รู้จัก UFC รายการ ที่ให้คนมาต่อสู้กัน มูลค่า 100,000 ล้าน

รู้จัก UFC รายการ ที่ให้คนมาต่อสู้กัน มูลค่า 100,000 ล้าน

22 ม.ค. 2023
รู้จัก UFC รายการ ที่ให้คนมาต่อสู้กัน มูลค่า 100,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก “UFC” หรือ Ultimate Fighting Championship ก็น่าจะเป็นรายการแข่งขัน ที่หลายคนนึกถึง
รู้ไหมว่าครั้งหนึ่ง UFC เคยเกือบล้มละลายเพราะถูกแบนจากเนื้อหาที่รุนแรงเกินไป
แต่ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขกฎกติกาต่าง ๆ ให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถขยายฐานตลาดไปทั่วโลก
จนล่าสุด UFC มีมูลค่าทะลุ 100,000 ล้านบาทไปแล้ว
แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ UFC มีความเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
UFC เป็นรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ แบบ Mixed Martial Arts หรือ MMA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1993 หรือราว 30 ปีที่แล้ว
บริษัท Semaphore Entertainment Group หรือผู้จัด UFC จัดรายการการแข่งขันนี้ขึ้น เพราะมีวัตถุประสงค์เพียงแค่ต้องการหาว่าศิลปะการต่อสู้ประเภทต่าง ๆ เช่น มวย, เทควันโด, คาราเต้, มวยปล้ำ ศาสตร์ไหนจะมีความแข็งแกร่งมากกว่ากัน
แต่ในช่วงนั้น การแข่งขันยังไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจนและปลอดภัยเท่าไรนัก จึงทำให้หลายรัฐมองว่ามีเนื้อหารุนแรงเกินไป และสั่งแบน UFC ไม่ให้จัดการแข่งขันขึ้น
ส่งผลให้ บริษัทมีรายได้ลดลง และประสบปัญหาทางการเงินจนเกือบล้มละลาย จนต้องหาคนมาซื้อกิจการต่อ
ซึ่งในปี 2001 คุณ Dana White ซึ่งเป็นผู้จัดการนักกีฬา MMA ได้ชักชวนเพื่อนอย่างคุณ Frank Fertitta และคุณ Lorenzo Fertitta พี่น้องเจ้าของธุรกิจโรงแรมและกาสิโน ร่วมกันก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า Zuffa เพื่อเข้ามาซื้อ UFC ไปในราคาเพียง 65 ล้านบาท
ในเวลาต่อมา คุณ Dana White ถูกแต่งตั้งเป็นประธานสมาคม UFC
ซึ่งเขาคนนี้เอง ที่ได้เป็นผู้ผลักดันการกำหนดกติกาต่าง ๆ จนกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะกีฬาชนิดหนึ่ง บริษัทจึงสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างเม็ดเงินจากการเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด กับช่อง FOX Sports ได้สำเร็จในปี 2002
พอธุรกิจกลับมามีความมั่นคงแล้ว ต่อมา UFC ก็ได้วางแผนขยายฐานตลาดให้คนติดตามรับชมมากขึ้น
โดยเพิ่มความหลากหลายของตัวนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็น
- เพิ่มระดับการแข่งขัน 12 รุ่น แบ่งเป็น ฝ่ายชาย 8 รุ่น และฝ่ายหญิง 4 รุ่น
- เซ็นสัญญากับนักกีฬาจากหลายชาติ ซึ่งล่าสุด มีนักกีฬาราว 620 คน จาก 70 ประเทศ
ส่งผลให้มีผู้ติดตามรายการแข่งขัน UFC เพิ่มขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชียร์นักกีฬาจากชาติตัวเอง
อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไป ก็มีซูเปอร์สตาร์แจ้งเกิดในวงการมากมาย เช่น คุณ Conor McGregor, คุณ Khabib Nurmagomedov, คุณ Ronda Rousey ซึ่งการต่อสู้กันระหว่างนักกีฬาชื่อดังเหล่านั้น ก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับ UFC
และเสน่ห์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ UFC คือ เราไม่สามารถคาดเดาผลการแข่งขันได้ 100%
เพราะถึงแม้ฝีมือชื่อชั้นแตกต่างกัน แต่ถ้าทำพลาดเพียงครั้งเดียว ก็มีโอกาสพลิกล็อกได้เสมอ
ด้วยเหตุนี้ UFC จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จัดการแข่งขันมาแล้ว 631 ครั้ง ใน 165 เมือง จาก 29 ประเทศ และมีการประเมินว่ามีจำนวนผู้ติดตามรายการสูงถึง 625 ล้านรายทั่วโลก
นอกจากนั้น UFC ยังใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการโปรโมตรายการ ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนดูเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มติดตามรายการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนผู้ชม UFC นั้น มีอายุระหว่าง 18-34 ปี มากถึง 43%
จากชื่อเสียงอันโด่งดัง ก็ทำให้ในปี 2016 บริษัทโฮลดิงด้านอุตสาหกรรมบันเทิงชื่อว่า Endeavor ได้ตัดสินใจขอเข้าซื้อกิจการ UFC ไปในราคา 133,000 ล้านบาท
เท่ากับว่า นับตั้งแต่คุณ Dana White เข้ามาบริหารงานเป็นเวลา 15 ปี มูลค่าของ UFC ได้เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 เท่า เลยทีเดียว
ทีนี้ เรามาลองดูผลการดำเนินงานล่าสุดของ UFC กันบ้าง ?
