตต่อลิตร หรือราว 17.30 บาทต่อลิตร
จะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันดีเซลของไทย สูงเป็น 2 เท่าของมาเลเซียเลยทีเดียว แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
แม้ว่าไทยและมาเลเซียจะมีอาณาเขตติดกัน แต่สภาพทางธรณีวิทยา ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แหล่งทรัพยากรพลังงาน จึงมีความแตกต่างกันด้วย
จากข้อมูลของบริษัท BP ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลก
ได้เปิดเผยเกี่ยวกับน้ำมันดิบของไทย และมาเลเซียไว้ ดังนี้
ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบราว 300 ล้านบาร์เรล ซึ่งเหลือใช้ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
โดยในปี 2021 ไทยผลิตน้ำมันดิบได้ราว 0.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ อยู่ที่ 1.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ไทยจะนำเข้าน้ำมันดิบ จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์ และคูเวต
และถึงแม้ว่าไทยจะมีการส่งออกน้ำมันดิบบ้างเล็กน้อย
แต่ก็เป็นเพราะว่าน้ำมันดิบที่ผลิตได้มีสารปนเปื้อนสูง

ในขณะที่ กระบวนการผลิตของโรงกลั่นในประเทศ ไม่สามารถรองรับได้ จึงถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
นอกจากน้ำมันดิบแล้ว อีกหนึ่งพลังงานที่ไทยค้นพบปริมาณมาก ในบริเวณอ่าวไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน นั่นคือ “ก๊าซธรรมชาติ”
แต่หลังจากขุดใช้มากว่า 40 ปี ก็ทำให้ก๊าซธรรมชาติทยอยลดลงเรื่อย ๆ โดยไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติประมาณ 100,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าจะเหลือใช้ได้อีกแค่ราว 4 ปี
โดยในปี 2021 ไทยผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้ราว 31,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ มากถึง 47,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้อยู่ดี
ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทางท่อขนส่งจากประเทศเมียนมา
และนำเข้าก๊าซธรรมชาติผ่านทางเรือ ในรูปของ Liquefied Natural Gas (LNG) หรือก๊าซธรรมชาติเหลวด้วย
ซึ่งการนำเข้า LNG ก็กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในการขึ้นมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่เหลือในอ่าวไทย
โดยในปี 2021 ไทยนำเข้า LNG ราว 9,200 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 20% ของความต้องการใช้ทั้งหมดเลยทีเดียว
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้โดยสุทธิแล้ว ไทยกลายเป็นประเทศ ที่จำเป็นต้องนำเข้าพลังงาน เพราะไม่สามารถผลิตพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการได้

ทีนี้ มาดูทางฝั่งประเทศมาเลเซียกันบ้าง
มาเลเซียมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบราว 2,700 ล้านบาร์เรล ซึ่งคาดว่าจะเหลือใช้ได้อีกกว่า 12 ปี
โดยในปี 2021 มาเลเซียผลิตน้ำมันดิบได้ราว 0.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่มีความต้องการใช้ อยู่ที่ 0.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เมื่อเทียบกับไทยแล้ว ก็ต้องบอกว่า มาเลเซียมีความต้องการใช้น้ำมันดิบ มากกว่าที่ผลิตได้อยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของมาเลเซีย อยู่ที่ 900,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าจะเหลือใช้ได้อีก 12 ปี เช่นกัน
โดยในปี 2021 มาเลเซียผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้ราว 74,200 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพียง 41,100 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทำให้สุดท้ายแล้ว มาเลเซียจึงกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงาน และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้
แล้วทำไมราคาน้ำมันของไทย ถึงแพงกว่ามาเลเซีย ?
ยกตัวอย่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2022
- ประเทศไทย อยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร
- ประเทศมาเลเซีย อยู่ที่ 2.15 ริงกิตต่อลิตร หรือราว 17.30 บาทต่อลิตร
จะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันดีเซลของไทย แพงกว่าของมาเลเซียถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
จากที่บอกไปตอนต้นว่า แหล่งทรัพยากรพลังงานของทั้ง 2 ประเทศมีความแตกต่างกัน
ส่งผลให้ ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงาน ขณะที่มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงาน จึงมีการดำเนินนโยบายด้านพลังงานไม่เหมือนกันด้วย
โดยหนึ่งในนั้นก็คือ โครงสร้างราคาน้ำมัน
ซึ่งไทยเอง จะมีการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ใช้น้ำมันอย่างประหยัด
รวมถึง มีการเรียกเก็บเงินอุดหนุนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในตอนที่ราคาน้ำมันถูก เพื่อนำไปใช้อุดหนุนในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง
อย่างสถานการณ์แบบตอนนี้
ขณะที่มาเลเซีย เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกพลังงาน จึงไม่มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม และไม่มีการตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ มาเลเซียยังสามารถนำรายได้ตรงนี้ มาอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกให้ต่ำกว่าความจริงได้อีกด้วย
นี่จึงเป็นสาเหตุ ที่ทำให้ราคาน้ำมันในมาเลเซีย มีระดับต่ำกว่าราคาน้ำมันในไทยนั่นเอง

จากเรื่องราวนี้ เราคงเห็นกันแล้วว่า
สถานการณ์ด้านพลังงานของแต่ละประเทศนั้น มีความแตกต่างกัน ส่งผลให้เส้นทางของนโยบายที่เลือกใช้ ก็ย่อมไม่เหมือนกัน
ดังนั้น หากเราจะเปรียบเทียบระหว่างไทย กับมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งประเทศอื่น ๆ ก็ต้องพิจารณาถึงบริบทของประเทศที่แตกต่างกันด้วย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bp.com/content/dam/bp/business-sites/en/global/corporate/pdfs/energy-economics/statistical-review/bp-stats-review-2022-full-report.pdf
-https://www.bp.com/content/dam/bp/business-sites/en/global/corporate/pdfs/energy-economics/statistical-review/bp-stats-review-2021-full-report.pdf
-https://www.facebook.com/PTTNews/photos/a.112240405483143/6059150517458739/
-https://www.energynewscenter.com/enc-data-ทำไมราคาน้ำมันไทยไม่เ/
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price
-https://www.comparehero.my/transportation/articles/latest-petrol-price-ron95-ron97-diesel
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.