ทำไม ราคาหมู ไก่ อาจแพงกว่านี้ ได้อีก

ทำไม ราคาหมู ไก่ อาจแพงกว่านี้ ได้อีก

5 ม.ค. 2023
ทำไม ราคาหมู ไก่ อาจแพงกว่านี้ ได้อีก /โดย ลงทุนแมน
หลายคนคงเห็นราคาเนื้อหมู และเนื้อไก่ในปัจจุบัน เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
แต่รู้ไหมว่าต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ที่กำลังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ได้สะท้อนเข้าไปในราคาเนื้อสัตว์มากนัก
แล้วเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จากข้อมูลผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทย ในแต่ละปีนั้น
อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศ มีความต้องการใช้อาหารสัตว์ราว 20 ล้านตันต่อปี
หากแบ่งตามประเภทของสัตว์ ก็จะได้เป็น
- ฟาร์มไก่ 55%
- ฟาร์มหมู 23%
- ฟาร์มวัว 9%
- ฟาร์มอื่น ๆ เช่น เป็ด ปลา หรือกุ้ง 13%
โดยวัตถุดิบของอาหารสัตว์ ก็จะมาจาก
- เศษเหลือจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น กากถั่วเหลือง รำข้าว ปลายข้าว ปลาป่น

- และผลผลิตทางการเกษตรโดยตรง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือมันเส้น ที่ได้มาจากการแปรรูปมันสำปะหลัง อีกทอดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้วัตถุดิบเหล่านี้จะสามารถผลิตได้เองในประเทศไทย แต่เราก็ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากถึง 60%
หากลองไปดู การนำเข้าเศษเหลือจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำมาทำอาหารเลี้ยงสัตว์ ในหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2562 ปริมาณการนำเข้า 5,481,281 ตัน
คิดเป็นมูลค่า 71,061 ล้านบาท
ปี 2563 ปริมาณการนำเข้า 4,848,625 ตัน
คิดเป็นมูลค่า 63,758 ล้านบาท
ปี 2564 ปริมาณการนำเข้า 4,618,670 ตัน
คิดเป็นมูลค่า 80,967 ล้านบาท
11 เดือนแรกของปี 2565 ปริมาณการนำเข้า 3,958,330 ตัน
คิดเป็นมูลค่า 86,876 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า แนวโน้มปริมาณการนำเข้าลดลง แต่มูลค่ากลับสูงขึ้น แล้วมันเกิดอะไรกับราคาวัตถุดิบเหล่านี้ ?
เรื่องแรกเลย คือ “ผลผลิตจากต่างประเทศลดลง”
รู้ไหมว่าตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเกิดขึ้นมา ข้าวโพดและถั่วเหลือง มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยทั้ง 2 ประเทศนี้ ก็ถือเป็นผู้ผลิตธัญพืชสำคัญของโลก ทั้งการผลิตและการส่งออก
นอกจากนี้ ยังเกิดภัยแล้งขึ้นในประเทศผู้ส่งออกหลัก จากการเปลี่ยนแปลงของภาวะโลกร้อน เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล
ส่งผลให้ ผลผลิตที่ได้ลดลงไปอย่างมาก เราจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประกอบกับ การที่จีนเริ่มกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง
ทำให้ความต้องการธัญพืชเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ราคาวัตถุดิบเหล่านี้สูงขึ้นอีกด้วย
อีกเรื่องหนึ่ง คือ “ผลผลิตในประเทศลดลง”
โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ที่มีราคาดีกว่า
ซึ่งพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เพราะไม่สามารถปลูกในพื้นที่ป่าได้อย่างที่เคยเป็นมา
รวมไปถึงการปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่ ก็อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ จึงได้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างน้อย
และแม้ว่าเกษตรกรจะหันไปปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ซึ่งผลผลิตที่ได้ออกมา สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น มันเส้น กลับมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก ตามความต้องการของตลาดโลกที่สูงขึ้น
กลายเป็นว่า ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการผลิตเป็นอาหารสัตว์ และต้องหันไปพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากนั่นเอง
ลองไปดูต้นทุนอาหารสัตว์ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น เพิ่มขึ้นมา 25 ถึง 30% ในขณะที่ราคาขายเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเพียง 13 ถึง 15%
จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกันแล้ว ราคาต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า
เท่ากับว่าคนที่แบกรับต้นทุนนี้ไว้ก็คือ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่ต้องเจอกับปัญหาราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น
โดยภาครัฐเอง ก็มีความพยายามควบคุมไม่ให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ขึ้นราคามาโดยตลอด เพราะอาจกระทบต่อต้นทุนอาหาร เช่น หมูหรือไก่ ที่สูงขึ้นได้
แต่การควบคุมราคาก็อาจจะใช้ได้เพียงชั่วคราว เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่แพงขึ้นไว้ไม่ไหวจนธุรกิจไปต่อไม่ได้
ท้ายที่สุดต้นทุนเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อมาหาเราที่เป็นผู้บริโภค ที่จะต้องจ่ายค่าหมู ค่าไก่ แพงขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://impexp.oae.go.th/service/import.php?S_YEAR=2562&E_YEAR=2565&PRODUCT_GROUP=5396&PRODUCT_ID=&wf_search=&WF_SEARCH=Y
-https://www.fisheries.go.th/strategy-tradestat/index.php?option=com_goods&view=imports&layout=search&Itemid=140&option=com_goods&view=imports&layout=search&Itemid=140
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=HarmonizeCommodity&Lang=Th&ImExType=1&Option=5&hscode=23
-https://www.thaifeedmill.com/wp-content/uploads/2020/12/
-https://www.oae.go.th/assets/portals/1/files/jounal/2565/trade2564.pdf
-https://www.thaifeedmill.com/price-2/
-https://kasettumkin.com/agribusiness/article_78194
-http://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_ppi/Ppi.pdf
-https://www.oae.go.th/assets/portals/1/files/jounal/2565/231225652566.pdf
-https://tradingeconomics.com/commodity/corn
-https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/550679
-https://www.thansettakij.com/business/548625
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.