ปี 2019 รายได้ 29,000 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 30,000 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 31,000 ล้านบาท
แล้ว UFC มีรายได้จากช่องทางไหนบ้าง ?
หากเรามาดูตามสัดส่วนรายได้ ก็จะมาจาก
- ค่าลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา 48.1%
- ค่าสปอนเซอร์ และขายสินค้าต่าง ๆ 19.8%
- ค่าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ 11.7%
- ค่าถ่ายทอดสดแบบ Pay-Per-View 6.3%
- ค่าสมาชิก Subscription รับชมคอนเทนต์ 6.3%
- ค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันในสหรัฐอเมริกา 6.1%
- ค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันในต่างประเทศ 1.6%
ซึ่งจะเห็นได้ว่า UFC มีรายได้หลักเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ค่าลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความนิยมที่สูงขึ้น ทำให้เมื่อปี 2018 สมาคมบรรลุสัญญาการถ่ายทอดสดกับช่องกีฬา ESPN มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งจากรายได้และมูลค่าดีลลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นกว่าในอดีต ก็ทำให้คุณ Dana White กล่าวว่า หากมีการประเมินใหม่ ธุรกิจ UFC อาจมีมูลค่าสูงกว่า 234,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
เมื่อพูดถึง UFC อีกแบรนด์หนึ่งที่หลายคนชอบนำมาเปรียบเทียบ คงหนีไม่พ้น สมาคมมวยปล้ำ “WWE”
ในปี 2021 นั้น WWE มีรายได้อยู่ที่ 37,000 ล้านบาท และบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 218,000 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า หาก UFC มีรายได้และมูลค่าบริษัทตามที่คุณ Dana White ประเมินไว้ ก็จะมีมูลค่าใกล้เคียงกับ WWE ที่ครองความยิ่งใหญ่ในตลาด Sport Entertainment แล้ว
ซึ่งก็เป็นข้อคิดที่น่าสนใจว่า ถ้าเนื้อหารายการของเราน่าดึงดูดและตื่นเต้น มันก็ย่อมมีกลุ่มผู้บริโภคถูกใจ และติดตามชมอย่างเหนียวแน่น
ไม่ว่ารายการนั้น จะเป็นในรูปแบบมวยปล้ำอย่าง WWE ที่เตรียมกันมาก่อน หรือการต่อสู้จริงจังแบบ UFC ที่พลิกผันได้ทุกวินาที ธุรกิจนั้นก็มีโอกาสำเร็จได้ ไม่ต่างกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.tifosy.com/en/insights/how-the-ufc-is-becoming-the-ultimate-fighting-championship-3558
-https://mwwire.com/2021/08/25/why-ufc-is-so-popular-around-the-world/
-https://www.overtimeheroics.net/2022/03/14/why-ufc-so-popular/
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Dana_White
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_UFC_events
-https://www.forbes.com/sites/trentreinsmith/2018/08/21/with-dana-whites-claim-that-the-ufc-is-worth-7-billion-its-time-to-revisit-fighter-pay/?sh=6a67c56644c0
-https://finance.yahoo.com/quote/WWE?p=WWE
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.