สุกี้ตี๋น้อย ขายกิจการ 30% ให้ JMART 1,200 ล้าน แต่อาจขายถูกไป

สุกี้ตี๋น้อย ขายกิจการ 30% ให้ JMART 1,200 ล้าน แต่อาจขายถูกไป

8 พ.ย. 2022
สุกี้ตี๋น้อย ขายกิจการ 30% ให้ JMART 1,200 ล้าน แต่อาจขายถูกไป /โดย ลงทุนแมน
ถือว่าเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ของวันนี้ JMART ซื้อหุ้นสุกี้ตี๋น้อย 30% ใช้เงิน 1,200 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนว่าใช้เงินมาก แต่จริง ๆ แล้ว หลายคนบอกว่า สุกี้ตี๋น้อย ขายถูกไป ถ้าเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เอง จะได้เงินสดเยอะกว่านี้มาก
เรามาดูการวิเคราะห์กันว่า ทำไมสุกี้ตี๋น้อย ถึงขายถูกไป และถ้าเอาบริษัท IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์เอง จะมีโอกาสได้เงินสดมากขนาดไหน
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
เมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา JMART หรือ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนใน ร้านสุกี้ตี๋น้อย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 42 สาขา เป็นจำนวน 352,941 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะดำเนินดีลนี้ให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน ธ.ค. 2565
หมายความว่า JMART ประเมินมูลค่าของสุกี้ตี๋น้อยทั้งกิจการ ไว้ที่ 4,000 ล้านบาท
โดย JMART มองว่าสุกี้ตี๋น้อย ยังมีศักยภาพที่จะขยายสาขาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้อีกมาก รวมถึงสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต
สำหรับผลประกอบการของ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด
ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไรสุทธิ 140 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไรสุทธิ 148 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา สุกี้ตี๋น้อยเติบโตอย่างต่อเนื่อง
คิดเป็นรายได้เติบโตเฉลี่ย 77%
กำไรเติบโตเฉลี่ย 214%
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตที่สูง ทั้ง ๆ ที่ช่วงที่ผ่านมาเราเจอกับโควิด 19 ที่ร้านอาหาร ไม่สามารถดำเนินกิจการได้เป็นปกติ
แล้วราคานี้ JMART ซื้อถูกหรือแพง ?
ถ้าคิดมูลค่าบริษัทของสุกี้ตี๋น้อยที่ 4,000 ล้านบาท
หากใช้กำไรในปี 2564 ที่ 148 ล้านบาท จะสามารถตีออกมาเป็น P/E ที่ 27 เท่า
เปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในตลาดอย่าง สุกี้ MK ที่ปัจจุบันซื้อขายกันที่ P/E 63 เท่า (ในปีที่ผ่านมา MK มีร้านส่วนใหญ่อยู่ในห้างซึ่งประสบปัญหาสถานการณ์โควิด 19 อาจจะยังใช้ P/E มาเปรียบเทียบ ได้ไม่ชัดเจนนัก)
แต่ก็ถือว่า สุกี้ตี๋น้อย มีราคา P/E ที่ถูกกว่า กิจการสุกี้ MK อยู่ในระดับหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าให้เทียบในมุมมองที่ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยตนเอง
ซึ่งไม่กี่วันก่อน ก็จะมีคลินิกความงาม The Klinique หรือ KLINIQ เข้าตลาดหุ้น ล่าสุดก็ยังซื้อขายกันที่ P/E 53 เท่า
ดังนั้น ถ้าสุกี้ตี๋น้อย ถูกประเมินให้มี P/E ที่ 53 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ KLINIQ บริษัทสุกี้ตี๋น้อยก็จะมีมูลค่าสูงถึง 7,844 ล้านบาท ประมาณ 2 เท่ากับมูลค่าที่ JMART เข้ามาลงทุน..
และนั่นก็หมายความว่าสุกี้ตี๋น้อยจะได้เงินสดมา 2,353 ล้านบาท แทนที่จะได้เพียง 1,200 ล้านบาท ซึ่งด้วยแบรนด์ที่เป็นที่นิยมของคนทั่วไปอย่างสุกี้ตี๋น้อยแล้ว น่าจะมี P/E อย่างน้อยในระดับ 53 เท่าได้ไม่ยาก เพราะยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก
ถ้าจะให้คาดการณ์ว่าทำไมสุกี้ตี๋น้อยถึงยอมขายหุ้นที่ได้เงินน้อยกว่า IPO เอง ก็อาจจะมีหลายเหตุผล
โดยก่อนเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าดีลนี้แบ่งเป็น 2 ก้อน
ก้อนแรกเป็นการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม
ส่วนก้อนสองเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุน
นั่นก็หมายความว่าคนที่ได้รับเงินสด จะมีทั้งผู้ถือหุ้นเดิม และตัวบริษัท
1. การที่บริษัทต้องการเงินทุน ก็อาจแปลว่าบริษัทต้องการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วในตอนนี้ ซึ่งไม่สามารถรอ IPO ที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการซื้อเวลาในการเร่งขยายธุรกิจ
แต่เท่าที่ดูลักษณะธุรกิจของสุกี้ตี๋น้อย เป็นการรับเงินสด และจ่ายเครดิตให้คู่ค้า กระแสเงินสดของ สุกี้ตี๋น้อย น่าจะไม่มีปัญหา และสุกี้ตี๋น้อยน่าจะกู้เงินเพื่อขยายกิจการได้ไม่ยาก ซึ่งก็น่าสงสัยว่าทำไมต้องรีบขยายธุรกิจด้วยการรับเงินสดจาก JMART
2. เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยอาจมองเห็นว่าธุรกิจนี้ไม่ง่าย มีการแข่งขันสูง กำไรอาจยืนระยะไม่ได้ และอยากล็อกมูลค่ากิจการ โดยการขายหุ้นส่วนหนึ่งออกมาก่อน และสามารถนำเงินสดที่ตัวเองได้รับไปทำธุรกิจอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง สรุปก็คือตัวเจ้าของเองไม่ได้มองว่าธุรกิจนี้ดี อย่างที่หลายคนทั่วไปมองว่าดี
3. เจ้าของเดิมอาจมองเห็นว่า JMART สามารถให้ Synergy อะไรบางอย่างแก่ร้านสุกี้ตี๋น้อยได้ แต่จนถึงตอนนี้ยังมองไม่ออกว่า JMART ซึ่งทำธุรกิจตามเก็บหนี้ และจัดจำหน่ายอุปกรณ์มือถือ จะมี Synergy อะไรกับร้านสุกี้ตี๋น้อย
4. อาจเป็นไปได้ว่าเจ้าของสุกี้ตี๋น้อยยังไม่มั่นใจว่าการระดมทุนเองในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นไปอย่างราบรื่น หรือยังไม่มั่นใจว่าบริษัทจะได้เงินจาก IPO มากกว่าการขายหุ้นให้ JMART ซึ่งบริษัทอาจติดปัญหาภายในบางอย่างที่ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายนัก
ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามการให้สัมภาษณ์ของเจ้าของสุกี้ตี๋น้อยต่อไป
หลายสำนักข่าวก็น่าจะถามแน่ ๆ
ว่าทำไมถึงเลือกที่จะขายหุ้น 30% ของร้านสุกี้ตี๋น้อย ในราคาที่ถูกกว่า การ IPO บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยตัวเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.