รู้จัก ทฤษฎีสองสูง แนวคิดการขึ้นค่าแรง ของเจ้าสัว CP

รู้จัก ทฤษฎีสองสูง แนวคิดการขึ้นค่าแรง ของเจ้าสัว CP

17 ม.ค. 2023
รู้จัก ทฤษฎีสองสูง แนวคิดการขึ้นค่าแรง ของเจ้าสัว CP /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงใกล้เลือกตั้งปีนี้ หลายคนคงได้เห็นนโยบายเพิ่มค่าแรง ที่หลายพรรคการเมืองประกาศออกมา
แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าสัวธนินท์ แห่งเครือ CP เอง ก็เคยออกมานำเสนอแนวคิด ที่เกี่ยวข้องกับค่าแรง
โดยแนวคิดดังกล่าว มีชื่อว่า “ทฤษฎีสองสูง”
แล้วทฤษฎีสองสูง หน้าตาเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ทฤษฎีสองสูง เป็นแนวคิดที่เสนอโดย นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อครั้งไปบรรยาย ที่งานสัมมนาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ในปี 2008 หรือเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน
โดยทฤษฎีนี้มีเป้าหมาย เพื่อกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรให้มากขึ้น ซึ่งเจ้าสัวธนินท์มองว่า ในอดีตรัฐบาลโฟกัสกับค่าแรงของผู้ใช้แรงงาน มากกว่ากลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีอยู่ถึง 12 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมดเกือบ 36 ล้านคนทั่วประเทศ
ทำให้รัฐบาลหลาย ๆ ชุด มักแก้ปัญหาปากท้อง และค่าครองชีพ โดยการกดราคาสินค้าให้ต่ำลง แทนที่จะเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น
ซึ่งทฤษฎีนี้ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 อย่าง คือ
- เพิ่มราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น
- เพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น
โดยแนวคิดนี้เป็นการมองสินค้าเกษตร ที่ผลิตในประเทศ เป็นเหมือนทรัพย์สมบัติของชาติ คล้าย ๆ กับน้ำมัน ของประเทศในแถบตะวันออกกลาง ที่ต้องขายให้ได้ราคาสูง
รวมถึงไม่ปล่อยให้สินค้าจากต่างประเทศ ที่มีราคาถูกกว่า เข้ามาตีตลาดได้ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา ของสินค้าเกษตรในประเทศ
การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และดึงดูดให้เกษตรกรหันมาพัฒนาคุณภาพของสินค้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
แล้วถ้าหากสินค้ามีราคาสูงขึ้น จะทำอย่างไรเพื่อให้สินค้ายังคงขายได้ ?
คำถามนี้จึงนำมาสู่แนวคิดข้อที่ 2 คือการเพิ่มค่าแรงของแรงงานในระบบให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถซื้อสินค้า ที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นได้
เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ผู้ประกอบการ ต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเลิกจ้างได้
ภาครัฐเอง จึงต้องมีมาตรการมารองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มฝีมือแรงงาน เพื่อชดเชยกับค่าแรงที่สูงขึ้น
แต่การปรับใช้ทฤษฎีนี้ ก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน เพราะราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ความต้องการสินค้าลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสินค้านั้น ๆ สามารถถูกทดแทนได้ด้วยสินค้าอื่นที่มีราคาถูกกว่า
ภาครัฐจึงควรสนับสนุน ให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพของสินค้า ให้เหนือกว่าคู่แข่งและสอดคล้องกับราคาที่เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดไว้ได้
และในส่วนของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ถ้าหากประสิทธิภาพในการทำงานยังคงเท่าเดิม อาจทำให้ผู้ประกอบการ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิต ออกไปจากประเทศได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น หากนำแนวคิดนี้ไปดำเนินนโยบาย เรื่องที่ยากจริง ๆ คงไม่ใช่การเพิ่มราคาสินค้าเกษตรหรือค่าจ้างของแรงงาน
แต่ความยากคือ การควบคุมคุณภาพของสินค้าและแรงงานในตลาด ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นนั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.youtube.com/watch?v=QqghaREMGS4
-https://www.youtube.com/watch?v=1P88j3cIzWU
-https://www.oknation.net/post/detail/634f91c17cd5b2e52da5872b
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.